ทุกวันนี้ ข่าวปลอมและเนื้อหาด้อยคุณภาพที่สร้างจากเอไอ (AI slops) กระจายอยู่เต็มฟีดโซเชียลอย่างรวดเร็ว และนับวันจะดู “แนบเนียน” มากขึ้นเรื่อย ๆ
ข่าวปลอมและเนื้อหาเช่นนี้สามารถสร้างความเสียหายต่าง ๆ ได้ ทั้งความเข้าใจผิด การยุยงปลุกปั่น การแบ่งฝักแบ่ง ไปจนถึงการหลอกลวง แต่หลายครั้ง เนื้อหาจากผู้ใช้งาน (user-generated content หรือ UGC) ที่ประชาชนคนธรรมดาถ่ายคลิปเหตุการณ์ตรงหน้าแบบสด ๆ แล้วโพสต์บนอินเทอร์เน็ต ก็เป็น “ของจริง” และสำคัญต่อการรายงานข่าวเช่นกัน ดังนั้น คำถามจึงอยู่ที่ว่า เราจะจับผิดเนื้อหาปลอมและข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ได้อย่างไร ? และสำนักข่าวต่าง ๆ ควรทำอะไรบ้างหากต้องใช้ UGC อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤต ?
“เราไม่เชื่อใจใคร (we trust nobody)” คือวิธีคิดพื้นฐานที่ ‘คนข่าว’ ต้องใช้เมื่อตรวจสอบข่าวจริงและข่าวปลอม โซอิส เวกิโอส ซานนิโกส (Zois Bekios Zannikos) บรรณาธิการตรวจสอบอาวุโสของแพลตฟอร์มคลิปข่าว Viory ได้พูดถึงวิธีคิดนี้ในมาสเตอร์คลาสห้องข่าวดิจิทัลที่งาน Asia Media Summit ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 68 ซานนิโกสแนะนำต่อว่า ก่อนที่สำนักข่าวจะนำเสนอข่าวใด ๆ สู่สาธารณชน – โดยเฉพาะเนื้อหา UGC และข่าวจากนักข่าวฟรีแลนซ์ – ต้องยึดหลักการตรวจสอบข่าว 3 ข้อ ดังนี้
- Source: ใครเป็นคนผลิตเนื้อหา มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน แม้บางครั้ง บุคคลในข่าวจำเป็นต้องปิดบังตัวตนเพื่อความปลอดภัย ก็ต้องตรวจสอบกับผู้ผลิตให้ได้ด้วยว่า แหล่งข่าวนั้นมีตัวตนอยู่จริง นอกจากนี้ ควรเทียบข้อมูลกับแหล่งที่มาและสื่อเจ้าอื่น ๆ (cross-checking) ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า เนื้อหาที่เรามีในมือเป็นของจริง
- Date: เนื้อหานั้นผลิตขึ้นวันเวลาใด ความคมชัดของภาพ เสียง หรือวิดีโอนั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่ปรากฏในข่าวหรือเนื้อหานั้น ๆ สอดคล้องกับวันเวลาที่ผลิตหรือเปล่า ผ่านการตัดต่อหรือไม่ โดยอาจใช้ metadata ช่วย หรือหมุดเวลา (timestamp) กับรายละเอียดของไฟล์
- Location: สภาพแวดล้อมและสถานที่ในข่าวหรือเนื้อหานั้น ๆ ว่ามีจริงหรือไม่ ตรงกับปัจจุบันหรือเปล่า โดยใช้ระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ผ่านเครื่องมือช่วย เช่น Google Maps, Google Earth, Copernicus หรือภาพถ่ายดาวเทียม หรือจะให้นักข่าวฟรีแลนซ์ถ่ายเซลฟีหรือวิดีโอคอลจากสถานที่นั้นก็ได้

แม้หลักการนี้จะเกี่ยวข้องกับคนข่าวและสำนักข่าวเป็นหลัก แต่คนธรรมดาก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เวลาอ่านข่าวหรือดูวิดีโอบนโลกโซเชียล สิ่งที่ควรมีคือ ‘ความเอ๊ะ’ อย่าเพิ่งเชื่ออะไรทันทีที่เห็น ลองสังเกตรายละเอียดของผู้คน สถานที่ และแวดล้อมรอบข้าง สิ่งที่ควรตระหนักไว้เสมอก็คือ คอนเทนต์และข่าวปลอมจะเลียนแบบใครหรืออะไรสักอย่าง แล้วมีลักษณะที่ดูตลกหรือผิดธรรมชาติ หากเป็นคนปลอมที่สร้างจากเอไอ ก็มักจะพูดวกวนซ้ำไปมา
นอกจากนี้ ต้องดูว่าสำนักข่าวหรือคนที่โพสต์เนื้อหามีตัวตนจริงไหม ถ้ามีจริง มีจุดยืนอย่างไร ข้อมูลที่นำเสนอพยายามปลุกปั่นหรือสร้างความสับสนหรือเปล่า และควรทำความเข้าใจบริบทข่าวในมิติต่าง ๆ ด้วย เพราะทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นย่อมมีที่มาที่ไป และอาจซับซ้อนเกินกว่าที่จะสรุปสั้น ๆ ในไม่กี่ประโยค เช่นนี้แล้ว ทั้งคนเสพข่าวและคนข่าวก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อข่าวปลอมใด ๆ ก็ตามที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งระดับโลก
ติดตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจากเครือ Thai PBS
- เมื่อสื่อละเมิดสิทธิ์ | รู้เท่าทันสื่อ
- รู้ได้..จริงหรือปลอม! ชวนรู้จัก 5 เครื่องมือ ช่วยตรวจสอบ AI Deepfake | Thai PBS Sci & Tech
- Double Click jacking ภัยไซเบอร์ใหม่ แค่คลิกสองครั้ง บัญชีคุณอาจถูกขโมย ! | Thai PBS Verify
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech: www.thaipbs.or.th/SciandTech
