ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไวรัส “แลงยา” ที่อาจระบาดแทนโควิด-19 น่ากังวลแค่ไหน ?


Thai PBS Care

6 ก.ค. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
แชร์

ไวรัส “แลงยา” ที่อาจระบาดแทนโควิด-19 น่ากังวลแค่ไหน ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/200

ไวรัส “แลงยา” ที่อาจระบาดแทนโควิด-19 น่ากังวลแค่ไหน ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

บทเรียนจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้หลายประเทศตื่นตัวกับการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ เป็นที่มาการพบเชื้อไวรัส “แลงยา (Langya)” ที่อาจมีการระบาดแทนที่โควิด-19

ไทยพีบีเอส โดยวันใหม่วาไรตี้ สัมภาษณ์พิเศษ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้โรคระบาดนี้

“ไวรัสแลงยา” เกิดจากอะไร ?
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า ไวรัสแลงยา พบการระบาดครั้งแรกที่เมืองแลงยา มณฑลซานตง ประเทศจีน จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัส

โดยเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน โดยเริ่มพบตั้งแต่ 2561 ในชาวไร่คนหนึ่งในเมืองแลงยา ซึ่งป่วยด้วยไข้เรื้อรัง จากนั้นแพทย์ตรวจด้วยการสวอบ (Swab) ทางลำคอ หลังจากนั้นก็ทยอยพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อีก 34 คน ทั้งในมณฑลซานตงและเหอหนานของประเทศจีน

เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสนี้ พบรหัสพันธุกรรมคล้ายรหัสพันธุกรรมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก คล้ายหนูมีปากยาวแหลม (Shrews) ก็อาจแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสน้ำลาย อุจจาระ ปัสสาวะ ที่ถ่ายลงไปในพืชผัก เพราะคนติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร

ไวรัสแลงยา มีรหัสพันธุกรรมคล้ายรหัสพันธุกรรมจากหนูที่มีปากยาวแหลม (shrews)

 

สำหรับไวรัสแลงยาอยู่ในกลุ่มไวรัส “เฮนนิปา” (Henipa) ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีสมาชิก อาทิ ไวรัสโม่เจียง (Mòjiāng) ไวรัสนิปาห์ (Nipah) และไวรัสเฮนดรา (Hendra) ซึ่ง 3 สมาชิกนี้จะมีอาการระบบทางเดินหายใจก่อน ตามด้วยระบบประสาท สมอง มีการชัก และเสียชีวิต อัตราการตายค่อนข้างสูง ประมาณ 40-70%

แต่สำหรับแลงยายังไม่มีรายงานการเสียชีวิต เนื่องจากไวรัสแลงยาเป็นไวรัสอุบัติใหม่ และยังไม่พบการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

ไวรัสแลงยา มีอาการอย่างไร ?
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า อาการแลงยา มีระยะฟักตัวประมาณ 4-15 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ตับม้ามล้มเหลวในบางราย แต่ยังไม่มีรายการผู้เสียชีวิต เพราะเป็นไวรัสใหม่

แต่หากดูไวรัสโม่เจียง (Mòjiāng) นิปาห์ (Nipah) และเฮนดรา (Hendra) พี่น้องของเขามีอาการมากกว่า ตั้งแต่อาการระบบทางเดินหายใจ ตามด้วยอาการทางสมอง สมองบวม อาเจียน สับสน ชัก โคม่าภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังฟักตัว มีอัตราการตายค่อนข้างสูง 40-70%

“สิ่งที่เขาสนใจกันมากในกรณีไวรัสแลงยา คือมีการค้นพบโปรตีนหนามของไวรัสที่สามารถเกาะกับเซลล์แล้วเข้าไปในเซลล์ได้ จึงกังวลว่าอาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดที่มากขึ้น และมีความคล้ายกับโควิด-19 แต่ก็เป็นข้อโชคดีว่า จะทำให้เราสามารถผลิตวัคซีนหรือยาได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาไวรัสกลุ่มเฮนนิปา”  

ไสรัสแลงยา ภาพจาก Center for Medical Genomics

 

“แพทเทิร์นจะคล้าย ๆ โควิด-19 ที่เมื่อก่อน ผุบๆ โผล่ ๆ เชื้อแพร่ระหว่างสัตว์สู่สัตว์ สัตว์สู่คน และเป็นคนสู่คน ฉะนั้นต้องจับตาให้ดี ที่สำคัญโรคพวกนี้มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง 40-70% อีกอย่างคือ ไม่มียา ไม่มีวัคซีน ไม่มีระเบียบปฏิบัติว่าจะดูแลอย่างไร ไม่มีชุดตรวจ”


รับมืออย่างไรกับไวรัส “แลงยา” ?
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า บทเรียนโควิด-19 ที่มีการติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากนั้น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ลิสต์รายชื่อไวรัส 10 ตัว ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสเฮนนิปา 1 ในนั้นคือ แลงยา ส่วนที่เหลือมี อาทิ โควิด เมอร์ส อีโบลา ซาร์ส ไข้เลือดออกไครเมียคองโก ซิกา ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูง ยังไม่มีวัคซีนและยา และมาตรการต่าง ๆ ที่รัดกุมมารักษา

ไวรัสที่ต้องเฝ้าระวัง ภาพจาก Center for Medical Genomics

“ทุกประเทศถอดบทเรียนโควิด-19 พยายามทำเป็นคู่มือ เพื่อตอบโต้หรือป้องกันโรคอุบัติใหม่ออกมา 12 ข้อ เช่น

  • บุคลากรทางการแพทย์จะต้องอัพเกรดหรืออัปเดตความรู้ เนื่องจากโรคอุบัติใหม่จะเกิดถี่ขึ้น เพราะเรารุกป่า ภาวะโลกร้อน สังคมสูงอายุ การเดินทางด้วยเครื่องบิน และการอยู่หนาแน่นในสังคมเมือง
  • ชุดตรวจ จะต้องผลิตให้ได้ในประเทศ เพิ่มห้องรักษา ICU ความดันลบ และโรงพยาบาลสนาม เพื่อพร้อมรับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต
  • รัฐบาลจะต้องสนับสนุนเงินทุนวิจัย ทั้งวัคซีน ยา สำเร็จรูป การวิจัยโรคจากสัตว์ที่มาสู่คนเป็นอย่างไร
  • คณะกรรมการจริยธรรมที่พิจารณาโครงการวิจัยจะต้องรวดเร็ว จากเมื่อก่อนต้องใช้เวลา 3-4 เดือน ไม่ทันการ แต่ต้องพิจารณาภายในสัปดาห์หรือเดือน 
  • จะต้องทำงานร่วมกับ WHO ถอดรหัสพันธุกรรมถี่ขึ้น เพื่อดูว่ามีการระบาดหรือไม่ ทั้งการถอดพันธุกรรมจากน้ำเสีย ที่จะทำให้พบไวรัสก่อนระบาดสู่คน และจากคนในโรงพยาบาล
  • ต้องให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพต่าง ๆ
  • ต้องลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อลดภาวะโลกร้อน และดูแลสังคมสูงวัย ซึ่งตอนนี้กลุ่มเปราะบางเยอะขึ้น 
  • ต้องเสริมกฎระเบียบตลาดการค้าสัตว์ป่าให้รัดกุมมากขึ้น โดยต้องมีกฎระเบียบควบคุมงานวิจัยในห้องปฏิบัติการที่นำสัตว์ เชื้อโรคจากสัตว์ในห้องแลปไม่ให้หลุดออกไป เพราะกรณีโควิด ยังถกเถียงว่าเชื้อไวรัสมาจากตลาดสด หรือห้องแลป ในอู่ฮั่นกันแน่
  • ต้องเตรียมแผนการ มาตราการต่าง ๆ เช่น กินร้อนช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม ฉีดวัคซีน การปิดโรงเรียน ปิดเมือง หากจำเป็น ซึ่งต้องเตรียมพร้อมสำหรับโรคระบาด” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโรคอุบัติใหม่ใดเข้ามา ปฏิบัติตามหลัก DMH ยังใช้ได้เสมอ คือ

· Distancing เว้นระยะห่างทางสังคม
· Mask Wearing สวมแมสก์
· Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ทั้งน้ำสบู่ และเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 

ที่มา : Nature Communications, Center for Medical Genomics

📖 อ่านเพิ่มเติม :

• รู้จัก ไวรัสพันธุ์ใหม่ "แลงยา" ที่อาจระบาดแทน "โควิด-19"

·  เป็นไข้หน้าฝนอย่าชะล่าใจ เทียบอาการ “โควิด-19 Vs ไข้เลือดออก”

· ปักหมุด จุดฉีดวัคซีนโควิดฟรี เดือน มิ.ย.-ก.ค. 66 ในกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด


 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โควิด-19โควิดแลงยาLangya
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด