ย้อนความทรงจำ “มาสคอตฟุตบอลโลก” อีกหนึ่งสีสันที่อยู่คู่มหกรรมกีฬาลูกหนัง


จับกระแสวงการกีฬา

21 พ.ย. 65

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
ย้อนความทรงจำ “มาสคอตฟุตบอลโลก” อีกหนึ่งสีสันที่อยู่คู่มหกรรมกีฬาลูกหนัง

นึกถึง “ฟุตบอลโลก” หลายคนมักจะคิดถึงเหล่าบรรดานักฟุตบอลชื่อดัง ที่มาฝากผลงาน และเรื่องราวเอาไว้มากมาย แต่ทุก ๆ 4 ปีที่มหกรรมฟุตบอลโลกเวียนกลับมาเปิดสังเวียนฟาดแข้งกัน จะมีอีกหนึ่งสีสันที่ขาดไปไม่ได้ นั่นคือ เหล่าบรรดา “มาสคอต” หรือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของฟุตบอลโลกในครั้งนั้น ๆ

ทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลกถูกจัดมาแล้วกว่า 22 ครั้ง แต่เริ่มมีการใช้ “มาสคอต” ที่เป็นตัวแทนการแข่งขันมาตั้งแต่ฟุตบอลโลกครั้งที่ 8 หรือในปี 1966 ซึ่งถ้านับจนถึงวันนี้ เคยมีมาสคอตมาแล้ว 15 หน ส่วนจะเป็นอะไรบ้างนั้น  ไทยพีบีเอสรวบรวมมาให้ทราบกันดังต่อไปนี้

ปี 1966 “World cup Willie”

ฟุตบอลโลกปี 1966 ที่ประเทศอังกฤษ กระแสความนิยมในการแข่งขันฟุตบอลโลกเพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งก่อน ๆ เป็นอย่างมาก จึงได้มีการสร้างสรรค์ตัวแทนประจำการแข่งขันขึ้น หรือที่เรียกว่า “มาสคอต” ประจำทัวร์นาเมนท์ โดยมาสคอตตัวแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในมหกรรมฟุตบอลโลก นั่นคือ “สิงโต Willie” มันถูกออกแบบให้สวมเสื้อลายธงยูเนี่ยนแจ็ค สัญลักษณ์ประเทศอังกฤษ พร้อมกับมีคำว่า WORLD CUP อยู่บริเวณด้านหน้า จากกระแสความนิยมมาสคอตตัวแรก ทำให้ฟุตบอลโลกในครั้งถัดมา มีการสร้างสรรค์มาสคอตออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นธรรมเนียมหนึ่งในฟุตบอลโลกไปโดยปริยาย

ปี 1970 “Juanito”

4 ปีถัดมาในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศเม็กซิโก เจ้าภาพเม็กซิโกเปิดตัวมาสคอตที่ชื่อ Juanito โดยมีลักษณะเป็นเด็กผู้ชาย สวมหมวกปีกกว้างที่เขียนบนหมวกว่า “Mexico 1970” 
พร้อมกับสวมเสื้อสีเขียว ซึ่งเป็นสีเสื้อทีมชาติเม็กซิโก การสร้างสรรค์มาสคอตประจำฟุตบอลโลกหนนี้ มีความพิเศษตรงที่เน้นความมีสีสันสดใส เนื่องจากทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลกครั้งนั้น มีการถ่ายทอดสดผ่านจอโทรทัศน์สีเป็นครั้งแรกของโลกนั่นเอง

ปี 1974 Tip and Tap

ฟุตบอลโลกปี 1974 ที่ประเทศเยอรมนีตะวันตก (ชื่อเดิมก่อนรวมประเทศ) เป็นเจ้าภาพ ใช้มาสคอตเป็นเด็กผู้ชายสองคน และถูกเรียกชื่อว่า Tip กับ Tap ทั้งสองสวมเสื้อสีขาว ซึ่งเป็นสีหลักของทีมชาติเยอรมนีตะวันตก โดยคนหนึ่งมีคำสกรีนบนเสื้อว่า WM ย่อมาจากภาษาเยอรมัน Weltmeisterschaft ที่สื่อความหมายว่า ชิงแชมป์โลก ส่วนอีกคนบนเสื้อสกรีนเลข 74 คือเลขปีในการจัดฟุตบอลโลกหนดังกล่าว ส่วนที่มาของการใช้เด็กผู้ชายสองคนเป็นสัญลักษณ์ เนื่องจากฟุตบอลโลกครั้งนั้น ทั้งเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก ต่างก็เข้าร่วมการแข่งขันด้วยกันนั่นเอง

ปี 1978 Gauchito

ฟุตบอลโลก ปี 1978 ยังใช้มาสคอตเป็น “เด็กผู้ชาย” เหมือนสองครั้งที่ผ่านมา โดยเจ้าภาพอาร์เจนตินาสร้างสรรค์มาสคอตเด็กชายที่มีชื่อว่า Gauchito ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “โคบาล” ในทวีปอเมริกาใต้ แต่โคบาลน้อยคนนี้ สวมเสื้อลายฟ้า-ขาว อันเป็นเสื้อประจำทีมชาติอาร์เจนตินา พร้อมกับมีตัวหนังสือ Argentina 78 เขียนไว้ที่บริเวณหมวก รวมทั้งผูกผ้าเช็ดหน้า และถือแส้ อันเป็นอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายของโคบาลพื้นเมืองในแถบอเมริกาใต้นั่นเอง

ปี 1982 Naranjito

มาสคอตประจำฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่ประเทศสเปน ออกจะแปลกไปกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยได้นำเอา “ผลส้ม” หรือในภาษาสเปนเรียกว่า “Naranjito” มาใช้เป็นมาสคอตประจำการแข่งขัน ที่มาของการใช้ “ส้ม” เพราะสเปนเป็นประเทศที่นิยมการปลูกส้ม และถือเป็นประเทศที่ส่งออกส้มรายใหญ่ของโลก จึงทำให้เลือกใช้ผลส้ม Naranjito เป็นมาสคอต พร้อมกับสวมใส่ชุดนักฟุตบอล สร้างรอยยิ้มและสีสันให้กับฟุตบอลโลกครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี

ปี 1986 Pique

เพราะฟุตบอลโลก ปี 1982 ใช้ผลส้มเป็นสัญลักษณ์ จนมาถึงปี 1986 ที่ประเทศเม็กซิโกได้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง จึงนำเอา “พริกเม็กซิกัน” มาเป็นมาสคอตประจำการแข่งขันบ้าง โดยมันมีชื่อเรียกว่า “Pique” (ปีเก้) ที่ยังคงเอกลักษณ์สไตล์จังโก้ด้วยหมวกปีกกว้าง แต่มาพร้อมรอยยิ้มและหนวดอันโดดเด่น Pique ถือเป็นมาสคอตที่เป็นที่จดจำต่อแฟนบอลทั่วโลก โดยเฉพาะแฟนบอลเมืองไทย เนื่องจากถูกใช้เป็นของแถมในการซื้อรองเท้านักเรียนของเด็ก ๆ ในช่วงปี 1986 เรียกว่าต้องมีไว้ประดับบ้านกันเลยทีเดียว

ปี 1990 Ciao

ถือว่าเป็นมาสคอตที่แตกต่างไปจากฟุตบอลโลกหลายครั้งที่ผ่านมา สำหรับมาสคอตที่ชื่อว่า Ciao ประจำฟุตบอลโลก ปี 1990 ที่อิตาลี เนื่องจากมันไม่ได้เป็นทั้งสัตว์ และไม่ได้เป็นทั้งคน แต่มาในรูปลักษณ์ของ “ตัวต่อไม้” ที่แต่งแต้มด้วยสีประจำชาติของอิตาลี นั่นคือ สีเขียว ขาว และแดง ซึ่งที่มาของชื่อ Ciao เป็นคำทักทายของชาวอิตาลี แถมยังเป็นมาสคอตตัวเดียวที่ไม่มีใบหน้า โดยใช้ลูกฟุตบอลเป็นสัญลักษณ์แทน

ปี 1994 Striker

ฟุตบอลโลก ปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา เลือกใช้มาสคอตเป็น “สุนัข” มันมีชื่อว่า “Striker” มาในชุดสีแดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำธงชาติสหรัฐฯ เจ้า Striker ได้รับการโหวตจากชาวสหรัฐฯ ให้เป็นมาสคอตประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งเพราะ “สุนัข” เป็นสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของคนอเมริกา แถมเจ้า Striker ยังถูกออกแบบให้มีรูปร่างหน้าตาที่น่ารัก และเป็นมิตรอีกด้วย

ปี 1998 Footix

“ไก่ตัวผู้” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติของฝรั่งเศส ครั้นเมื่อได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 1998 ฝรั่งเศสจึงเลือกใช้ไก่เป็นมาสคอต และให้ชื่อว่า “Footix” มันถูกออกแบบให้บริเวณหัวเป็นสีแดง ลำตัวเป็นสีน้ำเงินเข้ม และมีจงอยปากเป็นสีเหลือง ด้วยสีสันอันจัดจ้านนี้เอง จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นมาสคอตฟุตบอลโลกที่มีสีสันสดใสมากที่สุด รวมทั้งยังเป็นสัตว์นำโชคให้กับประเทศเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศส ที่ท้ายที่สุดสามารถคว้าแชมป์โลกไปครองได้อีกด้วย

ปี 2002 Ato, Kaz, and Nik

เป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย แถมยังมีเจ้าภาพร่วม นั่นคือ “เกาหลีใต้” และ “ญี่ปุ่น” จึงเป็นที่มาของมาสคอตถึง 3 ตัว มันมีชื่อว่า Ato, Kaz และ Nik โดยทั้งสามเกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้ออกแบบ พวกมันเป็นมนุษย์ต่างดาวจากนอกโลก Ato (สีเหลือง) เป็นโค้ช และ Kaz (สีม่วง) กับ Nik (สีน้ำเงิน) เป็นนักเตะ ทั้งหมดรวมกันเป็นทีมที่ชื่อ “Atomball” หรือทีมฟุตบอลแห่งอนาคต

ปี 2006 Goleo

การกลับมาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอีกครั้งของประเทศเยอรมนี จากที่เคยใช้เด็กผู้ชายสองคน Tip & Tap ครั้งนี้เจ้าภาพเลือกใช้ “สิงโต” มาเป็นมาสคอต มันมีชื่อว่า Goleo ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่าง Goal ที่มีความหมายว่า การทำประตู กับ Leo ที่แปลว่า สิงโต นอกจากนี้มันยังมีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Pille ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกขานกีฬาฟุตบอลนั่นเอง

ปี 2010 Zakumi

อีกหนึ่งมาสคอต หรือสัตว์นำโชคที่ถูกออกแบบมาได้เตะตาแฟนบอลทั่วโลก มันมีชื่อว่า “Zakumi” เป็นเสือดาว ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของแอฟริกาใต้ ประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2010 นั่นเอง “Zakumi” ถูกออกแบบให้มีสีเขียวและสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีประจำทีมชาติแอฟริกาใต้ โดยที่คำว่า za มีความหมายถึง ประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนคำว่า kumi มีความหมายว่า สิบ “Zakumi” จัดว่าเป็นมาสคอตที่ดูสวยงาม และมีความทันสมัย เป็นที่จดจำของแฟนบอลทั่วโลก

ปี 2014 Fuleco

ฟุตบอลโลก ปี 2014 ที่ประเทศบราซิล ใช้ “ตัวนิ่ม” เป็นมาสคอตประจำทัวร์นาเมนท์ ที่มาของการเลือกใช้สัตว์ชนิดนี้ เนื่องจากเป็นสัตว์ประจำถิ่นของประเทศบราซิล ชื่อ “Fuleco” มาจากการผสมระหว่างคำว่า Futebol (ฟุตบอล) และคำว่า Ecologia ที่แปลว่า ระบบนิเวศวิทยา เมื่อมารวมกัน จึงสะท้อนได้ถึงความหลากหลายทางธรรมชาติและชีวภาพของประเทศบราซิล รวมทั้งยังสะท้อนความเก่งกาจในเรื่องฟุตบอล ส่วนการเลือกใช้โทนสีน้ำเงินให้กับเจ้า “Fuleco” เพื่อสะท้อนถึงท้องทะเลสีฟ้าอันสดใสของประเทศบราซิล ที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา

ปี 2018 Zabivaka

ฟุตบอลโลก ปี 2018 ที่ประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพ พวกเขาเลือกใช้ “หมาป่า” มาเป็นมาสคอตประจำทัวร์นาเมนท์ มันมีชื่อเป็นภาษารัสเซียว่า Zabivaka ที่แปลความหมายถึงการทำประตูในโลกกีฬาฟุตบอล เจ้า “Zabivaka” ถูกออกแบบให้สวมชุดที่มีสีประจำทีมชาติรัสเซีย นั่นคือ สีขาว สีน้ำเงิน และสีแดง ซึ่งที่มาของมาสคอตชิ้นนี้ เกิดจากการสร้างสรรค์ของนักเรียนด้านการออกแบบ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ก่อนที่ผลงานชิ้นนี้จะได้รับการโหวตจากชาวรัสเซียทั่วประเทศกว่า 53% จนได้รับเลือกให้เป็นมาสคอตประจำฟุตบอลโลก 2018 ในที่สุด

ปี 2022 La’eeb

อาจเรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งในมาสคอตที่ดูแปลกตา และแตกต่างไปกว่าครั้งไหน ๆ สำหรับมาสคอตที่มีชื่อว่า “La’eeb” (ลาอีบ) ซึ่งเป็นมาสคอตประจำฟุตบอลโลก ปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ โดย “La’eeb” เป็นภาษาอารบิก มีความหมายว่า “ผู้เล่นที่มีทักษะสูง” ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเด็กผู้ชายแต่งชุดประจำชาติ กำลังวิ่งไล่เตะลูกฟุตบอลอย่างสนุกสนาน สะท้อนได้ถึงบรรยากาศอันคึกคัก รวมทั้งแรงบันดาลใจ ที่เด็ก ๆ และผู้คนทั่วโลก จะได้รับจากมหกรรมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ 

ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหน ๆ ฟุตบอลโลกยังคงมีมนต์เสน่ห์อยู่เสมอ และสำหรับครั้งล่าสุด กับ WORLD CUP 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เชื่อว่าจะเป็นอีกครั้งที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน สมกับการรอคอยตลอด 4 ปีอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวและเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับฟุตบอลโลก 2022 ได้ที่ : https://www.thaipbs.or.th/Worldcup2022 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : www.fifa.com 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฟุตบอลโลกฟุตบอลโลก 2022WORLD CUP 2022
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