สำหรับเด็กอายุ 15-17 ปี นอกจากการไปเรียนที่โรงเรียนแล้ว ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องทำงานหาเงินเพื่อเอาตัวรอด หรือหาเงินไปช่วยเหลือครอบครัวด้วยการเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยว รับจ้าง หรือแม้แต่ขายยาเสพติด
ปี 2563-2565 เด็กเหล่านี้ต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อทำงานหาเงินปีละกว่า 1 แสนคน และมีเด็กอีกกว่า 3,000 คนต่อปี ที่ต้องทำงานในรูปแบบที่เลวร้าย คือ งานที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด งานอันตราย การค้าประเวณี หรือไปจนถึงการใช้แรงงานทาส
การใช้แรงงานเด็กก็ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในปี 2565 ข่าวมูลนิธิคุ้มครองเด็กแห่งหนึ่งใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ประธานมูลนิธิด่าทอเด็กด้วยคำหยาบคาย ทำร้ายร่างกาย รวมถึงใช้แรงงานให้ทำงานในรีสอร์ต ซึ่งเด็ก 55 คนในมูลนิธิทั้งหมดมีอายุไม่ถึง 18 ปี หรือข่าวปัญหาไกด์เด็กบนสะพานมอญ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานหาเงินให้ครอบครัว และถูกหลอกไปใช้แรงงานที่อื่นโดยนักท่องเที่ยว
#ThaiPBS ชวนย้อนดูสถิติสถานการณ์แรงงานเด็กในไทยตั้งแต่ปี 2563-2565 และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เสนอแนะโดยกระทรวงแรงงาน
จากรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยกระทรวงแรงงาน พบว่าเด็กไทยอายุ 15-17 ปีมีจำนวน 2,542,060 คน มีเด็กทำงาน 131,338 คน คิดเป็นร้อยละ 5.2 ของเด็กอายุ 15-17 ปีทั้งหมด ซึ่งเป็นเด็กที่ทำงานและเรียนไปด้วย 16,337 คน คิดเป็นร้อยละ 12.44 และทำงานเพียงอย่างเดียว 115,001 คน คิดเป็นร้อยละ 87.56 ซึ่งจำนวนเด็กที่ทำงานลดลงกว่าปี 64
โดยในส่วนของปี 2564 พบว่าเด็กไทยอายุ 15-17 ปีมีจำนวน 2,515,500 คน มีเด็กทำงาน 165,689 คน คิดเป็นร้อยละ 6.59 ของเด็กอายุ 15-17 ปีทั้งหมด ซึ่งเป็นเด็กที่ทำงานและเรียนไปด้วย 34,342 คน คิดเป็นร้อยละ 20.73 และทำงานเพียงอย่างเดียว 131,347 คน คิดเป็นร้อยละ 79.27
และปี 2563 เด็กไทยอายุ 15-17 ปีมีจำนวน 2,560,633 คน มีเด็กทำงาน 184,648 คน คิดเป็นร้อยละ 7.21 ของเด็กอายุ 15-17 ปีทั้งหมด ซึ่งเป็นเด็กที่ทำงานและเรียนไปด้วย 29,255 คน คิดเป็นร้อยละ 15.84 และทำงานเพียงอย่างเดียว 155,393 คน คิดเป็นร้อยละ 84.16
แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
ในด้านแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปี 2565 มีจำนวนลดลงเป็น 948 คน จากปี 2564 ที่มีจำนวน 3,222 คน และปี 2562 จำนวน 3,188 คน โดยแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ คือ
- รูปแบบ ก. ทุกรูปแบบของการใช้ทาส หรือแนวปฏิบัติที่คล้ายกับการใช้ทาส เช่น การขายและการขนส่งเด็ก แรงงานขัดหนี้ แรงงานไพร่ติดดิน แรงงานบังคับหรือเรียกเกณฑ์ ซึ่งรวมถึงการบังคับหรือเรียกเกณฑ์เด็กเพื่อใช้ในการสู้รบ
- รูปแบบ ข. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี เพื่อการผลิตสื่อลามก หรือเพื่อการแสดงลามก
- รูปแบบ ค. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเพื่อการผลิตและขนส่งยาเสพติดตามที่นิยามไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
- รูปแบบ ง. งานซึ่งโดยลักษณะของงาน หรือโดยสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็ก
แรงงานเด็กเข้าสู่วงจรยาเสพติดเพิ่มขึ้น
แม้ปี 2565 จำนวนแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในงานที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลงจะเป็น 860 คน หรือร้อยละ 90.72 จากปี 2564 ที่มีจำนวน 3,157 คน หรือร้อยละ 97.98 ส่วนปี 2563 มีจำนวน 3,070 คน หรือร้อยละ 96.30 สถิติแรงงานเด็กที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ยังเป็นสัดส่วนที่สูงอยู่ รวมถึงสัดส่วนของประเภทคดีที่เด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดี คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีถึงร้อยละ 48.63 จากคดีทั้งหมด
“เมื่อเด็ก (ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์) หรือเยาวชน (เกิน 15 ปีบริบูรณ์แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์) ถูกจับและดำเนินคดีอาญาจะไม่มีโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิต ถ้าหากมีการกำหนดโทษดังกล่าวไว้ในความผิดนั้น ๆ ให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี คือโทษสูงสุด บางคนก็ใช้ส่วนนี้เป็นเครื่องมือ ใช้เด็กทำผิดเพราะรู้ว่าโทษไม่ถึงตายและไม่ถึงชีวิต”
พ.ต.อ.ชวลิต มั่นศิลป์ รองประธานชมรมทนายตำรวจเพื่อประชาชนให้สัมภาษณ์ในรายการกฎหมายน่ารู้: ยาเสพติดกับเยาวชน ของสถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64
จากรายงานผลการวิเคราะห์การดำเนินงานตามนโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดปีงบประมาณ 2564-2565 พบว่าไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น การสนับสนุนด้านการศึกษาและจัดหาสวัสดิการให้กับเด็กและครอบครัวที่เปราะบาง เป็นต้น แต่ยังพบปัญหาอยู่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเฝ้าระวังยากมากขึ้น และไม่สามารถลงพื้นที่ตรวจตราได้เต็มที่ รวมถึงสถานการณ์การระบาดยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศทำให้เด็กที่ได้รับผลกระทบต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ควรแก้ไขอย่างไรดี

กระทรวงแรงงานได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไข ดังนี้
1. พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไทยยังขาดข้อมูลตัวเลขเชิงสถิติและข้อมูลการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ครบถ้วนและถูกต้องจึงควรมีการดำเนินโครงการสำรวจสภาวการณ์ทำงานของเด็กในภาพรวมของประเทศโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวิเคราะห์ หาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. พัฒนากฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ เช่น กำหนดอายุขั้นต่ำให้ทำงานได้ หรือปรับปรุงประเภทงานที่เป็นอันตรายต่อเด็ก เป็นต้น
3. พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เช่น ด้านการคุ้มครอง การช่วยเหลือดูแลเด็ก การฟื้นฟู แนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มช่องทางการร้องเรียนและการตรวจบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่สุ่มเสี่ยงและพื้นที่ห่างไกล
4. จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็ก ให้สังคมเกิดความตื่นตัวและเข้าใจปัญหา รวมถึงให้ความรู้กับเด็กเรื่องสิทธิประโยชน์จากการทำงานเพื่อเป็นเครื่องมือไม่ให้เด็กเป็นเหยื่อการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
5. ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กจากภัยในรูปแบบออนไลน์ เช่น การหลอกลวงให้ขายยาเสพติด การเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำงานในเชิงบูรณาการเพื่อส่งเสริมและป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์
ใครคือคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และนำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปีหรือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการ และมี รศ. ดร.สายสุรี จุติกุล เป็นที่ปรึกษา
จากสถิติสถานการณ์แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายปี 2563-2565 จะเห็นว่าจำนวนแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราคงได้แต่หวังว่ารัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่สะสมและค้างคามานานให้ดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้
อ้างอิง รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 โดยกองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน, สถิติคดีอาญา โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74-75
📌 ชวนติดตามชมละคร "Junk Mail จดหมายที่ไม่ถูกเปิด" ตอน จดหมายจากครูอาร์ต
สะท้อนแง่มุมเยาวชนที่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมอันตราย สุ่มเสี่ยงจะเข้าไปสู่วังวนของยาเสพติด คลิก
▶️ https://www.thaipbs.or.th/program/JunkMail/episodes/89193
และมาร่วมระดมความเห็น ออกแบบนโยบายสู่ภาคสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้ที่เว็บไซต์
🌐 http://www.thaipbs.or.th/InEquality