ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเกณฑ์ ลักษณะแบบใดที่เข้าข่าย “การสึกพระ”


Insight

สันทัด โพธิสา

แชร์

เปิดเกณฑ์ ลักษณะแบบใดที่เข้าข่าย “การสึกพระ”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2920

เปิดเกณฑ์ ลักษณะแบบใดที่เข้าข่าย “การสึกพระ”

 

แม้ไม่อาจวัดเป็นสถิติได้ แต่ “กรกฎาคม 2568” ควรได้รับการบันทึกว่า เป็นเดือนและปีที่มีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ “ลาสิกขา” เป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างพระกับ “สีกา” ทำให้เหล่าภิกษุหลายต่อหลายรูป ต้องลาสิกขาไป 

การลาสิกขาของพระสงฆ์รูปหนึ่ง (ตามความประสงค์ของภิกษุรูปนั้น) ถือเป็นกิจที่พึงปฏิบัติได้ ทว่ายังมีการสึกในอีกหลาย ๆ ลักษณะ ที่เกิดจาก “กฏเกณฑ์” ทำให้พระต้องพ้นจากสถานะความเป็นภิกษุสงฆ์ไป 

Thai PBS ชวนทำความเข้าใจ “การสึกพระ” เกณฑ์แบบไหนบ้าง ที่เข้าข่ายว่า “พระต้องสึก”

เข้าใจการสึก หรือ “ลาสิกขา”

การลาสิกขา หมายถึง การลาจากเพศสมณะของภิกษุ เหตุที่ใช้คำว่า ลาสิกขา เพราะพระสงฆ์มีสิกขา ที่แปลว่า การศึกษา, การสำเหนียก หรือข้อที่จะต้องศึกษา เมื่อต้องการจะบอกคืนหรือบอกลาข้อที่ศึกษานั้น จึงเรียกว่า ลาสิกขา

การลาสิกขาแตกต่างจากการลาสิกขาบท ซึ่ง “ลาสิกขาบท” หมายถึง ข้อศีล ข้อวินัย หรือบทบัญญัติในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ เช่น ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 แต่ละข้อเรียกว่า สิกขาบท ดังนั้น การลาสิกขาบท จึงเป็นการขอลาจากศีล หรือข้อที่ศึกษาปฏิบัตินั่นเอง

หลักเกณฑ์ที่พระสงฆ์ต้องสึก หรือ “ลาสิกขา”

โดยปกติ การสึก หรือการพ้นจากสถานะความเป็นภิกษุสงฆ์ มักเกิดขึ้นจากความประสงค์ของภิกษุรูปนั้น ๆ ทว่ายังมีอีกหลายกรณีที่พระสงฆ์ต้อง “สึก” ด้วยกฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคม มีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และมีคำวินิจฉัยให้สึก
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 26 พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรม (การลงโทษตามพระธรรมวินัย) ให้สึก ต้องสึกภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่ที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น

ทั้งนี้ขั้นตอนการสั่งฟ้อง คล้ายกับกระบวนการในศาล โดยผู้ฟ้องต้องยื่นฟ้องเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรต่อผู้มีอำนาจพิจารณา ได้แก่ เจ้าอาวาส เจ้าคณะเจ้าสังกัด หรือเจ้าคณะเจ้าของเขตในเขตที่ความผิดนั้นเกิด เพื่อให้ดำนเนินการไต่สวนข้อมูล หากวินิจฉัยพบว่า เป็นความผิดจริง พระสงฆ์ต้องสึกภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ทราบคำวินิจฉัยนั้น

2.ภิกษุมีความผิด แต่ไม่ยอมรับการลงโทษทางพระวินัย ต้องโดนสั่งให้สึก
อีกหนึ่งกรณี หากพระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรม หรือการลงโทษ แต่ไม่ยอมรับผลนั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 27 กำหนดไว้ว่า พระภิกษุรูปนั้น ต้องสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

3.พระภิกษุละเมิดพระธรรมวินัยเป็นประจำ และได้รับการวินิจฉัยว่า ต้องสึก
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 27 พระภิกษุที่ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นประจำ แม้จะได้รับการแจ้งกล่าว ตักเตือน ทั้งทางวาจา และที่เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อมีคำวินิจฉัยว่าให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ พระภิกษุผู้ที่ต้องคำวินิจฉัยต้องปฏิบัติตาม

กรณีที่ไม่พบตัวพระภิกษุ หรือพระภิกษุไม่ยอมรับทราบคำวินิจฉัย ต้องปิดประกาศคำวินิจฉัยไว้ ณ ที่พำนักอาศัยของพระภิกษุรูปดังกล่าว และให้ถือว่ารับทราบคำวินิจฉัยดังกล่าว ต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย

4.ภิกษุที่ไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่หลักแหล่ง ต้องทำการสึก
กรณีพบพระภิกษุไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 27 กำหนดว่า ภิกษุดังกล่าวต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่ได้รับคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศ 

