ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฝึกใจให้เบาด้วยแนวคิด “ปล่อยให้มันเป็นไป” (Let Them Theory)


Lifestyle

THANATCHA SUVIBUY

แชร์

ฝึกใจให้เบาด้วยแนวคิด “ปล่อยให้มันเป็นไป” (Let Them Theory)

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2856

ฝึกใจให้เบาด้วยแนวคิด “ปล่อยให้มันเป็นไป” (Let Them Theory)

 

"ความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งต่าง ๆ เป็นกลไกการเอาตัวรอดของมนุษย์ ที่มีเหตุมาจากความกลัวต่อความไม่แน่นอน บ่อยครั้งการพยายามควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปดั่งใจ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึก คำพูดของคนอื่น หรือแม้กระทั่งอนาคตที่ยังมาไม่ถึง กลับกลายเป็นตัวบ่มเพาะความคิดเชิงลบที่ย้อนทำร้ายทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง"

ทฤษฎีปล่อยเขา The Let Them Theory

เมื่อไม่นานมานี้ ทฤษฎี “ปล่อยให้มันเป็นไป“ หรือ “Let Them Theory” กำลังเป็นแนวคิดการใช้ชีวิตที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียลฯ เมื่อ เมล ร็อบบินส์ (Mel Robbins) นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง ได้โพสต์แบ่งปันแนวคิดดังกล่าวบนอินสตาแกรมส่วนตัวของเธอ ซึ่งปัจจุบันมียอดรับชมไป 35 ล้านครั้ง และยอดกดไลก์กว่า 2 ล้านครั้ง

ทฤษฎีที่ว่านี้ มีต้นกำเนิดมาจากหนังสือที่ชื่อว่า The Let Them Theory: A Life-Changing Tool That Millions of People Can’t Stop Talking About เขียนขึ้นโดย เมล ร็อบบินส์ ร่วมกับซอว์เยอร์ ร็อบบินส์ (Sawyer Robbins) ลูกสาวของเธอ

Mel Robbins (เครดิตภาพ: melrobbins.com)

ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ “การไม่ปล่อยให้การกระทำ ความคิด หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นส่งผลต่อชีวิตของตัวเรา” เมลกล่าวไว้ว่า มันเปรียบเสมือนการก้าวออกจากวัฏจักรที่น่าเหนื่อยล้าทางจิตใจ จากการใช้พลังงานและเวลาที่มีค่าไปจัดการกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

แก่นแท้ของแนวคิด “ปล่อยให้มันเป็นไป” จึงหมายถึงการปล่อยให้ผู้คนทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยที่เราไม่พยายามเข้าไปบงการ หรือควบคุม แต่เลือกที่จะใช้พลังงานและเวลาทั้งหมดโฟกัสไปกับสิ่งที่ควบคุมได้นั่นก็คือ “ชีวิตของเราเอง” ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ อารมณ์ความรู้สึก หรือการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ


The Let Them Theory

เพราะฉะนั้น เมื่อคุณรู้ว่าเพื่อนร่วมงานไม่ชอบคุณ หรือเอาเรื่องของคุณไปพูดลับหลัง แม้ว่าจะรู้สึกขัดอกขัดใจไปบ้าง แต่สิ่งที่คุณทำได้และมีประโยชน์ที่สุด คือการปล่อยให้พวกเขาทำ และไม่นำคำพูดเหล่านั้นมาบั่นทอนใจตัวเอง

เพราะท้ายที่สุด แม้ว่าเราจะพยายามแก้ต่างให้ตัวเองแค่ไหน คำพูด หรือความคิดของคนอื่น ก็เป็นสิ่งที่เราต่างควบคุมไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นการพยายามควบคุมสิ่งที่ควบคุมไม่ได้จะนำมาซึ่งความเครียดและความเหนื่อยล้าโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

ทฤษฎีปล่อยเขา The Let Them Theory

จิตวิทยาแห่งการปล่อยวาง

งานวิจัยจากฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศเกาหลีใต้ (Korean Studies Information Service System) ชี้ให้เห็นว่าคนที่พยายามควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมีแนวโน้มเผชิญกับความเครียดสะสมมากกว่าคนที่ไม่ค่อยควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต

เช่นเดียวกับ Laura Gwilt นักจิตบำบัดประจำศูนย์บริการด้านจิตวิทยาในสหราชอาณาจักร (Swift Psychology Services) ที่ได้กล่าวถึงแนวคิด Let Them ไว้อย่างน่าสนใจว่า ทฤษฎีนี้มีประโยชน์อย่างมากกับคนที่มีลักษณะนิสัยแบบ “เอาใจผู้อื่น” (People-pleaser) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการช่วยให้พวกเขาปกป้องพื้นที่ส่วนตัว และกำหนดขอบเขตของตนเองได้ดีขึ้น

การรู้จักยอมรับและปล่อยวาง ไม่ใช่แนวคิดที่คิดขึ้นมาลอย ๆ แต่มีรากฐานมาจากหลักการทางจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับ หนึ่งในนั้นคือ ทักษะการยอมรับอย่างสุดโต่ง หรือ “Radical Acceptance” แนวคิดด้านจิตบำบัดที่พัฒนาโดย มาร์ชา เอ็ม ลินแฮน (Marsha M. Linehan) ที่ว่าด้วย การรู้จักยอมรับความทรมาน ความไม่พึงปรารถนาทางกายและใจที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ การยอมรับในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “การเห็นด้วย” หรือ “การยอมแพ้” แต่คือการรับรู้ว่า “สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” และเราเลือกที่จะถอยออกมาเพื่อเซฟใจตัวเอง การยอมรับอย่างสุดโต่ง จึงนับเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราก้าวข้ามเหตุการณ์ที่ยากลำบากได้ง่ายมากขึ้น

ทฤษฎีปล่อยเขา The Let Them Theory

ฝึกปล่อยใจตามทฤษฎี Let Them

1. เข้าใจว่าบางครั้งชีวิตก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน
ชีวิตคนเราเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แม้ว่าจะวางแผนชีวิตไว้อย่างดี แทนที่จะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่เราคิดไว้ การรู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ จะช่วยลดความกดดันและความเครียดได้ดีกว่า

2. โฟกัสแค่สิ่งที่ “ควบคุมได้”
ปล่อยวางและยอมรับสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ให้ความสำคัญไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ เช่น ความรู้สึกและการแสดงออกของตัวเรา

3. สร้างขอบเขตของตัวเองให้ชัด
แก่นแท้ของแนวคิด “Let Them” คือการไม่เข้าไปควบคุมสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ความคิด การกระทำของคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการอนุญาตให้ใครบางคนรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคุณ หรือละเมิดสิทธิที่พึงมี

4. ยอมรับตนเองรวมถึงผู้อื่น
อนุญาตให้เราเป็นตัวเรา เช่นเดียวกับอนุญาตให้คนอื่นเป็นตัวของตัวเองได้ จำไว้ว่าเราไม่ได้มีหน้าที่ “แก้ไข” ตัวตนหรือนิสัยของใคร ให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการ

ลองนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ แล้วคุณจะพบว่า การปล่อยวาง นั้นไม่ใช่การยอมแพ้ แต่คือการเปิดพื้นที่ให้หัวใจได้เบาลง และก้าวเดินต่อไปได้อย่างอิสระและมีความหมาย

หากคุณสนใจแนวคิดด้านจิตวิทยา หรือเคล็ดลับการพัฒนาตนเองเพิ่มเติม ติดตามได้จากเนื้อหาเหล่านี้

▪️การปล่อยวาง สร้างสมดุลทางจิตใจ รายการ วาทะ พระ ทอล์ก

▪️รายการ Made My Days วันนี้ดีที่สุด l Thai PBS Podcast

▪️รายการ : ศัลยกรรม...ความสุข l Thai PBS Podcast

อ้างอิง: psychologytoday.com, harpersbazaar.com


คอลัมน์ต่อยอด l เสริมความคิด ต่อยอดความรู้ สื่อสารความเข้าใจ โดย ศูนย์สื่อสารและส่งเสริมการตลาดเพื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส (CCM)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

จิตวิทยาพัฒนาตัวเองสุขภาพจิตการปล่อยวางทฤษฎี Let Them Let Them Theory
THANATCHA SUVIBUY

ผู้เขียน: THANATCHA SUVIBUY

นักเขียนผู้นับถือแมวเป็นศาสนา และมีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด