ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“Fast Tech” ปรากฏการณ์ป่วนโลกร้อน


Lifestyle

THANATCHA SUVIBUY

แชร์

“Fast Tech” ปรากฏการณ์ป่วนโลกร้อน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2916

“Fast Tech” ปรากฏการณ์ป่วนโลกร้อน

 

โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว กระแส “Fast Tech” หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใช้แล้วทิ้ง กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว การผลิตที่เน้นตามกระแสและคุณภาพต่ำ ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่รอวันกำจัดทิ้ง

Fast Tech คืออะไร

“Fast Tech” เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

คำว่า “Fast Tech” ปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อ Material Focus องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหราชอาณาจักร ได้รายงานถึงพฤติกรรมการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กราคาถูกที่เพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา

“Fast Tech” จึงหมายถึง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใช้แล้วทิ้ง ที่ผลิตมาด้วยคุณภาพพอใช้งานได้ ราคาถูก เน้นผลิตขึ้นตามกระแส ทำให้สินค้าเหล่านี้ชำรุดง่ายและถูกทิ้งเป็น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างรวดเร็ว

จากผลสำรวจของ Material Focus พบว่า ในปี 2024 เพียง 1 ปี มีการซื้อสินค้า Fast Tech ไปราว 1,140 ล้านชิ้นหรือเท่ากับ 16 ชิ้นทุก 1 วินาที โดยมีมากกว่า 500 ล้านชิ้น กลายสภาพเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ 

และเมื่อสำรวจลึกลงไปถึงประเภทสินค้า พบว่าขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดคือ บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable Vapes) จำนวน 260 ล้านชิ้น, สายชาร์จและสายเคเบิล 26 ล้านชิ้น, สายไฟประดับตกแต่ง (LED) 30 ล้านดวง, พัดลมพกพาขนาดเล็กเกือบ 5 ล้านตัว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง แบตเตอรี่สำรองพกพา (Power bank) ฝารองนั่งชักโครกแบบ LED หรือชุดคาราโอเกะเคลื่อนที่ ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในราคาไม่กี่บาท
Fast Tech มีอะไรบ้าง

เบื้องหลัง Fast Tech ราคาถูก

อ้างอิงจาก สกอตต์ บัตเลอร์ (Scott Butler) ผู้อำนวยการบริหาร Material Focus กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับ Fast Tech คือปริมาณอุปกรณ์ประเภทนี้กำลังล้นตลาดขึ้นเรื่อย ๆ หลายชิ้นผลิตจากวัสดุคุณภาพต่ำ เมื่อชำรุดแล้วทำให้ซ่อมแซมยาก และไม่สามารถรีไซเคิลได้ สุดท้ายจึงกลายสภาพเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นต้นตอของสารพิษและโลหะหนักที่สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต

เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน พบว่าปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในปัญหาขยะมูลฝอยที่โตเร็วที่สุดในโลก โดยจากรายงาน Global E-waste Monitor (GEM) ครั้งที่ 4 ในปี 2024 โดยสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ (UNITR)  ระบุไว้ว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก กำลังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราการรีไซเคิลถึง 5 เท่า

ในปี 2022 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกทิ้งกว่า 62 ล้านตัน หรือเทียบเท่าการนำรถบรรทุกขนาด 40 ตัน จำนวน 1.55 ล้านคัน มาเรียงต่อกันรอบโลก โดยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 22% หรือไม่ถึง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี

ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลนี้มากเพียงพอ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งจากชิ้นส่วนที่ย่อยสลายได้ยาก รวมถึงสารพิษอันตรายและโลหะหนักภายในอุปกรณ์ ซึ่งสามารถปนเปื้อนทั้งในน้ำ ดิน และอากาศ

บัตเลอร์ยังเน้นย้ำอีกว่า สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ คือความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งการคิดก่อนซื้อ การนำกลับมาใช้ซ้ำหากสามารถซ่อมแซมได้ และการทิ้งให้ถูกที่โดยไม่ควรทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมกับขยะทั่วไป

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทิ้งที่ไหน

Fast Tech ซื้อให้น้อย ใช้ให้คุ้ม และนำไปรีไซเคิล  

โจ อายล์ส (Joe Iles) หัวหน้าฝ่ายออกแบบแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จากมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation (EMF) ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหา Fast Tech กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ไว้อย่างน่าสนใจ

เขากล่าวว่า นอกจากการหันมาใช้อุปกรณ์ที่เน้นความทนทาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลได้ เขายังหยิบยกแนวคิดที่อาจเป็นกุญแจที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบอย่าง “สิทธิที่จะซ่อม” (Right to Repair) ซึ่งผู้ผลิตจะเอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงวัสดุหรือชิ้นส่วนอะไหล่ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซ่อมแซมสินค้าเองได้

หรือแนวคิด “การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” หรือ “Extended Producer Responsibility” (EPR) ที่ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนเอง ตลอดทั้งวงจรของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเลือกวัสดุ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือแม้แต่การเก็บรวบรวม หรือรวมถึงการรับคืนผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน เพื่อนำไปสู่การคัดแยกและกำจัดทิ้ง

Fast Tech วิธีรับมือง่าย ๆ กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

  • ลดการซื้อที่ไม่จำเป็น ลดการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สายเคเบิลหรืออุปกรณ์เสริมที่ไม่จำเป็น ก่อนซื้ออาจลองถามตัวเองก่อนว่าสินค้าเหล่านั้นจำเป็นกับเราจริง ๆ หรือไม่
  • เลือกซื้ออุปกรณ์ที่ทนทานสามารถซ่อมแซมได้ เลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถซ่อมแซมได้ง่าย วิธีนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานในระยะยาวได้ 
  • พยายามซ่อมแซมแทนการทิ้ง หากอุปกรณ์ชำรุดอย่าเพิ่งรีบทิ้งหรือซื้อใหม่ทันที ให้ลองหาวิธีซ่อมแซมก่อน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด
  • หมั่นดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยใช้งานอย่างระมัดระวัง หมั่นตรวจสอบ และดูแลรักษาตามคำแนะนำ
    บริจาคเมื่อไม่ใช้แล้ว ถ้าไม่อยากใช้แล้วหรืออยากเปลี่ยน ให้หาจุดรับบริจาคที่สามารถนำอุปกรณ์ไปใช้ต่อหรือรีไซเคิล
  • คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะทั่วไป ไม่ควรทิ้งรวมกันกับขยะทั่วไป และถอดแบตเตอรี่ออกจากอุปกรณ์ก่อนทิ้งทุกครั้ง หากไม่รู้จะทิ้งที่ไหน อาจค้นหาจุดรับทิ้ง E-waste อย่างโครงการบริจาคขององค์กรต่าง ๆ หรือจุดรับทิ้ง E-Waste ของภาครัฐ ซึ่งสามารถพบได้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต

ปัญหา Fast Tech และ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ซึ่งเราทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดการซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น, เลือกซื้อสินค้าคุณภาพที่ทนทานและซ่อมแซมได้, หรือการคัดแยกและทิ้ง E-Waste อย่างถูกวิธี

อยากรู้เพิ่มเติมเรื่อง"ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ติดตามได้ในเนื้อหาเหล่านี้

อ้างอิง

  • Global e-Waste Monitor 2024: Electronic Waste Rising Five Times Faster than Documented E-waste Recycling / UNITAR
  • Is  FastTech the new Fast Fashion? / materialfocus
     

คอลัมน์ต่อยอด l เสริมความคิด ต่อยอดความรู้ สื่อสารความเข้าใจ โดย ศูนย์สื่อสารและส่งเสริมการตลาดเพื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส (CCM)

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Fast Techขยะอิเล็กทรอนิกส์E-Waste
THANATCHA SUVIBUY

ผู้เขียน: THANATCHA SUVIBUY

นักเขียนผู้นับถือแมวเป็นศาสนา และมีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด