ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก ‘EuroPride’ เทศกาลไพรด์ LGBTQ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


Lifestyle

20 พ.ค. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก ‘EuroPride’ เทศกาลไพรด์ LGBTQ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2694

รู้จัก ‘EuroPride’ เทศกาลไพรด์ LGBTQ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เมื่อเดือนมิถุนายนมาถึง หลายประเทศทั่วโลกต่างจัดงานไพรด์ (Pride) เพื่อแสดงความสนับสนุนชุมชน LGBTQ ในยุโรปเอง ก็มีงานไพรด์ระดับภูมิภาคชื่อ ‘EuroPride’ ซึ่งมีความเป็นมาย้อนไปถึงจุดจบสงครามเย็น

EuroPride (ยูโรไพรด์) คือเทศกาลนานาชาติที่เฉลิมฉลองความหลากหลายและรณรงค์สิทธิของชุมชน LGBTQ ในยุโรป แต่ละปี เมืองต่าง ๆ ก็จะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะจัดงานขึ้นในเดือนมิถุนายนเพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศของ Pride Month เว้นแต่เมืองเจ้าภาพจะเปลี่ยนเป็นเดือนอื่นตามความพร้อม

แม้จะฟังดูไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการฉลอง Pride Month ในภูมิภาคอื่น ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ EuroPride โดดเด่นคือ การเลือกเมืองเจ้าภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปของชุมชน LGBTQ ในประเทศนั้น ๆ อีกทั้งจุดเริ่มต้นของ EuroPride ก็คู่ขนานไปกับการพัฒนาแนวคิดหลังสมัยใหม่ (post-modern) ในโลกตะวันตกด้วย

 ผู้ร่วมงาน EuroPride 2011 หน้าโคลอสเซียม กรุงโรม (ภาพจาก: Tiziana Fabi/AFP)

EuroPride และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ LGBTQ ในยุค “รื้อสร้าง”  

ก่อนที่นิยามเรื่องเพศและ LGBTQ จะหลากหลายและเฉพาะเจาะจงตามกลุ่มอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ก็ต้องผ่านการ “รื้อสร้าง” แนวคิดเรื่องเพศ “ชายจริงหญิงแท้ (heterosexual)” มาก่อน ในช่วงทศวรรษที่ 1970 แนวคิดปรัชญาลัทธิหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) ที่นำโดยมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) – ซึ่งเป็น LGBTQ ด้วย – เสนอว่า สรรพสิ่งบนโลกล้วนแล้วแต่ถูกประกอบสร้างกับถูกควบคุมจากสังคม วาทกรรม และการเมือง และเรื่องเพศวิถีก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น 

ต่อมา ช่วงทศวรรษที่ 1990 แนวคิดปรัชญาเกี่ยวกับ LGBTQ ก็เริ่มเบ่งบานควบคู่ไปกับสตรีนิยม โดยเฉพาะ ‘Queer Theory (ทฤษฎีเควียร์)’ เพื่อท้าทายแนวคิดชายจริงหญิงแท้และส่งเสริมการทำความเข้าใจเรื่องเพศวิถีของ LGBTQ “อย่างที่มันเป็น” ซึ่งไม่ใช่ “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” เทเรซา เด เลาเรติส (Teresa de Lauretis) นักเขียนชาวอิตาเลียน ยังเคยกล่าวในปี ค.ศ. 1991 ว่า ควรทำความเข้าใจเพศวิถีของ LGBTQ “ในฐานะรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านวัฒนธรรมรวมตัว (cultural homogenization) และการปะทะกับวาทกรรมกระแสหลัก”

ยิ่งไปกว่านั้น อีฟ เซดจ์วิก (Eve Sedgwick) นักวิชาการสตรีนิยมชาวอเมริกัน ได้เสนอว่า อัตลักษณ์ชายจริงหญิงแท้ (heterosexual identity) นั้นบดบังการมีอยู่ของชุมชน LGBTQ ซ้ำยังกำหนดหน้าตาประวัติศาสตร์กระแสหลักและความสัมพันธ์ระดับต่าง ๆ ในสังคมตะวันตกอีกด้วย ดังนั้น สำหรับเซดจ์วิกแล้ว “ประวัติศาสตร์ของรักร่วมเพศ” ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชนกลุ่มน้อย แต่เป็นประวัติศาสตร์ของ “โลกตะวันตกสมัยใหม่” เสียด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ดี ทฤษฎี Queer Theory เองก็ถูกตั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้โฟกัสถึงปัญหาของการเมืองเรื่อง LGBTQ ในโลกความเป็นจริงเสียเท่าไหร่

พาเหรด EuroPride ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน ปี 1992 (ภาพจาก: European Pride Organisers Association)

ขณะเดียวกัน ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 สงครามเย็นกำลังจะจบลง และสหภาพยุโรป (European Union) ก็กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ กลุ่มผู้จัดงาน ‘London’s Pride’ ในอังกฤษจึงอยากยกระดับงานของตัวเองเพื่ออยู่เคียงข้างชุมชน LGBTQ ตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป – โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย – จึงจัดงาน ‘Euro Pride’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1992 โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 100,000 คน สองปีต่อมา กลุ่มผู้จัดงานไพรด์ตามเมืองยุโรปต่าง ๆ ได้ก่อตั้ง ‘European Pride Organisers Association (EPOA – สมาคมผู้จัดงานเทศกาลไพรด์ยุโรป)’ เพื่อเป็นแกนกลางในการเลือกเมืองเจ้าภาพ EuroPride ของแต่ละปีจนถึงปัจจุบัน

EuroPride กับการเคลื่อนไหวเพื่อ LGBTQ ในยุโรปยุคร่วมสมัย

ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา มีการเวียนจัดงาน EuroPride ในยุโรปเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี 1995 ที่กลุ่มผู้จัดงานประสบปัญหาการเงิน และปี 2020 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19) เมืองที่ได้เป็นเจ้าภาพมากที่สุดนับจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ กรุงลอนดอนและกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่จัด EuroPride ไปเมืองละ 3 ครั้ง และในบางปีนั้น มีผู้ร่วมงานแตะหลัก “ล้านคน” เช่น EuroPride 2000 ที่กรุงโรม (1 ล้านคน) และ EuroPride 2007 ในกรุงมาดริด (ราว 2.5 ล้านคน) จึงกล่าวได้ว่า EuroPride คือเทศกาลไพรด์ LGBTQ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งของโลก

ขบวนพาเหรด EuroPride 1997 ณ กรุงปารีส (ภาพจาก: Joel Saget/AFP)
งาน EuroPride 2007 ณ กรุงมาดริด ซึ่งเป็นงานที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดครั้งหนึ่ง (ภาพจาก: Bru Garcia/AFP)

งาน EuroPride หลายครั้งก็เกิดขึ้นในปีเดียวกับการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศที่จัด ได้แก่ ฝรั่งเศสที่จัดงาน EuroPride ในเมืองมาร์เซย์เมื่อปี 2013, ออสเตรียที่จัดงาน EuroPride ณ กรุงเวียนนาในปี 2019 และล่าสุดกับกรีซที่จัดงาน EuroPride ในเมืองเทสซาโลนิกิเมื่อปี 2024 นอกจากนี้ สเปนได้ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม 2 ปีก่อนงาน EuroPride 2007 จึงอาจพออธิบายได้ถึงจำนวนผู้ร่วมงานที่มากถึง 2.5 ล้านคน และสวีเดนก็รับรองการแต่งงานของ LGBTQ 1 ปีให้หลังจากงาน EuroPride 2008 ณ กรุงสตอกโฮล์ม

คอนเสิร์ต Lady Gaga ในงาน EuroPride 2011 ณ กรุงโรม (ภาพจาก: Tiziana Fabi/AFP)
Lady Gaga ศิลปิน-นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน กำลังขึ้นโชว์บนเวที EuroPride 2011 (ภาพจาก: Alberto Pizzoli/AFP)
งาน EuroPride 2013 ณ เมืองมาร์เซย์ ซึ่งเป็นปีที่ประจวบเหมาะกับการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในฝรั่งเศส (ภาพจาก: Anne-Christine Poujoulat/AFP)
งาน EuroPride 2015 ณ กรุงริกา ลัตเวีย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่ไม่มีพื้นที่เสรีให้ชุมชน LGBTQ มากนัก (ภาพจาก: Ilmars Znotins/AFP)
อีกมุมหนึ่งของงาน EuroPride 2015 ณ กรุงริกา ลัตเวีย (ภาพจาก: Ilmars Znotins/AFP)

ขณะที่สิทธิของ LGBTQ ในหลายประเทศยุโรปจะเท่าเทียมขึ้น และงาน EuroPride ก็ได้รับการตอบรับที่ดี แต่สถานการณ์ของ LGBTQ ในบางประเทศก็ไม่ได้สู้ดีนัก เมื่อปี 2022 งาน EuroPride ณ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ถูกรัฐบาลสั่งห้ามก่อนเทศกาลจะเริ่มเพียงไม่กี่วัน ต่อมา มีการอนุญาตให้จัดขบวนพาเหรดได้บางส่วน อีกทั้งมีกลุ่มประท้วงต่อต้านการจัดงานในครั้งนั้น และในปี 2025 นี้ ฮังการีกลายเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศแรกที่สั่งห้ามการเดินขบวนไพรด์ และเอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากนี้ 6 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้แก่ บัลแกเรีย โครเอเชีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ และสโลวาเกีย ยังห้ามการสมรสเท่าเทียมภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional ban) อีกด้วย

ผู้ร่วมงาน EuroPride 2022 ณ กรุงเบลเกรดกำลังถ่ายรูปเซลฟี (ภาพจาก: Andrej Isakovic/AFP)
เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่เพื่อป้องกันเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วม EuroPride 2022 และกลุ่มอนุรักษนิยมในกรุงเบลเกรด (ภาพจาก: Oliver Bunic/AFP)

แม้จะผ่านมามากกว่า 3 ทศวรรษแล้ว แต่ EuroPride ก็ยังคงมีบทบาทในการผลักดันและยกระดับสิทธิของ LGBTQ ในยุโรป นอกจากกลุ่ม LGBTQ แล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากต่อการจัดงาน EuroPride คือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ตระหนักถึงความเท่าเทียมในมิติต่าง ๆ ตัวผู้เขียนเองเคยมีโอกาสร่วมงาน EuroPride ในปี 2024 ที่เทสซาโลนิกิ และเห็นเครือข่ายนักศึกษาอีราสมุส (Erasmus Student Network) ประจำเมืองช่วยกันจัดงานฯ ขึ้นมาร่วมกับเครือข่าย LGBTQ ต่าง ๆ ถือเป็นการเคลื่อนไหว LGBTQ ที่สำคัญครั้งหนึ่งของกรีซ ที่ยังมีแนวคิดอนุรักษนิยมอยู่ในหมู่คนรุ่นเก่าอยู่ แม้จะเป็นประเทศคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์แห่งแรกที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ตาม 

กลุ่มผู้ร่วมงาน EuroPride 2024 กำลังเดินขบวนเลียบหาด หน้าหอคอยขาว (White Tower) ในเมืองเทสซาโลนิกิ (ภาพจาก: Sakis Mitrolidis/AFP)
ผู้เขียนขณะร่วมเดินพาเหรดในงาน EuroPride 2024 ใกล้กับมหาวิทยาลัย Aristotle University of Thessaloniki
กลุ่ม LGBTQ, นักศึกษา และอาสาสมัครกำลังเคลื่อนขบวนธงไพรด์ ใน EuroPride 2024 ที่เมืองเทสซาโลนิกิ (ภาพจาก: Sakis Mitrolidis/AFP)

ไม่ว่าจะจัดในเมืองเล็กหรือมหานครใด งานไพรด์แต่ละแห่งก็มีความสำคัญและเสน่ห์ของตัวเอง ทั้งยังสะท้อนถึงความเข้มแข็งและความเป็นไปของชุมชน LGBTQ ในเมืองและประเทศนั้น ๆ อีกด้วย

ติดตามเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากเครือ Thai PBS

อ้างอิง

  • Chapter 1: Thirty Years of Queer Theory, Introduction to LGBTQ+ Studies: A Cross-Disciplinary Approach, Milne Library
  • The Conversation, Serbia banning EuroPride 2022 shows hard-won progress for LGBTQ+ rights is under threat
  • EHNE Digital Encyclopedia of European History, Queers in Europe
  • EPOA, EuroPride: thirty years of progress
  • Euro News, EuroPride 2022 in Belgrade: A storm over the rainbow flag
  • ILGA Europe, Banning Pride is a fundamental threat to democracy: Why the EU cannot look away from Hungary
  • Queer Theory: A Critical Analysis of Its Implication in Art Historical Readings, International Journal of
  • Creative and Innovative Research in All Studies, 2(2)

ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now

ผู้เข้าร่วมงาน EuroPride 2011 คนหนึ่งกำลังโบกธงไพรด์หน้าโคลอสเซียม (ภาพจาก: Tiziana Fabi/AFP)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Pride MonthEuroPrideLGBTQ+ความเท่าเทียมเพศหลากหลาย
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าอักษร จุฬาฯ และโปรแกรมปริญญาโททุน EU ด้านวรรณกรรมยุโรปในฝรั่งเศสและกรีซ ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสพหุวัฒนธรรม และเปิดเพลง ABBA ประโลมชีวิตทุกครั้งที่เขียนงาน | porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด