ศึกตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ ครั้งที่ 38 กำลังจะเปิดศึกการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 22 – 27 ก.ค.68 ณ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา Thai PBS ชวน “โค้ชนอบ” จ.ส.อ.ศุภฤกษ์ กิ้มทอง หัวหน้าผู้ฝึกสอนตะกร้อทีมชายทีมชาติไทย มาพูดคุยถึงความพร้อม และความน่าสนใจ เหตุใดคอกีฬาตะกร้อถึงไม่ควรพลาด “ศึกตะกร้อคิงส์คัพ” ครั้งนี้
ตะกร้อคิงส์คัพ กับความพร้อม
เริ่มต้นพูดคุยกับโค้ชนอบ สอบถามถึงการเตรียมทีมของทัพลูกหวายไทย โดยเฉพาะกับทีมตะกร้อทีมชาย ที่โค้ชนอบเป็นผู้ดูแลฝึกสอนโดยตรง ถึงตรงนี้มีความพร้อมแค่ไหน
“ความพร้อม ณ ขณะนี้ ประมาณ 90% ซึ่งจะไปพีกสุดตอนแข่งขันพอดี” โค้ชนอบบอก
เฮดโค้ชตะกร้อทีมชาติไทยเล่าต่อว่า สำหรับตะกร้อคิงส์คัพหนนี้ ถือเป็นครั้งที่สองของเขา โดยนับจากปีก่อน (ปี 2567) จนมาถึงครั้งนี้ (ปี 2568) ถือว่าเขามีประสบการณ์ในการทำทีมที่มากขึ้น
“ผมคุมทีมชาติมา 2 ปี ซึ่งตะกร้อคิงส์คัพหนนี้ ถือเป็นครั้งที่สอง ที่ผมมีโอกาสได้คุมทีมตะกร้อชายไทย โดยส่วนตัวผมมีความเข้าใจในระบบมากขึ้น ส่วนนักกีฬาที่ฝึกซ้อมร่วมกันมา ก็มีความเข้าใจในรูปแบบการฝึกซ้อมมากขึ้น”
ถามโค้ชนอบว่า อะไรที่สิ่งที่เขาเห็นตลอดมาในการคุมทีมชาติไทยชุดนี้
“ผมมองเห็นในเรื่องของพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาเก่า ที่ค่อนข้างมีระเบียบวินัย ซึ่งรุ่นพี่เหล่านี้ก็มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับรุ่นน้องในทีมด้วย โดยเฉพาะเวลาที่เขาไปแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ เช่น ชิงแชมป์โลกที่อินดีย หรือเอเชียนคัพที่มาเลเซีย ประสบการณ์เหล่านี้ เมื่อนำมาถ่ายทอดกับรุ่นน้อง ๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับให้กับน้อง ๆ ในทีมได้เป็นอย่างดี”
โค้ชนอบเล่าต่อว่า ทีมตะกร้อคิงส์คัพทีมชาย มีจำนวนนักกีฬาทั้งสิ้น 12 คน โดยมีนักกีฬาเก่าและใหม่ผสมผสานกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการผลักดันให้นักกีฬารุ่นใหม่ ๆ ได้มาสัมผัสกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น
“สัดส่วนของนักกีฬาตะกร้อคิงส์คัพทีมชายหนนี้ ผมผสมตัวเก่ากับตัวใหม่ สัดส่วน 70 : 30 คือเป็นตัวหลักสัก 70% และตัวใหม่อีก 30% พวกตัวหลัก ๆ อย่าง ศิริวัฒน์ สาขา สิทธิพงศ์ คำจันทร์ กฤษณพงศ์ นนทโคตร พรเทพ ถิ่นบางบน หรือทวีศักดิ์ ทองสาย นักกีฬาเหล่านี้ยังอยู่กันครบ”
ถามว่าเหตุผลอะไรที่ต้องใช้นักกีฬาเหล่านี้ เนื่องจากมาตรฐานเขาสูง หมายถึงมาตรฐานการฝึกซ้อมของเขามีความแม่นยำสูง บางคนถึงแม้อายุจะเริ่มมากขึ้น แต่ว่าข้อผิดพลาดในการซ้อม หรือแม้แต่ตอนที่แข่งขัน มีน้อยกว่าผู้เล่นรุ่นน้องอยู่มาก
โค้ชนอบบอกอีกว่า นักกีฬาตะกร้อรุ่นใหม่ในตะกร้อคิงส์คัพนี้ มีจำนวนราว 3-4 คน อายุเฉลี่ย 22-25 ปี บางคนแม้จะอายุน้อย แต่ทำผลงานที่ผ่านมาได้ดี จนถูกดันขึ้นมาสู่ทีมชุดนี้
“ผู้เล่นจากตะกร้อคิงส์คัพปีที่แล้วที่เราเอามาติดทีมชุดนี้ เช่น แสนไกร ดาวเรือง เขาเคยลงในตะกร้อคิงส์คัพครั้งที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นยังเป็นตัวใหม่มาก ยังไม่เคยลงเตะทีมชุดใหญ่เลย แต่กลับสามารถเปลี่ยนเกม และทำให้ทีมชนะได้ หรืออย่าง ภูตะวัน โสภา อายุประมาณ 25 ปี ล่าสุดพาไปแข่งชิงแชมป์โลกที่อินเดียเมื่อต้นปี ทำผลงานได้ดี"
"อีกคนที่เป็นตัวใหม่ล่าสุด วุฒินันท์ คำเสนาะ หรือน้องเชียร์ เพิ่งไปแข่งรายการเอเชียนคัพที่มาเลเซีย เขาก็สามารถผ่านเกมหนัก ๆ มาได้ เคยไปเจอตัวเสิร์ฟมือหนึ่งของมาเลเซีย สามารถรับลูกเสิร์ฟมือหนึ่งมาเลเซียได้ด้วย”
โค้ชนอบเล่าต่อว่า ตะกร้อคิงส์คัพทีมชายมีจำนวน 12 คน แต่ในความเป็นจริง ทีมตะกร้อทีมชาติไทยที่เขาดูแลอยู่ในปีนี้ มีทั้งสิ้น 24 คน ด้วยความที่ปี 2568 มีทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ ให้ลงแข่งขันหลายรายการ ผู้เล่นทั้ง 24 คน จึงถูกดึงมาลงทำการแข่งขันตามความเหมาะสม
“ปีนี้ตะกร้อทีมชาติไทยมีรายการใหญ่ ๆ ที่ต้องลงแข่งขัน 4 รายการ คือ ชิงแชมป์โลก ที่อินเดีย ศึกเอเชียนคัพ ที่มาเลเซีย ตะกร้อคิงส์คัพที่ไทย และปลายปี กีฬาซีเกมส์ที่ประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องมีขนาดทีมที่ใหญ่พอสมควร”
“เราคัดเลือกนักตะกร้อเข้ามาติดทีมชุดใหญ่ทั้งสิ้น 24 คน เข้าแคมป์ฝึกซ้อมกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยเราแบ่งนักกีฬาเก่าเป็นหลัก รองลงมาคือ นักกีฬาดาวรุ่ง ซึ่งนักกีฬาดาวรุ่งอายุเฉลี่ยไม่เกิน 24 ปี มีจำนวนเป็นสิบคน”
“เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ฝึกแล้วพัฒนาเร็ว เราเคยพาเขาไปทดลองแข่งในรายการศึกชิงแชมป์เอเชียนคัพที่มาเลเซีย รายการนั้นมีตัวเก๋า ๆ ไปประคองแค่ 3 คน ปรากฏว่า เขาก็สามารถเอาชนะมาเลเซียได้ ทำให้เราเห็นว่า เด็กดาวรุ่งเหล่านี้เริ่มดีขึ้นมา”
โค้ชนอบบอกว่า การพานักกีฬาดาวรุ่งไปแข่งขันยังต่างประเทศ ถือเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ และถือเป็นการ “เสริมกระดูก” ให้ผู้เล่นมีความแข็งแกร่งขึ้น
“ถ้าเราไม่เอาเขาไปแข่งต่างประเทศ เด็กจะไม่ได้ประสบการณ์ ยิ่งไปแข่งในถิ่นเสือเหลือง มาเลเซีย ทีมคู่รักคู่แค้น สถานการณ์ค่อนข้างกดดัน โจทย์ของเด็กคือ แบกรับความกดดันได้ไหม คือแพ้ชนะเราไม่รู้หรอก แต่เราดูที่พัฒนาการของเขา และการยืนระยะ ซึ่งกลายเป็นว่า พอไปเจอสถานการณ์แบบนั้น เด็กกลับสามารถทำได้ดี”
“ทีนี้จาก 24 คนในชุดหลัก กับ 4 รายการที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี วิธีการคัดเลือกผู้เล่นของผมคือ เราเลือกนักกีฬาที่เหมาะสมกับรายการนั้น ๆ โดยปัจจัยสำคัญคือ พิจารณาจากอีเวนต์ (ประเภท) ที่ส่งแข่งขัน อย่างตะกร้อคิงส์คัพ มีประเภทที่แข่งขันคือ ตะกร้อ 4 คน ตะกร้อ 4 คนผสม และตะกร้อชุด เพราะฉะนั้น ผู้เล่นที่เราเลือกมา เขาต้องมีประโยชน์สำหรับ 3 อีเวนต์นี้ ซึ่งคนที่มีศักยภาพเล่นได้ทั้ง 3 ประเภท จะได้เปรียบกว่าคนอื่น”
ถามโค้ชนอบว่า ในความพร้อมกว่า 90% ที่กล่าวมา ยังมีเรื่องอะไรที่โค้ชยังต้องเน้น หรือมีความกังวลอยู่หรือไม่
ถามเรื่องความกังวล ผมไม่มี มีเพียงแค่เรื่องการปรับตัว เช่น ปรับตัวกับสนามแข่งขัน ปรับตัวเรื่องพื้นที่ สภาพอากาศ ส่วนเรื่องความฟิตนักกีฬา หรือเรื่องเทคนิคต่าง ๆ เราค่อนข้างเตรียมมาดี ซึ่งโชคดีที่มีแมตช์ให้แข่งขันมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้นักกีฬารักษาความฟิตได้ตลอด ถือเป็นเรื่องที่เราค่อนข้างได้เปรียบ
ตะกร้อคิงส์คัพ คู่แข่งที่น่าจับตา
คุยกับโค้ชนอบถึงเรื่องของทีมที่เข้าแข่งขันในตะกร้อคิงส์คัพ ครั้งที่ 38 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 18 ทีม โดยเฉพาะทีมคู่รักคู่แค้นในโลกตะกร้ออย่างมาเลเซีย ครั้งนี้ก็เตรียมทีมมาเต็มที่เช่นกัน
“มาเลย์เตรียมทีมมาดี แต่ผมมองว่า ตอนนี้ทีมไทยเราห่างจากมาเลเซียพอสมควร ประมาณ 10 : 8 ถ้าเทียบกับปีที่แล้วที่เขามาแข่งคิงส์คัพ ตอนนั้นเราแทบเบียดกับมาเลเซียเลยก็ว่าได้ แต่ปีนี้เราดูดีกว่า ซึ่งมาเลเซียก็จะเป็นคู่แข่งเพียงหนึ่งเดียวของประเภททีมชุดของทีมชาย ที่เราต้องรับมือด้วย”
“ส่วนทีมที่ผมว่ามองข้ามไปไม่ได้ โดยเฉพาะประเภทตะกร้อ 4 คน คือ พม่า เนื่องจากนักกีฬาพม่าส่วนใหญ่ยังเป็นดาวรุ่ง มีทักษะพื้นฐานดี มีเรื่องของความแข็งแรงของร่างกาย เป็นอีกทีมที่ต้องจับตามอง”
โค้ชนอบบอกต่อว่า ยังมีอีก 2 ทีมที่ถือว่าพัฒนาขึ้นมาได้อย่างดี นั่นคือ อินเดีย และเกาหลีใต้
“ถ้าพิจารณาเรื่องของระบบการสร้างทีม ที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องยกให้เกาหลีใต้ กับอินเดีย โดยเฉพาะอินเดีย เป็นทีมที่เขาทุ่มเทมาก อย่างคิงส์คัพครั้งนี้ เขามาเก็บตัวซ้อมอยู่เมืองไทย 45 วัน เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก”
“ผมมองว่า อีกสัก 3 ปีข้างหน้า อินเดียจะยกระดับได้ดีขึ้นอีก เพราะระบบการซ้อมเขาดี แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ เขายังขาดโค้ชที่มีความชำนาญในการพัฒนา ตอนนี้อินเดียใช้วิธีการก็อปปี เขาดูความสำเร็จของเรา แล้วไปฝึกที่ปลายทาง แต่ถ้าย้อนไปแก้ต้นทาง ในสิ่งที่เป็นข้อผิดพลาด เช่น ท่าทางการเล่น หรือเบสิกต่าง ๆ เขาจะไปได้ไวกว่านี้”
โค้ชนอบมองภาพรวมว่า ตะกร้อชายที่ไทยลงแข่งขันตะกร้อคิงส์คัพครั้งนี้ ทั้งทีมชุด ทีม 4 คน ทีม 4 คนผสม และตะกร้อลอดห่วง จะคว้าแชมป์มาครองได้อย่างแน่นอน
“ถ้าพูดในภาพรวม ไม่ถึงกับกังวลมากนัก อย่างตะกร้อ 4 คนเวลานี้ เรามีประสบการณ์มากขึ้น ปีที่แล้ว เราอาจจะกังวลเรื่องกติกาใหม่อยู่บ้าง แต่หลังจากเพิ่งไปแข่งชิงแชมป์โลกที่อินเดียมา เราค่อนข้างมั่นใจขึ้น”
“ทีมงานเราทำการบ้าน เราเก็บทุกรายละเอียดจากการฝึกซ้อม และเรามีความโชคดีอีกอย่าง เนื่องจากผู้จัดการทีมตะกร้อทีมชาติไทย (สุพจน์ ตุ้มประชา) ท่านเคยเป็นผู้ฝึกสอนตะกร้อมาก่อน เคยทำทีมในตะกร้อไทยแลนด์ลีกอยู่หลายปี ดังนั้น ท่านก็เป็นอีกคนที่มีประสบการณ์ พอเห็นข้อบกพร่องอะไร ก็มาช่วยแชร์ มีการพูดคุย แนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุง คือไม่ได้มีแค่โค้ช แต่มีผู้จัดการทีมที่คอยแนะนำเราด้วย ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และช่วยปิดข้อบกพร่องของนักกีฬาได้มากขึ้น”
ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่โค้ชนอบบอกว่า อยากทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น นอกเหนือไปจากการคว้าแชมป์ในตะกร้อคิงส์คัพครั้งนี้ นั่นคือ การยกระดับศักยภาพของทีม
สิ่งที่ตั้งใจไว้คือ ทำอย่างไรให้ทีมไทยห่างจากชาติอื่นยิ่งขึ้น นอกเหนือจากความเป็นแชมป์แล้ว เราต้องวางระยะห่างที่ทีมอื่นจะเข้ามาใกล้ให้มากขึ้น
ตะกร้อคิงส์คัพ ภารกิจท้าทาย
การคว้าแชมป์ตะกร้อคิงส์คัพ ครั้งที่ 38 ถือเป็นภารกิจสำคัญ แต่หากมองข้ามช็อตไปยาว ๆ โค้ชนอบบอกว่า การยกระดับนักกีฬาตะกร้อทีมชาติไทย ให้มีการพัฒนายิ่งขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
“นักกีฬาไทยยังไปได้อีก ขนาดทุกวันนี้ นักกีฬาที่อายุเยอะ พอเขาได้รับแบบฝึกที่มีความใหม่ ที่มันท้าทาย ซึ่งจากประสบการณ์ที่เขามี เขาจะรู้ว่าสิ่งที่เราให้เขา มันมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ พอเขาเห็นว่ามันดีสำหรับเขา เขาก็เปิดรับ”
“การมาทำทีมชาติ ผมคิดว่าเด็กทุกคน เขาต้องการความท้าทาย เพราะฉะนั้น เราต้องมีแบบฝึกที่เพิ่มประสิทธิภาพเขา แต่สิ่งที่เป็นความยากของโค้ชคือ การให้เขาเปิดใจรับในแบบฝึกของเรา ความท้าทายเราอยู่ตรงนี้”
“ผมอาจจะโชคดีที่นักกีฬากว่า 50% ของชุดนี้ เราเคยเป็นโค้ชเขามาก่อน หลายคนร่วมทีมกับผมสมัยลงเล่นตะกร้อไทยแลนด์ลีก เช่น ศิริวัฒน์ สาขา สิทธิพงศ์ คำจันทร์ เราเจอเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ ผมเอาเขามาเล่นลีก เราเห็นแววเขา จุดนี้จึงเหมือนเป็นความคุ้นเคยกันอยู่แล้ว จึงทำให้การทำงานของเราเป็นไปด้วยดี”
โค้ชนอบบอกว่าสไตล์การทำงานของเขาคือ หากไม่แตะความสำเร็จ เขาจะไม่หยุดลงมือทำ และอีกเรื่องที่ถือเป็นหลักในการทำทีมของเขา คือ การผลักดันให้นักกีฬาเพิ่มประสิทธิภาพในตัวเอง ไม่ใช่การไปเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่นในตัวเขา
ผมไม่ค่อยเปลี่ยนนักกีฬา ไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนคนเล่นนะ แต่หมายถึง ไม่ค่อยเปลี่ยนท่าทางการเล่นของนักกีฬา แต่ผมจะเน้นพัฒนาในสิ่งที่เขาถนัด ให้เขามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โค้ชนอบบอกอีกว่า เสน่ห์ของกีฬาตะกร้อคือ การเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาก็ดี หรือแม้แต่ตัวโค้ชผู้ฝึกสอนเองก็ดี
“ผมเคยเป็นนักกีฬาตะกร้อที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จคนหนึ่งของวงการตะกร้อเมืองไทย แต่หลังจากที่ผันไปเป็นโค้ช เวลาที่ผมไปสอนเด็ก ผมรู้ตัวว่าผมไม่รู้จริง สิ่งที่ผมต้องทำคือ ผมต้องไปเรียน ทั้งเรียนการเป็นโค้ช อบรมเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา การเข้าไปเรียนทั้งหมดนี้เพื่อให้ผมรู้ว่า การฝึกซ้อมที่ดีต้องเป็นอย่างไร ต้องมีความหนักความเบาในการฝึกแค่ไหน รูปแบบการฝึกต้องเป็นอย่างไร ทุกอย่างคือการเรียนรู้ และเราต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด”
โค้ชนอบฝากทิ้งท้าย ชวนแฟน ๆ กีฬาตะกร้อ รวมถึงแฟนกีฬาทีมชาติไทย มาชม มาเชียร์ ศึกตะกร้อคิงส์คัพ ครั้งที่ 38 กันให้มาก ๆ เพื่อเป็นกำลังใจกับนักกีฬา ซึ่งจะทำผลงานให้ออกมาดีที่สุดเช่นกัน
“อยากชวนให้มาดู ผมมองกีฬาตะกร้อเป็นเรื่องวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เรามีความแตกต่างกับชาติอื่น ๆ เช่น ท่าทางการฟาดตะกร้อของเราก็ไม่เหมือนชาติไหน และเรามีผู้เล่นที่มีลูกเสิร์ฟหนักหน่วง เรามีเกมที่สนุก”
“และอยากแนะนำให้มาดูตะกร้อ 4 คน เป็นชนิดตะกร้อที่มาแรงมาก เป็นกีฬาที่คนดูชอบ เพราะว่าการแข่งขันสูสี เกมเข้มข้น ฝากให้มาเชียร์กันเยอะ ๆ ครับ”
ศึกตะกร้อชิงถ้วยพระราชทาน ตะกร้อคิงส์คัพ ครั้งที่ 38 แข่งขันระหว่างวันที่ 22 – 27 กรกฎาคม 2568 ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ใครที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปเชียร์ติดขอบสนาม สามารถรับชมได้ผ่านช่องทางออนไลน์ Thai PBS และทาง www.thaipbs.or.th/TakrawKingsCup2025 มีข่าวสารและการถ่ายทอดสดให้ได้ติดตามชมกัน
ขอบคุณแฟนตะกร้อที่ติดตาม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจากรายการนี้ ในกีฬาซีเกมส์ที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี จะมีแฟนคลับไปเชียร์นักกีฬาเยอะ ๆ และเป็นกำลังใจให้พวกเรา ซึ่งพวกเราก็จะทำหน้าที่ของทีมตะกร้อให้เต็มที่ จะคว้าเหรียญทองทุกอีเวนต์ที่ลงทำการแข่งขันมาให้ได้ครับ
ประวัติโค้ชนอบ จ.ส.อ.ศุภฤกษ์ กิ้มทอง
- อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย ศึกคิงส์คัพ
- อดีตนักตะกร้อสังกัดสโมสรทหารบก
- อดีตนักตะกร้อสังกัดทีม ม.กรุงเทพธนบุรี
- อดีตโค้ชทีมตะกร้อหญิง มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- อดีตโค้ชทีมตะกร้อราชบุรี
- อดีตโค้ชทีมตะกร้อหญิงทีมชาติเกาหลีใต้
- อดีตโค้ชทีมตะกร้อลอดห่วงทีมชาติไทย
- อดีตโค้ชกีฬาชินลงทีมชาติไทย
- ที่ปรึกษาทีมกีฬาตะกร้อ รร.กีฬาจังหวัดนครปฐม
- โค้ชตะกร้อชายทีมชาติไทย (ชุดใหญ่)
- ชมคลิปโปรโมต ตะกร้อ คิงส์คัพ ครั้งที่ 38