ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่มีพาหะนำโรคเป็นยุงลาย มักพบระบาดในสภาพแวดล้อมที่มียุงชุกชุม เช่น ในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย การมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงมีสภาพอากาศและอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้เกิดแหล่งรังโรค (Reservoir) ที่ยั่งยืนและเกิดการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่องในประชากรยุงเอง เมื่อยุงที่มีเชื้อกัดมนุษย์ ก็จะทำให้เกิดอาการไข้เลือดออก
เชื้อไวรัสไข้เลือดออก (Dengue Virus: DENV) มีพาหะหลัก (Vector) เป็น “ยุงลาย” หรือยุงในจีนัส Aedes หนึ่งในชนิดหลักได้แก่ A. aegypti ตัวเชื้อไวรัสเองนั้นไม่ก่อโรคในยุง แต่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดโรคในมนุษย์ได้ การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อน้ำลายของยุงลายปะปนเข้าไปในกระแสเลือดระหว่างการกัด
ไม่ใช่ยุงลายทุกตัวที่มีเชื้อไข้เลือดออก แต่จะเป็นยุงลายที่กินเลือดของเหยื่อที่ติดเชื้อไข้เลือดออก ทำให้ยุงลายกลายเป็นพาหะนำเชื้อและเมื่อไปกัดเหยื่อคนต่อไป เหยื่อดังกล่าวก็จะได้รับเชื้อไข้เลือดออกไป นอกจากมนุษย์แล้ว วานร (Primates) และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ก็สามารถติดเชื้อไข้เลือดออกหรือทำหน้าที่เป็นแหล่งรังโรค (Reservoir) ได้
เมื่อได้รับเชื้อ ไวรัสไข้เลือดออกมีระยะฝักตัว (Incubation Period) ประมาณ 3 ถึง 14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาระหว่างการรับเชื้อและการแสดงอาการ การดำเนินโรคแบ่งได้ 3 ระยะ คือ ระยะไข้สูง (Febrile) ระยะวิกฤต (Critical) และระยะฟื้นตัว (Recovery)
ในระยะไข้สูง ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส (High-grade Fever) ร่วมกับอาการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ปวดหัว เวียนศีรษะ ผื่นแดง ระยะนี้มักจะกินเวลาประมาณ 2 ถึง 7 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการขาดน้ำร่วมด้วย จึงต้องดูแลการให้น้ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เกล็ดเลือดของผู้ป่วยมักจะลดลงอย่างรวดเร็วในระยะไข้สูง แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต
ผู้ป่วยที่ร่างกายสามารถตอบสนองต่อการติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม จะไม่เข้าสู่ระยะวิกฤตและมักจะฟื้นนตัวภายในหนึ่งสัปดาห์ บ่งชี้โดยสัญญาณ เช่น ไข้ลง ปริมาณเกล็ดเลือดที่สูงขึ้น และสัดส่วนของแอนติบอดีประเภท IgG ต่อ IgM ที่บ่งบอกถึงการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันจะมีค่าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจเข้าสู่ระยะวิกฤต บ่งชี้โดยภาวะดังต่อไปนี้
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรง (Thrombocytopenia)
- ภาวะเลือดข้น (Elevated HCT)
- ภาวะช็อกจากการเสียเลือด (Hypovolemic Shock)
- ภาวะของเหลวในช่องท้อง (Ascites)
- ภาวะน้ำท่วมปอด (Pleural Effusion)
ภาวะดังกล่าวเกิดจากเกล็ดเลือดที่ต่ำจนเข้าขั้นวิกฤต ทำให้ร่างกายปรับสมดุลความสามารถในการควบคุมการซึมผ่านของของเหลวโดยหลอดเลือด (Vascular Permeability) ไม่ได้ จึงเกิดการรั่วของของเหลวภายในระบบไหลเวียนโลหิต (Plasma Leak) ออกมาในช่องระหว่างเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ถุงลม ทำให้เกิดน้ำท่วมปอด เกิดภาวะของเหลวคั่งในช่องท้อง ระบบไหลเวียนโลหิตสูญเสียปริมาตร (Hypovolemic) และเกิดภาวะความดันต่ำ จึงไม่สามารถให้ออกซิเจนกับเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้เพียงพอ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยภาวะช็อกจากการขาดของเหลวและเลือด (Hypovolemic Shock)
สัญญาณสำคัญก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะวิกฤตคือ “ไข้สูงลดลงอย่างรวดเร็ว” ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่คนใกล้ตัวจะต้องคอยหมั่นเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นสัญญาณของโรคไข้เลือดออกรุนแรง ในโรงพยาบาลการเฝ้าระวังมักทำโดยการตรวจเลือดซึ่งจะมีสัญญาณบ่งชี้ก่อนเข้าสู่ระยะวิกฤต เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และภาวะเลือดข้น
เนื่องจากโรคไข้เลือดออกไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง การรักษาหลักคือการประคองอาการ เช่น การให้สารน้ำเพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ การให้สารน้ำทางเส้นเลือดเพื่อชดเชยปริมาตรของเหลว รวมถึงการให้เกล็ดเลือดและพลาสมาในผู้ป่วยวิกฤต
ยาหลายชนิดมีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) และไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ห้ามใช้ยาเหล่านี้เด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกภายในได้
การป้องกันหลัก ๆ คือ การทำลายแหล่งรังโรคและควบคุมประชากรยุง เช่น การทำลายแหล่งอาศัยหรือแหล่งเพาะพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะที่มีน้ำนิ่งท่วมขัง รวมถึงการใช้มุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด
ในปัจจุบัน โรคไข้เลือดออกมีวัคซีนที่ได้รับการรับรองอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน คือ Dengvaxia และ Qdenga ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในประเทศไทย
Dengvaxia เป็นวัคซีนเชื้อเป็น (Attenuated) จะต้องฉีด 3 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือนต่อเข็ม และฉีดได้ในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วเท่านั้น ซึ่งสามารถทราบได้ด้วยการตรวจแอนติบอดีในเลือด ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า Dengvaxia อาจทำให้การติดเชื้อจริงรุนแรงขึ้น หากให้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ตามรายงานในอดีต ซึ่งอาจเกิดจากปรากฏการณ์การเสริมการติดเชื้อโดยแอนติบอดี (Antibody-dependent Enhancement หรือ ADE) ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด
Qdenga เป็นวัคซีนเชื้อเป็นตัวใหม่ ถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลในอดีต ซึ่งได้แยกเชื้อไข้เลือดออก DEN-2 ออกมาจากผู้ป่วยในไทยก่อนที่จะทำให้อ่อนฤทธิ์ (Attenuation) เป็นวัคซีนต้นแบบซึ่งต่อมาถูกพัฒนามาเป็น Qdenga ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเคยติดเชื้อมาก่อนเนื่องจากยังไม่พบหลักฐานการเกิด ADE ฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน
ไข้เลือดออกเป็นเชื้อประจำถิ่นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากติดเชื้อแล้วอาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายใกล้บ้านเสียตั้งแต่ทีแรก เพื่อปกป้องตัวเราและคนที่รักให้ปลอดภัย
เรียบเรียงโดย
โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
Department of Biomedical Sciences
College of Biomedicine
City University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech