ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สถานการณ์ EV ในไทย การแข่งขันสูง รถจีนบุกตลาด ไทยพร้อมรองรับหรือไม่?


รอบโลก

InfoFriend

แชร์

สถานการณ์ EV ในไทย การแข่งขันสูง รถจีนบุกตลาด ไทยพร้อมรองรับหรือไม่?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2902

สถานการณ์ EV ในไทย การแข่งขันสูง รถจีนบุกตลาด ไทยพร้อมรองรับหรือไม่?

 

ประเทศไทย คือ หนึ่งในศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์รายใหญ่ในทวีปเอเชียในปัจจุบัน ซึ่งเฉพาะภาคการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) ประเทศไทยได้กลายเป็นตลาดรถ EV ขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในต่างประเทศไปเรียบร้อยแล้ว โดยแบรนด์รถยนต์ EV ต่าง ๆ ของจีนครองส่วนแบ่งตลาดในไทยอยู่ถึงร้อยละ 70

ข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส และเครือข่ายข่าวโทรทัศน์ซีเอ็นเอของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2568 ระบุว่า ภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้นอย่างมากภายในประเทศ พร้อมด้วยศึกตัดราคาขายกันอย่างห้ำหั่นดุเดือด ผลักดันให้ผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ต่าง ๆ ในจีนต่างแห่ย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงราว 3 ปีที่ผ่านมา

นโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริม และสนับสนุนการขยายการผลิต และการใช้รถ EV ในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาโลกร้อน หรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คน สอดรับกับเทรนด์ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศของค่ายผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ต่าง ๆ ของจีน

รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายว่า สัดส่วนการผลิตรถ EV ในประเทศไทยจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 30 ของยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งสิ้นภายในปี 2573 ซึ่งเป็นการพลิกโฉมภาคการผลิตรถยนต์ในประเทศ จากที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากญี่ปุ่น เช่น Toyota และ Honda เคยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดมาเป็นเวลานาน
 

รายงานระบุว่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของเอเชีย อีกทั้งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค ASEAN (Association of Southeast Asian Nations) รองจากอินโดนีเซีย ดึงดูดกลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV จากจีนให้เข้ามาลงทุนได้รวมมูลค่าสูงถึงราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รายงานชี้ด้วยว่า จำนวนบริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ของจีนในไทยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เป็น 18 แบรนด์เมื่อปี 2567 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่แบรนด์รถ BYD เริ่มเปิดโรงงานผลิตในไทยเมื่อเดือน ก.ค. ด้วยเงินทุนราว 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังการผลิตเริ่มแรก 150,000 คัน โดยแบรนด์รถ BYD ได้ครองส่วนแบ่งการตลาดรถ EV สูงสุดในไทยตั้งแต่เริ่มเปิดตัว
 

ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตรถ EV ของภาครัฐในไทยเมื่อปี 2567 บริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV จะได้รับยกเว้นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าช่วงเดือน ก.พ. 2565 ถึงเดือน ธ.ค. 2566 โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทนั้น ๆ ต้องมียอดการผลิตรถ EV ในไทยในปี 2567 เท่ากับรถ EV ที่บริษัทนั้น ๆ นำเข้าจากต่างประเทศในช่วงที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าดังกล่าว

บริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ใด ๆ ที่ไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขของภาครัฐในไทยจะต้องถูกปรับในอัตราสูง ซึ่งผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ต่าง ๆ เร่งการผลิตในไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับหนักตามกฎหมายไทย ส่งผลให้จำนวนรถ EV ที่ผลิตในไทยสูงกว่าจำนวนรถ EV ที่บริษัทนั้น ๆ นำเข้ารวมราว 1.5 เท่า

ผลกระทบต่อเนื่อง ก็คือ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถ EV ในไทยต่างกำลังเผชิญภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้นอย่างมากพร้อมด้วยศึกตัดราคาขายกันอย่างห้ำหั่นดุเดือดเช่นที่เคยประสบในจีน โดยกลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ขนาดเล็กเผชิญภาวะความสุ่มเสี่ยงจากการผันแปรทางธุรกิจที่รุนแรงกว่ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ เช่น แบรนด์ BYD

รายงานระบุว่า บริษัทผู้ผลิตรถ EV แบรนด์ Neta ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถ EV จากจีนที่ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก เมื่อปี 2565 เป็นตัวอย่างหนึ่งของบริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวในขณะนี้ ฉุดยอดขายรถ EV แบรนด์ Neta ร่วงลง พร้อม ๆ กับสภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น
 

กลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ที่ส่วนแบ่งการตลาดเป็นรองแบรนด์ BYD ต่างเสนอให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตรถ EV ของภาครัฐในไทยเมื่อปี 2567 กรณีของบริษัทผู้ผลิตแบรนด์ Neta ได้แจ้งแก่ภาครัฐของไทยว่า บริษัทฯ ไม่อาจผลิตรถ EV ในไทยได้ครบตามเงื่อนไข

ข้อมูลของทางการไทยระบุว่า ยอดขายรถ EV Neta ร่วงลงถึงร้อยละ 48.5 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 นี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 อีกทั้งส่วนแบ่งการตลาดร่วงลงเหลือร้อยละ 4 จากสูงสุดราวร้อยละ 12 เมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นของรถ EV Neta ในไทย ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของรถ EV แบรนด์ BYD สูงถึงร้อยละ 49 เมื่อปี 2566 
 

ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตของไทยระบุว่า กรมฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถ Neta ในไทย 18 แห่งเมื่อเดือน มิ.ย. 2568 ว่า บริษัทผู้ผลิตรถ Neta ยังไม่จ่ายชำระค่ารถ EV ที่กลุ่มธุรกิจของตนขายให้ผู้ซื้อแล้ว เป็นยอดรวมกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งบางรายชี้ว่า ธุรกิจของตนยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนการเปิดโชว์รูม และให้บริการหลังการขายรถ Neta

ท่ามกลางมรสุมทางธุรกิจ บริษัท Zhejiang Hozon New Energy Automobile ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของค่ายผู้ผลิตรถ EV Neta ได้ยื่นหนังสือเสนอเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองธุรกิจล้มละลายต่อรัฐบาลจีนเมื่อเดือน มิ.ย. 2568 ทางด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า กรณีของแบรนด์รถ EV Neta สะท้อนถึงความเปราะบางของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ที่ส่วนแบ่งการตลาดเป็นรอง
 

นักวิเคราะห์ระบุว่า ศึกตัดราคาขายเพื่อดึงดูดลูกค้า และส่วนต่างของสายป่านด้านการเงินของค่ายรถ EV ต่าง ๆ ในไทยเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบรนด์รถ EV ขนาดเล็ก หรือที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นรอง อยู่รอดลำบาก หรือไม่อาจอยู่รอดได้ กอปรกับยอดขายที่ลดลง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจ และฝ่ายอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงในไทย

ถึงแม้แถลงการณ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย หรือ BOI (Board of Investment of Thailand) ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ (5 ก.ค.) ยืนยันว่า ทางการไทยจะยังคงส่งเสริมภาคการผลิตรถ EV ในไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า ภาครัฐของไทยควรทบทวนนโยบายส่งเสริมภาคการผลิตรถ EV โดยใช้ค่ายรถ EV Neta เป็นกรณีศึกษา 

ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าEVรถ EV

ผู้เขียน: InfoFriend

ยินดีนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลทึ่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด