ราว 50 ปีที่แล้ว สหภาพโซเวียตเคยส่งยานอวกาศลำหนึ่งไปลงจอดบนดาวศุกร์ แต่เคราะห์ร้ายเกิดอุบัติเหตุจนยานลำนี้เดินทางไปไม่ถึงที่หมาย ซึ่งนั้นทำให้มันยังลอยค้างอยู่ในวงโคจรจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อไม่นานมานี้มีการคาดการณ์ว่ามันน่าจะกำลังตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกในช่วงเดือนพฤษภาคม และมีโอกาสเป็นอันตรายกับประชาชนบนพื้นโลกได้
ยาน Kosmos 482 เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นใหม่เพื่อหลบเลี่ยงความอับอายจากความล้มเหลวของภารกิจการสำรวจดาวศุกร์ของสหภาพโซเวียต มันเป็นภารกิจน้องฝาแฝดของยาน Venera 8 มีเป้าหมายในการลงจอดบนพื้นผิวของดาวศุกร์ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 31 มีนาคม 1972 ด้วยจรวด Molniya แต่ทว่าตัวจรวดเกิดข้อผิดพลาดทำให้ไม่สามารถออกนอกวงโคจรของโลกได้ ไม่มีใครทราบว่ายานอวกาศลำดังกล่าวมีสภาพเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่เราพอทราบได้ว่ามันแยกออกเป็นชิ้นส่วน 4 ชิ้น สองชิ้นแรก ตกกลับสู่โลกมาแล้ว แต่ยังมีอีก 2 ชิ้นที่ยังคงค้างเติ่งอยู่ในวงโคจรเหนือศีรษะของเรา ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นส่วนของยานลงจอดกับเครื่องยนต์จรวด
ชิ้นส่วนที่ตกก่อนหน้า มีชิ้นหนึ่งตกลงบนพื้นที่เกษตรรอบเมืองแอชเบอร์ตัน (Ashburton) ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 1972 มีลักษณะแตกเป็นเสี่ยงๆ มาเดินทางมากระแทกพื้นโลก ตกกระจายในรัศมี 16 กิโลเมตร เศษซากเหล่านี้ร้อนจัดจนทำให้พืชเกรียมเป็นรูและทิ้งร่องรอยลึกบนผืนดิน โชคดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ และในปี 1978 ยังมีวัตถุทรงกลมลักษณะคล้ายกันถูกพบใกล้กับไอเฟลตัน (Eiffelton) ประเทศนิวซีแลนด์อีกด้วย
ตามกฎหมายอวกาศ เศษซากอวกาศจะต้องถูกส่งคืนให้กับเจ้าของประเทศเดิม แต่ในครั้งนั้น สหภาพโซเวียตกลับปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับวัตถุนี้ ทำให้สิทธิการครอบครองตกเป็นของเกษตรกรเจ้าของที่ดินผืนนั้น นักวิทยาศาสตร์นิวซีแลนด์ได้ตรวจสอบเศษซากอย่างละเอียด พบร่องรอยการผลิตและการเชื่อมไทเทเนียมขั้นสูงที่ยืนยันได้ว่าเป็นเทคโนโลยีจากโซเวียต และสรุปว่าเศษซากดังกล่าวเป็นถังแรงดันก๊าซที่ใช้ในจรวดนำส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศ และเราคาดว่าน่าจะเป็น Kosmos 482
เศษซากอีกสองชิ้นที่ยังคงโคจรรอบโลกอยู่ที่เราคาดว่าเป็นส่วนของยานลงจอดกับเครื่องยนต์จรวดนั้นถูกคาดการณ์ว่าจะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม 2025 อาจจะเป็นในช่วงวันที่ 9 หรือ 10 พฤษภาคม
มาโก ลังก์บรูก (Marco Langbroek) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟต์ (Delft Technical University) และเพื่อนร่วมงาน ดอมินิก เดิร์กซ์ (Dominic Dirkx) ได้ใช้ซอฟต์แวร์ TUDAT (TU Delft Astrodynamics Toolbox) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สด้านกลศาสตร์การโคจรในการสร้างแบบจำลองการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของ Kosmos 482 มาคำนวณได้ว่า ด้วยมุมเอียงวงโคจร 51.7 องศา จุดตกอาจเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ระหว่างละติจูด 52 องศาเหนือถึง 52 องศาใต้ ลังก์บรูกให้ข้อมูลว่า Kosmos 482 มีร่มชูชีพที่ออกแบบมาเพื่อเจาะชั้นบรรยากาศหนาของดาวศุกร์ แต่แน่นอนว่า หลังจากเวลาผ่านมากว่า 50 ปี เราหวังว่ามันจะไม่สามารถทำงานได้อีกแล้ว และต่อให้ยานรอดพ้นจากการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ มันจะกระแทกพื้นหรือมหาสมุทรด้วยความเร็วประมาณ 145 ไมล์ต่อชั่วโมง (65–70 เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 233 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ตัวยานลงจอดของ Kosmos 482 ได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวศุกร์ มันจึงหนักเกือบ 500 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไปเพื่อให้ยานสามารถมีชีวิตรอดจนถึงพื้นผิวของดาวศุกร์ให้ได้ หมายความว่าถ้ามันตกกลับมายังโลก มันแทบจะรอดจากชั้นบรรยากาศของโลกเราเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อให้ยานอวกาศลำนี้มีขนาดแค่ 1 เมตร แต่น้ำหนักที่มากถึง 500 กิโลกรัม ก็ทำให้มันเป็นอันตรายต่อประชาชนที่อยู่อาศัยตามพื้นที่เสี่ยง ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพื้นที่เสี่ยงในการตกจะอยู่ในบริเวณประเทศอียิปต์ ซีเรีย ตุรกี และอาเซอร์ไบจาน ในช่วงตั้งแต่วันที่ 8-14 พฤษภาคม 2025
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : space
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech