ถามว่า ของกินอะไร ที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน ? เชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมี “ไอศกรีม” หรือ “ไอติม” อยู่ในใจใครหลายคน โดยเฉพาะเมื่อไรที่อากาศร้อนทะลุองศาเดือด ของหวานแช่แข็งรูปทรงแท่งเหล่านี้ คือตัวช่วยดับร้อน จนกลายเป็นของกินแรก ๆ ที่ผู้คนมักจะนึกถึง
Thai PBS ชวนก้าวเข้าสู่โลกแห่งไอศกรีม ที่นอกเหนือไปจากความหวาน หอม และอร่อยมาก ๆ แล้ว ไอศกรีมยังมีเรื่องอะไรที่น่ารู้อีกบ้าง ตามไปอ่านกัน
รู้ความหมายที่มาของ “ไอศกรีม”
ไอศกรีม มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า ice-cream ที่มีความหมายถึง ของหวานแช่แข็งชนิดหนึ่ง ที่ทำด้วยครีม นม น้ำตาล แล้วปั่นให้ข้นในอุณหภูมิต่ำ โดยอาจเติมรส สี และกลิ่นต่าง ๆ เข้าไปเพิ่มเติม
คำว่า ไอศกรีม ในภาษาไทย เป็นคำทับศัพท์จาก ice cream ในภาษาอังกฤษ ตามหลักการสะกดของราชบัณฑิตยสภา ต้องสะกดว่า ไอซ์ครีม แต่คนไทยนิยมเขียนในรูปคำว่า ไอศกรีม มาตั้งแต่อดีต จึงไดรับการยกเว้น ให้ใช้ว่า ไอศกรีม มาโดยตลอด
วิวัฒนาการของ “ไอศกรีม”
การถือกำเนิดขึ้นของไอศกรีม มีข้อมูลที่มาอันค่อนข้างหลากหลาย เคยมีข้อมูลว่า ในช่วงศตวรรษที่ 1 ยุคสมัยจักรพรรดิเนโร แห่งอาณาจักรโรมัน พระองค์พระราชทานเลี้ยงของหวานแก่ทหารในกองทัพ โดยลักษณะของของหวานนั้น ทำจากหิมะ และถูกนำมาผสมกับน้ำผึ้งและผลไม้ ซึ่งต่อมา มีลักษณะใกล้เคียงกับ “เชอร์เบท” ในยุคปัจจุบัน
ข้ามมาอีกด้านหนึ่งของโลกอย่างในประเทศจีน บรรพบุรุษของชาวจีนนิยมนำนมไปเก็บไว้ในหิมะ เพื่อยืดเวลาไม่ให้นมบูดเสีย ปรากฏว่า นมเหล่านั้นกลายเป็นน้ำแข็ง จนพัฒนากลายเป็นไอศกรีม
และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ที่ประเทศอินเดีย จักรพรรดิอักบัร แห่ราชวงศ์โมกุล ได้คิดค้น Kulfi หรือ ไอศกรีมแท่ง โดยมีกรรมวิธีการทำคือ นำน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัย มาผสมกับนมสดที่เคี้ยวจนข้น พร้อมกับใส่น้ำตาล และเติมกลิ่นต่าง ๆ ลงไป จนกลายเป็น Kulfi หรือไอศกรีมแท่ง ที่หาทานได้เฉพาะในชนชั้นสูงในอินเดียในยุคนั้น
อีกหนึ่งตำนานที่มาไอศกรีม เล่าขานกันว่า เกิดจากการที่ มาร์โก โปโล นักสำรวจชาวเมืองเวนิส อิตาลี ได้เดินทางกลับมาจากเมืองจีน พร้อมกับนำสูตรการผลิตไอศกรีมที่ได้มา กลับมาพัฒนาต่อ กระทั่งราวปี ค.ศ.1533 ในงานเฉลิมฉลองพระราชพิธีอภิเษกสมรสของแคเทอรีน เดอเมดิซี แห่งเวนิส กับกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 ของฝรั่งเศส มีการเสิร์ฟของหวานกึ่งแช่แข็งที่ทำจากนมข้นหวาน ให้กับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน กลายเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ไอศกรีมเผยแพร่ออกไปให้ผู้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น
กระบวนการทำ “ไอศกรีม” เป็นอย่างไร
แม้ “ไอศกรีม” จะมีประวัติที่มาหลากหลาย ทว่ากระบวนการหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดขนมหวานที่แข็งตัวได้นัน อาศัยหลักการดังนี้
- ต้องมีส่วนผสมสำคัญ คือ นม, สารให้ความหวาน, สารให้ความคงตัว (Stabilizer), สารให้กลิ่นรส (Flavor) และอื่น ๆ เช่น ไข่ สี แป้ง
- กระบวนการต่อมาคือ การถูกนำไป Homogenize หรือทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงเป็นกระบวนการ Pasteurize หรือการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน
- ต่อมาเข้าสู่กระบวนการแช่แข็ง โดยในระหวางทำการแช่แข็ง ส่วนผสมจะถูกนำไปปั่นเพื่อรวมกับอากาศ เพื่อให้เนื้อสัมผัสไอศกรีมมีความเรียบเนียนและมีความนุ่มนวล
รู้จัก ไอศกรีม มีกี่ประเภท ?
หากแบ่งไอศกรีมตามคุณลักษณะ สามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภท คือ
1.ไอศกรีมนม คือ ไอศกรีมที่ทำขึ้นโดยใช้นม และมีมันเนย เป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก และมีธาตุน้ำนม ไม่รวมน้ำนม ไม่รวมมันเนย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 ของน้ำหนัก
2.ไอศกรีมดัดแปลง คือ ไอศกรีมที่ทำขึ้นโดยใช้ไขมันชนิดอื่นแทนมันเนยทั้งหมด หรือใช้แค่เฉพาะบางส่วน หรือเป็นไอศกรีมที่ผลิตโดยไม่ใช้นม แต่ใช้ไขมันชนิดอื่น และมีไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก
3.ไอศกรีมผสม คือ ไอศกรีมนม หรือ ไอศกรีมดัดแปลง ที่มีส่วนผสมอื่น ๆ อยู่ด้วย เช่น ขนุน ทุเรียน มะพร้าว ถั่ว เผือก แม้จะมีส่วนผสมอื่น ๆ แต่การผลิตต้องเป็นไปตามลักษณะมาตรฐานของไอศกรีมนม หรือไอศกรีมผสม
4.ไอศกรีมชนิดเหลว หรือแห้ง หรือผง อธิบายง่าย ๆ คือ เป็นไอศกรีมนม ไอศกรีมดัดแปลง หรือไอศกรีมผสม ที่มีลักษณะเหลว หรือแห้ง หรือเป็นผงนั่นเอง ต้องไม่มีกลิ่นหืน และมีกลิ่นตามลักษณะเฉพาะของไอศกรีมชนิดนั้น ๆ
5.ไอศกรีมหวานเย็น คือ ไอศกรีมที่ทำขึ้นโดยใช้น้ำ และน้ำตาล หรือมีวัตถุดิบอื่น ๆ ที่เป็นอาหารเป็นส่วนผสม รวมทั้งมีวัตถุแต่งสี กลิ่น และรสชาติ
นอกจากนี้ ไอศกรีมยังแบ่งได้ตามชนิดอันเป็นที่นิยม ได้แก่…
1.ไอศกรีมทั่วไป หรือไอศกรีมดั้งเดิมที่มีวัตถุดิบหลัก ๆ อาทิ ครีม น้ำตาล ไข่ หรือมีการผสมรสชาติแปลกใหม่ลงไป
2.ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ หรือบางที่เรียกกันว่า ‘ซอฟต์ครีม’ เป็นไอศกรีมที่มีกรรมวิธีการทำที่ต่างออกไปจากสูตรดั้งเดิม ด้วยการใช้อุณหภูมิที่สูงกว่า เพื่อทำให้ไอศกรีมมีรสสัมผัสเหนียวนุ่มมากขึ้นกว่าปกติ
3.ไอศกรีมโฟรเซนโยเกิร์ต ลักษณะคล้ายกับไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ แต่แตกต่างกันตรงที่โฟรเซนโยเกิร์ต ใช้โยเกิร์ตไขมันต่ำเป็นส่วนประกอบ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ
4.ไอศกรีมซอร์เบต์ เป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมหลักเป็นผลไม้และน้ำตาล โดยนำไปแช่แข็งจนกลายเป็นเกล็ด มีเนื้อคล้ายกับเกล็ดน้ำแข็ง ซอร์เบต์เป็นไอศกรีมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบไอศกรีมรสชาติของผลไม้แบบเข้มข้น
5.ไอศกรีมเจลาโต เป็นไอศกรีมที่มีเนื้อแน่นกว่าไอศกรีมทั่วไป ใช้กรรมวิธีการปั่นที่ทำให้อากาศแทรกอยู่ในเนื้อไอศกรีมได้น้อย และใช้ปริมาณนมน้อยกว่า ทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นกว่าไอศกรีมปกติ และมีปริมาณไขมันน้อยกว่า
จุดกำเนิดประเทศไทยกับไอศกรีม
จุดเริ่มต้นที่คนไทยเริ่มรู้จักไอศกรีม ต้องย้อนเวลากลับไปยังสมัยรัชกาลที่ 4 เมืองไทยยังไม่มีเครื่องทำน้ำแข็ง จึงมีการนำเข้า “น้ำแข็ง” จากประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นของแปลกในยุคดังกล่าวอย่างมาก
จนล่วงเข้าสู่รัชกาลที่ 5 การผลิตน้ำแข็งได้รับการวิวัฒนาการ โดยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ทำให้ชาวสยามได้ทำความรู้จักกับคำว่า “ไอศกรีม” เป็นครั้งแรก ทว่ายังเป็นของที่มีราคาสูง เพราะต้องใช้วัตถุดิบ เช่น นม ครีมจากต่างประเทศ การกินไอศกรีมในเวลานั้น จึงอยู่แค่ในเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น
ต่อมาเมื่อเมืองไทยมีโรงงานทำน้ำแข็ง ชาวบ้านจึงได้เริ่มเรียนรู้การทำไอศกรีมมากขึ้น ซึ่งไอศกรีมในยุคแรก ๆ ของสังคมไทย คือ ไอศกรีมกะทิ มีลักษณะเป็นน้ำแข็งละเอียดใส ๆ มีกลิ่นหอมของกะทิ และดอกนมแมว พร้อมกับโรยด้วยถั่วลิสงคั่ว
ต่อมาจากไอศกรีมลักษณะใส ๆ ได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มข้นของกะทิมากขึ้น รวมทั้งมีการประยุกต์ของที่ใส่โรยหน้าไอศกรีมมากขึ้น เช่น ใส่ขนุน ลอดช่อง เม็ดแมงลัก เข้าไปบนไอศกรีม
ไอศกรีมในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมากขึ้นเป็นลำดับ ในสมัยรัชกาลที่ 7 เริ่มมี “ไอติมหลอด” หรือ “ไอติมแท่ง” โดยใช้น้ำหวานใส่หลอดสังกะสีและเขย่าให้แข็งตัว นำใส่รถเข็นขายไปตามตรอกซอกซอย แถมต่อมายังมีลูกเล่นทางการตลาด หากกินจนเหลือไม้เสียบแล้วพบว่ามีสีแดงอยู่บนไม้ไอศกรีม จะได้กินฟรีอีกหนึ่งแท่ง
นอกจากนี้ยังมีไอศกรีมแท่งที่ทำจากนม หรือเรียกว่าเป็นไอศกรีมโบราณ มีส่วนผสมของนม ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ผู้ขายสามารถตัดแบ่งซอยเป็นแท่งเล็ก ๆ มีจุดเด่นคือ ราคาไม่แพง และมีสีสันน่ากิน
ไอศกรีมยังมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากใส่รถเข็นขาย กลายมาเป็นไอศกรีมที่ตั้งขายตามหน้าร้านค้า หรือเรียกว่าเป็นไอศกรีมห้องเย็น กระทั่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เกิดร้านไอศกรีมขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และทำให้พฤติกรรมคนไทยที่มีต่อไอศกรีมเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
สังคมไทยกับวิวัฒนาการไอศกรีม
หากจะบอกว่า ไอศกรีมในประเทศไทย พัฒนาไปตามไลฟ์สไตล์ของคนไทย คงไม่ผิดนัก ไปดูกันว่า ความผูกพันของคนไทยกับไอศกรีม เกิดขึ้นแบบไหน อย่างไรกันบ้าง
สังคมไทยกับยุคสมัยของ “ไอศกรีมเป็ด”
การขายไอศกรีมในเมืองไทย เริ่มต้นบุกเบิกด้วย “รถเข็น” และไอศกรีมรถเข็นเจ้าแรก ๆ ที่เปิดตลาดในประเทศไทย มีชื่อแบรนด์ว่า “ไอศกรีมตราเป็ด” ยุคแรก ๆ เป็นไอศกรีมรสระกำ รสเฉาก๊วย รสลอดช่อง รสโอเลี้ยง รสถั่วดำ หรือรสข้าวเหนียวแดง มีสัญลักษณ์ที่ชวนจดจำคือ การขายด้วยรถเข็น หรือถีบรถซาเล้งไปตามตรอกซอกซอย เป็นจุดกำเนิดไอศกรีมรถเข็นยี่ห้ออื่น ๆ ในเวลาต่อมา
“ศาลาโฟร์โมสต์” ไอศกรีมของหนุ่มสาวยุค 70 – 80
แม้จะทำความรู้จักไอศกรีมมาหลายปี แต่คำว่า “ร้านไอศกรีม” ยังเป็นสิ่งไกลตัวคนไทยในอดีต กระทั่งการมาของ “ศาลาโฟรโมสต์” แบรนด์ไอศกรีมที่เปิดให้ลูกค้าสามารถนั่งทานกันได้ในร้าน กลายเป็นความนิยมของหนุ่มสาวในยุค 70 – 80 ที่ไม่ต้องนัดเจอกันแค่เฉพาะในร้านอาหาร แต่สามารถมานั่งคุย หรือนัดเดตกันได้ที่ศาลาโฟร์โมสต์ เป็นจุดเปลี่ยนการพบปะสังสรรค์ในรูปแบบใหม่ ๆ ของคนไทย
เปิดมิติใหม่วงการไอศกรีม “ไอศกรีมวอลล์”
จากศาลาโฟร์โมสต์ ที่ทำให้คนไทยรู้จักการนั่งทานไอศกรีมในร้าน จนเกิดแบรนด์ลักษณะเดียวกันตามมาอีกมากมาย เมื่อเข้าสู่ยุค 90 อีกหนึ่งแบรนด์ไอศกรีมที่กลายเป็นระดับตำนานของเมืองไทย นั่นคือ “ไอศกรีมวอลล์” ความโดดเด่นของไอศกรีมยี่ห้อดังกล่าว นอกจากจะมีความหลากหลาย และมีตู้ไอศกรีมที่สวยงามสะดุดตาแล้ว อีกหนึ่งสัญลักษณ์จดจำที่ทำให้คนไทยจำแบรนด์นี้ไม่ลืม นั่นคือ เสียงโฆษณาของไอศกรีมวอลล์ ที่คนขายมักจะตระเวนเปิดไปตามตรอกซอกซอย ผู้คนจดจำได้ดีมาจนถึงวันนี้
“ไอศกรีม Swensen’s” ไอศกรีมที่ตอบโจทย์ความสนใจคนไทย
ไอศกรีมยุคอดีตวัดกันที่ความอร่อย แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ไอศกรีมต้องตอบโจทย์ความสนใจของผู้บริโภคมากขึ้น เป็นที่มาของแบรนด์ไอศกรีม “สเวนเซ่นส์” อีกหนึ่งในร้านไอศกรีมที่ “ครองใจ” คนรักไอศกรีมเมืองไทย ค่าที่มีการคิดค้นสูตรไอศกรีมใหม่ ๆ ที่เรียกความสนใจ อาทิ ไอศกรีมรสผลไม้ประจำฤดูกาล รวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้าอยู่เสมอ
ประเทศอื่น ๆ นิยมไอศกรีมอะไรกันบ้าง ?
ว่ากันว่า รสชาติไอศกรีมที่ครองใจคนไทยมายาวนาน นั่นคือ ไอศกรีมกะทิ แม้จะมีไอศกรีมที่มีรสชาติอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ไอศกรีมกะทิ ถือเป็นไอศกรีมที่หาซื้อได้ง่าย ถูกปากคนไทย จึงยังคงเป็นขวัญใจมหาชนมาตลอด ส่วนในต่างประเทศ ต่างก็มีไอศกรีมอันเป็นที่นิยมเช่นกัน…
ประเทศญี่ปุ่น : ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จัดว่าเป็นไอศกรีมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น แถมยังมีมากมายหลายรสชาติ ทั้งรสดั้งเดิมอย่างนม วานิลลา ช็อกโกแลต ชาเขียว
ประเทศอินเดีย : ไอศกรีมที่นิยมของอินเดีย นั่นคือ คุลฟี (Kulfi) เป็นไอศกรีมดั้งเดิมที่นำนมสดที่ผ่านการเคี่ยวจนข้นมาแช่แข็งจนกลายเป็นไอศกรีม เป็นของหวานที่หากินได้ทั่วไปในอินเดีย
ประทศตุรกี : ไอศกรีมเลื่องชื่อในตุรกี ต้องยกให้ ‘ดอนดูร์มา’ (Dondurma) มีเอกลักษณ์ตรงความเหนียวหนืดจากส่วนผสมของผงกล้วยไม้ป่า และยางไม้ที่กินได้
ประเทศอิตาลี : ต้องยกให้กับ ไอศกรีมเจลาโต เป็นของหวานดับร้อนอันเลื่องชื่อในอิตาลีมาเนิ่นนาน ที่อิตาลีมีร้านขายไอศกรีมเจลาโตแทบจะทุกหัวมุมถนนเลยทีเดียว
ประเทศเม็กซิโก : ที่เม็กซิโกนิยมไอศกรีมที่เรียกว่า Raspado มีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งที่ทำมาจากผลไม้สด ไม่ผ่านการแต่งสีแต่งกลิ่น ให้ความสดชื่นจากรสชาติจากธรรมชาติ
ประเทศอาร์เจนตินา : ไอศกรีมอันเป็นที่นิยมในอาร์เจนตินา เรียกว่า Helado มีเนื้อสัมผัสนุ่มละมุน คล้ายเจลาโตของอิตาลี มีขายแทบทุกที่ในอาร์เจนตินา
ประเทศเยอรมนี : มีไอศกรีมที่ชื่อและหน้าตาออกจะแปลกสักหน่อย ถูกเรียกว่า ไอศกรีม Spaghettieis โดยใช้ไอศกรีมโฮมเมดเนื้อเนียน มาบีบให้เป็นเส้นสปาเกตตี ราดด้วยมิกซ์เบอร์รี ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว เป็นต้นตำรับจากเยอรมนี
เทรนด์ไอศกรีม นับวันยิ่งหวานน้อยลง
ความนิยมการกินไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและพฤติกรรมของผู้คน Thai PBS มีโอกาสพูดคุยกับ พรหล้า ขาวเธียร ผู้เชี่ยวชาญด้านไอศกรีม มองว่า เทรนด์ไอศกรีมในประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการรับประทานไอศกรีมรสหวานน้อยลง
“รสนิยมการกินของคนไทย 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีการรับประทานไอศกรีมที่มีรสหวานน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ไอศกรีม แต่อาจรวมทั้งอาหาร และขนมทุกอย่าง คนไทยนิยมรับประทานรสชาติที่หวานน้อยลง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ"
“อีกเหตุผลหนึ่งคือ น่าจะได้รับเอาวัฒนธรรมไอศกรีมแบบเจลาโต ของอิตาลี ที่มีลักษณะเหนียว หนืด นุ่ม เราจึงมีความคิดที่ว่า ไอศกรีมที่ดี จะต้องเหนียว หนืด และนุ่ม มีการปรับปรุงเนื้อสัมผัสให้หนืดขึ้น”
ในส่วนของเทรนด์ไอศกรีมของโลก พรหล้า บอกว่า ไอศกรีมเพื่อสุขภาพ มีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ไอศกรีมแบบดั้งเดิม กลับมีแนวโน้มที่ลดลง
“ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคไอศกรีมสูงมาก ๆ ประมาณ 10 – 15 เท่าของประเทศไทย แต่ปรากฏว่า การบริโภคไอศกรีมของเขาลดลงในกลุ่มไอศกรีมธรรมดาแบบ Traditional คือแบบหวานมันธรรมดา”
“ขณะเดียวกัน ตลาดที่เติบโตขึ้นคือ ไอศกรีมเพื่อสุขภาพ เช่น ไอศกรีมโยเกิร์ต หรือที่เรียกว่า Frozen Yogurt เป็นลักษณะไอศกรีมที่เข้ามาแทนที่ เพราะมีความมันน้อย แคลอรีน้อยลง และดีต่อสุขภาพมากขึ้น”
พรหล้าเล่าต่อว่า หากมองตลาดไอศกรีมในทวีปยุโรป เทรนด์ไอศกรีมเพื่อสุขภาพยังคงมาแรงเช่นเดียวกัน และมาพร้อมกระแสรักษ์โลก จนเป็นที่มาของลักษณะไอศกรีมอีกชนิดที่กำลังมาแรง นั่นคือ ไอศกรีมแพลนต์เบส (Plant based)
“นอกจากหลายแบรนด์ที่เน้นฉีกแนว มาทำรสชาติแปลกใหม่ เช่น ไอศกรีมรสยาแก้ไอ ยังมีส่วนที่เน้นเรื่องของสุขภาพมากขึ้น หลาย ๆ แบรนด์ มีความพยายามลดน้ำตาลหรือไม่ใส่น้ำตาล ลดไขมัน พร้อมทั้งนำส่วนผสมใยอาหารที่ละลายน้ำได้ หรือที่เรียกว่า Plant based มาเป็นส่วนหนึ่งของไอศกรีม ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ก็ถูกส่งต่อมายังตลาดในเมืองไทยด้วยเช่นกัน”
ที่สุด…เกร็ดน่ารู้ “เรื่องไอศกรีม”
นอกจากความหวาน หอม อร่อย จนครองใจผู้คนทั่วโลก ไอศกรีมยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกมากมาย
- ประเทศที่ได้ชื่อว่า ครองแชมป์การส่งออกไอศกรีมเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย นั่นคือ ประเทศไทย ในช่วงปี 2563 - 2567 ไทยส่งออกไอศกรีมสู่ตลาดโลก เฉลี่ยปีละ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเฉพาะ 2 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค. - ก.พ.) ไทยส่งออกไอศกรีมสู่ตลาดโลกไปแล้วเป็นมูลค่ากว่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ร้านไอศรีมที่มีสาขามากที่สุดในโลก คือร้านที่มีชื่อว่า Mixue ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 21,000 ทั่วโลก
- รสชาติไอศกรีมที่ “นิยมทั่วโลก” ต้องยกให้กับ “ไอศกรีมวานิลลา” เคยมีการสำรวจนักกินไอศกรีมในอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดไอศกรีมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก พบว่า ไอศกรีมวานิลลาได้รับความนิยมมากที่สุด และรวมถึงนักชิมทั่วโลก จุดเด่นของวานิลลาคือ มีรสชาติที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และเข้าถึงผู้คนได้ง่าย ทำให้มียอดขายต่อปีที่สูง เมื่อเทียบกับไอศกรีมรสชาติอื่น ๆ
- กินเนสส์ เวิล์ด เรคคอร์ด เคยบันทึกสถิติ “ไอศกรีมที่แพงที่สุดในโลก” อยู่ที่ร้าน Cellato ในประเทศญี่ปุ่น ไอศกรีมดังกล่าวมีขนาด 130 มล. โดยสนนราคาต่อ 1 ลูก มีมูลค่าถึง 880,000 เยน หรือประมาณ 200,000 บาท ไอศกรีมดังกล่าวทำจากเห็ดทรัฟเฟิลขาว ชีสปาร์มีจาโนเรจจาโน และสาเก
- ประเทศที่ได้รับการบันทึกว่ามีการบริโภคไอศกรีมมากที่สุดในโลก ได้แก่
1. นิวซีแลนด์ ชาวนิวซีแลนด์ 1 คน บริโภคไอศรีมเฉลี่ย 28 ลิตรต่อปี
2. สหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกัน 1 คน บริโภคไอศกรีมเฉลี่ย 26 ลิตรต่อปี
3. ออสเตรเลีย ชาวออสเตรเลีย 1 คน บริโภคไอศกรีมเฉลี่ย 16 ลิตรต่อปี
4. ฟินแลนด์ ชาวฟินแลนด์ 1 คน บริโภคไอศกรีมเฉลี่ย 14 ลิตรต่อปี
5. สวีเดน ชาวสวีเดน 1 คน บริโภคไอศกรีมเฉลี่ย 12 ลิตรต่อปี
“ไอศกรีม” ของหวานที่อยู่ในใจตลอดกาล
แม้จะมีอาหารหวานมากมายหลายชนิดในโลกนี้ แต่ของหวานแช่แข็งที่เรียกว่า ไอศกรีม ไม่เคยหายไปจากความนิยมของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหน ทวีปใด ไอศกรีมยังทำหน้าที่ให้ความอร่อย และความเพลิดเพลินในการกินอยู่เสมอ
เคยมีรายงานการศึกษาเรื่องไอศกรีม พบว่า เหตุที่มนุษย์ชอบกินไอศกรีม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น โดยงานวิจัยระบุว่า โปรตีนและไขมันที่มีมากในไอศกรีม สามารถทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับสารเซโรโทนิน สารกระตุ้นอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ได้ดี
ไอศกรีมไม่ใช่แค่ทำให้มนุษย์เพลิดเพลินไปกับความเย็นที่เอร็ดอร่อย แต่มนุษย์ยังสนุกไปกับการคิดค้นไอศกรีม เพื่อหาความสมดุล ทั้งในแง่ของรสชาติที่แปลกใหม่ และการกินไอศกรีมที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ เราจึงจะได้เห็นไอศกรีมในมิติใหม่ ๆ อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้นี่เอง ไอศรีมจึงไม่มีวันละลายหายไปจากความนึกคิดของผู้คนอย่างแท้จริง
วันนี้ อย่าลืมเปิด “ตู้เย็น” ที่บ้าน หยิบเอาของหวานแช่แข็งมาลิ้มรส กินให้เพลิดเพลิน แต่กินอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีกันด้วย….
อ้างอิง