ทั้งนี้อำนาจในการวินิจฉัยดังกล่าว เป็นของพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ในเขตพื้นที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้น

5.ภิกษุผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ต้องทำการสึก 
กรณีพระสงฆ์ถูกจับ โดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า ไม่สมควรปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปดังกล่าวสังกัด ไม่รับตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุดังกล่าว มิได้สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสึกได้

6.ภิกษุที่ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องทำการสึก 
กรณีที่ภิกษุต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยเป็นคำพิพากษาจากศาลฎีกา หรือจากศาลอุทธรณ์ ซึ่งคู่ความไม่สามารถฎีกาได้ เนื่องจากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 28 กำหนดให้ภิกษุรูปนั้น ๆ ต้องสึกภายใน 3 วันนับแต่คดีเป็นอันสิ้นสุด

7.ภิกษุต้องโทษจำคุก ต้องขังตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ต้องทำการสึก
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 30 เมื่อภิกษุต้องโทษจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสละสมณเพศแก่พระภิกษุรูปนั้นได้

8.การฝ่าฝืนไม่ยอมสึกตามกฎหมาย-กฎมหาเถรสมาคม มีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 1 ปี
กรณีพระสงฆ์ฝ่าฝืนบทลงโทษตามกฎหมาย หรือกฎมหาเถรสมาคม ตามลักษณะต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา อาทิ ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ได้รับการวินิจฉัยแล้วไม่ยอมรับนิคหกรรม ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ได้รับคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย รวมทั้งกระทำผิดทางคดีอาญา 

จากกรณีทั้งหมดเหล่านี้ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 43 ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้เพิ่มเติมว่า นอกจากต้องทำการสึกภิกษุดังกล่าวแล้ว ภิกษุนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีอีกด้วย

ลักษณะขอสึก หรือ “ลาสิกขา” 

โดยทั่วไป หากพระสงฆ์จะทำการขอลาสิกขา หรือขอสึก มีข้อปฏิบัติดังนี้

1.เมื่อถึงเวลาขอลาสิกขา หรือขอสึก ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ไปถวายสักการะพระเถระผู้ให้ลาสิกขา และนิมนต์พระสงฆ์มาเป็นองค์พยาน

2.เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งประชุมพร้อมกันแล้ว ภิกษุผู้จะลาสิกขาได้แสดงอาบัติให้บริสุทธิ์ จากนั้นนั่งหันหน้าตรงที่พระประธาน กราบ 3 หน ลุกขึ้นยืนประนมมือ กล่าวคำขอขมาว่า "อุกาส วนฺทามิ ภนฺเต" เสร็จแล้วนั่งประนมมือว่านโม 3 จบ แล้วว่าอดีตปัจจเวกขณ์ทั้ง 4 บท เมื่อจบลงแล้วกราบลงอีก 3 หน 

3.กล่าวคำปฏิญาณที่จะละเพศออกมาเป็นคฤหัสถ์ พูดทั้งบาลี-ทั้งแปลเป็นไทย ว่า

“สิกขัง ปัจจักขามิ” / ข้าพเจ้าลาสิกขา 
“คิหีติ มัง ธาเรถะ” / ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นคฤหัสถ์ (กล่าว 3 หน)  

4.พระเถระจะถามถึงเจตนาในการกล่าวปฏิญาณนั้น เมื่อตอบตรงกันแล้ว ท่านจะจับผ้าสังฆาฏิ ปลดออกจากบ่า พระสงฆ์เริ่มสวดชัยมงคลคาถา

5.เมื่อพระสงฆ์สวดจบแล้ว ผู้ลาสิกขากราบลง 3 หน ออกไปผลัดผ้าขาว ก่อนจะกลับเข้าไปหาพระเถระ กราบลง 3 หน ยกบาตรน้ำมนต์ออกไปนั่ง พระเถระจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้ กราบพระเถระอีก 3 หน นั่งคุกเข่าประนมมือเปล่งวาจาขอไตรสรณคมน์และศีล เพื่อแสดงตนเป็นอุบาสก จากนั้นพระเถระให้ศีล อุบาสกใหม่พนมมือรับศีล พึงกราบลงอีก 3 หน

การลาสิกขา ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ดี ถือเป็นกิจปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ที่พึงรู้ แม้จะลาสิกขาไป แต่การนำเอาพระธรรม คำสั่งสอน ไปปฏิบัติใช้ จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป

อ้างอิง

  • เปิดเกณฑ์การ “สึกพระ” ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์-กฎมหาเถรสมาคม / iLaw
  • พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 / สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สึกพระพระสงฆ์พระสึกภิกษุลาสิกขาพ.ร.บ.คณะสงฆ์สึก
สันทัด โพธิสา

ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด