ดาวเทียม GSAT0104 หนึ่งในดาวเทียมชุดแรกของโครงการ Galileo ได้ออกสู่อวกาศเมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นดาวเทียมกลุ่มที่ผลักดันให้ยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบนำทางจากภายนอก และก้าวเข้าสู่ผู้เล่นที่สำคัญอีกผู้เล่นหนึ่งอุตสาหกรรมการนำทางผ่านดาวเทียม ซึ่ง ณ ตอนนี้ ทาง ESA ได้ประกาศปลดประจำการดาวเทียม GSAT0104 ดวงนี้แล้ว
โครงการดาวเทียมนำทาง Galileo แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของระบบนำทางผ่านดาวเทียมของยุโรป เพราะทำให้ยุโรปไม่ต้องพึ่งพาระบบนำทางผ่านดาวเทียม (Satellite Navigation) จากภายนอก ทั้งระบบ GPS ของสหรัฐอเมริกาและระบบ GLONASS ของรัสเซีย รวมถึง BeiDou ของจีน และด้วยการผสานเทคโนโลยีทั้ง GPS รวมกับ Galileo เข้าด้วยกันทำให้เพิ่มความสามารถในการระบบตำแหน่งที่ความแม่นยำสูงกว่าที่เทคโนโลยีเคยได้ออกแบบไว้ จากที่ความคลาดเคลื่อน 10 เมตร เหลือเพียงน้อยกว่า 1 เมตร และยังนำเม็ดเงินจากการใช้งานระบบ Galileo เข้าสู่สหภาพยุโรปอีกด้วย
ดาวเทียม GSAT0104 เป็นดาวเทียมชุดแรกที่เรียกว่า IOV (In-Orbit Validation) ใช้เพื่อการทดสอบระบบทั้งหมดอย่างเต็มรูปแบบซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้งานจริง มีทั้งหมด 4 ดวงในชุดนี้ ประกอบด้วย GSAT0101, 0102, 0103 และ 0104 ซึ่งทั้งหมดถูกปล่อยออกสู่อวกาศในช่วงปี 2011-2012
ตลอดระยะเวลา 12 ปี GSAT0104 ได้ทำหน้าที่ทั้งการทดสอบระบบนำทาง การระบุตำแหน่ง ไปจนถึงภารกิจด้านการค้นหาและกู้ภัย (Search and Rescue) แม้ว่าต่อมาจะพบปัญหาด้านเสาอากาศ L-band ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการให้บริการนำทาง แต่ดาวเทียมดวงนี้ยังคงสามารถส่งสัญญาณได้อย่างเสถียรต่อเนื่องจนถึงปี 2021 ก่อนถูกจัดให้อยู่ในสถานะดาวเทียมสำรอง และเริ่มเข้าสู่กระบวนการปลดระวางในเวลาต่อมา
ล่าสุด องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) ได้ประกาศปลดประจำการ GSAT0104 อย่างเป็นทางการ ถือเป็นดาวเทียมดวงแรกของกลุ่ม Galileo ที่เข้าสู่กระบวนการปลดระวางตามแผนงาน ซึ่ง ESA ได้ดำเนินการตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอวกาศอย่างเข้มงวด โดยมีการปรับวงโคจรของดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร “สุสาน” (Graveyard Orbit) ซึ่งอยู่สูงกว่าวงโคจรปฏิบัติการหลักอย่างน้อย 300 กิโลเมตร เพื่อลดความเสี่ยงในการรบกวนกับวงโคจรของดาวเทียมดวงอื่นในอนาคต
นอกจากนี้ ESA ยังดำเนินการ “Passivation” หรือการระบายพลังงานออกจากดาวเทียมอย่างครบถ้วน ทั้งในส่วนของเชื้อเพลิงและแบตเตอรี่ เพื่อลดโอกาสในการเกิดการระเบิดหรือชิ้นส่วนของดาวเทียมกระเด็นหลุดออกมาจนอาจก่อให้เกิดปรากฏการณ์ปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) ในวงโคจร ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาขยะอวกาศในระยะยาวได้
การปลดประจำการ GSAT0104 ยังถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับการจัดการวงจรชีวิตของดาวเทียมในโครงการ Galileo โดยตรง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินกระบวนการปลดระวางดาวเทียมของโครงการนี้ ภายใต้มาตรการปลดระวางอย่างสมบูรณ์ และจะเป็นต้นแบบสำหรับการปลดดาวเทียมดวงอื่น ๆ ที่กำลังจะหมดอายุในอนาคตอันใกล้
ในภาพรวมของอุตสาหกรรมดาวเทียมนำทาง ปัจจุบันระบบ GPS ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 1978 ได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรไปแล้วมากกว่า 80 ดวง นอกจากนี้ยังมีระบบ GLONASS ของรัสเซีย และระบบ BeiDou ของจีน ซึ่งอุปกรณ์ที่สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมนำทางในปัจจุบันนั้นสามารถที่จะรับสัญญาณจากดาวเทียมมากกว่าหนึ่งระบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบุตำแหน่งให้มีความแม่นยำที่สูงขึ้น รวมไปถึงเมื่อดาวเทียมของเครือข่ายหนึ่งไม่สามารถรับสัญญาณได้ ระบบรับสัญญาณจะเลือกใช้ดาวเทียมอีกระบบหนึ่งที่ยังอยู่เหนือน่านฟ้าอยู่เพื่อใช้ในการระบุตำแหน่งของอุปกรณ์ได้อย่างทันที
ในเร็ว ๆ นี้ทาง ESA มีแผนจะส่งดาวเทียมในเครือข่ายของ Galileo รุ่นถัดไปอย่าง Galileo G2 ขึ้นไปปฏิบัติงานทดแทนดาวเทียมในกลุ่มแรก เพื่อเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่ายระบบนำทาง Galileo ให้ทันสมัยและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech