ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาพถ่าย “ดาวอังคาร” จากยานยูโรปาคลิปเปอร์


Logo Thai PBS
แชร์

ภาพถ่าย “ดาวอังคาร” จากยานยูโรปาคลิปเปอร์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2701

ภาพถ่าย “ดาวอังคาร” จากยานยูโรปาคลิปเปอร์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยานยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Clipper) ได้บินโฉบผ่านดาวอังคารเพื่อเร่งความเร็วไปยังดาวพฤหัสบดีตามแผนที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งระหว่างที่โฉบผ่าน ยานยูโรปาคลิปเปอร์ได้จับภาพของดาวอังคารเพื่อเป็นการซ้อมใหญ่ ประกอบกับการปรับเทียบเครื่องมือวิทยาศาสตร์บนยานก่อนเดินทางไปถึงดวงจันทร์ยูโรปา

ภาพเปรียบเทียบอุณหภูมิพื้นผิวของดาวอังคารจากยานยูโรปาคลิปเปอร์ โดยสีแดงคือจุดที่ร้อนที่สุด ส่วนสีม่วงคือจุดที่มีอุณหภูมิต่ำสุด ภาพจาก NASA

ยานยูโรปาคลิปเปอร์ของ NASA ออกเดินทางจากโลกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 โดยจรวด Falcon Heavy ของ SpaceX ตามแผนการเดินทาง ยานจะบินเฉียดดาวอังคารเพื่อเร่งความเร็วในเดือนมีนาคม 2025 และวกกลับมาเฉียดโลกอีกครั้งในปี 2026 เพื่อเร่งความเร็วให้ไปถึงดาวพฤหัสบดีในปี 2030

เมื่อยานได้เดินทางออกไปสู่ห้วงอวกาศลึกและเฉียดกับดาวอังคาร จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะซ้อมการทำงานของกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายในยาน หนึ่งในนั้นคือ อุปกรณ์ถ่ายภาพตรวจจับความร้อน (Europa Thermal Imaging System หรือ E-THEMIS) ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพในย่านอินฟราเรดตัวเดียวกันกับกล้องบนยาน Mars 2001 Odyssey ที่มีชื่อว่า THEMIS นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะปรับเทียบข้อมูลที่ได้จากกล้องของยูโรปาคลิปเปอร์กับข้อมูลจากยาน Mars 2001 Odyssey ที่อยู่ในวงโคจรของดาวอังคาร

ภาพถ่ายดาวอังคารจากกล้อง E-THEMIS กล้องถ่ายภาพอินฟราเรดบนยานยูโรปาคลิปเปอร์ ซึ่งเป็นกล้องตัวเดียวกับบนยาน Mars 2001 Odyssey ภาพจาก NASA

เส้นทางการบินของยูโรปาคลิปเปอร์นั้นห่างจากผิวของดาวอังคารที่ 889 กิโลเมตร กล้อง E-THEMIS ได้ถ่ายภาพอินฟราเรดของดาวอังคารตลอดเวลา 18 นาทีที่บินโฉบดาวอังคาร ด้วยอัตราเร็ว 1 ภาพต่อวินาที รวมได้มากกว่า 1,000 ภาพ และเริ่มส่งข้อมูลกลับมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาผ่านเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network)

ภาพเปรียบเทียบศักยภาพกล้องถ่ายภาพของ THEMIS ของยาน Mars 2001 Odyssey ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ E-THEMIS ของยูโรปาคลิปเปอร์ เทียบกับศักยภาพของกล้อง TES ของยาน Mars Global Surveyer ซึ่งภาพถ่ายที่จะได้จากยูโรปาคลิปเปอร์

ในระหว่างการบินโฉบผ่านดาวอังคาร ยานยูโรปาคลิปเปอร์ก็ยังได้ทดสอบระบบเรดาร์และระบบทำงานพร้อมกันเป็นครั้งแรก เนื่องจากอุปกรณ์เรดาร์ของยูโรปาคลิปเปอร์มีขนาดที่ใหญ่มาก ไม่สามารถทดสอบระบบทั้งหมดอย่างพร้อมเพรียงกันบนพื้นโลกได้ การทดสอบเหนือดาวอังคารจึงเป็นการทดสอบที่สำคัญมาก

หลังจากการบินโฉบโลกครั้งสุดท้ายของยูโรปาคลิปเปอร์ในปี 2026 มันจะพุ่งทะยานไปถึงดาวพฤหัสบดีในปี 2030 เพื่อสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา ดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวพฤหัสบดี สำรวจตรวจสอบร่องรอยบนพื้นผิว วิเคราะห์องค์ประกอบของชั้นมหาสมุทร และตรวจหาความเป็นไปได้ที่จะพบชีวิตใต้ผืนน้ำแข็งของดวงจันทร์ยูโรปา ผ่านการบินโฉบมากกว่า 40 ครั้งตามโครงการ นับเป็นโครงการตามหาความเป็นไปได้ของชีวิตในระบบสุริยะของเราที่ทะเยอทะยานที่สุดในยุคสมัยของเรา

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยูโรปาคลิปเปอร์ยานยูโรปาคลิปเปอร์Europa Clipperดาวอังคารดวงจันทร์ยูโรปา ดาวพฤหัสดาวพฤหัสบดีดาวพฤหัสฯNASAองค์การนาซานาซาสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด