รวม 11 มาสคอตเอเชียนเกมส์ สีสันของเกมกีฬา สัญลักษณ์สะท้อนยุคสมัย


เอเชียนเกมส์ 2022

15 ก.ย. 66

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
รวม 11 มาสคอตเอเชียนเกมส์ สีสันของเกมกีฬา สัญลักษณ์สะท้อนยุคสมัย

มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ถูกจัดขึ้นในปี 2023 กำลังจะเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคม 2566 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

นอกจากความสนุกตื่นเต้นเร้าใจของการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคเอเชียแล้ว อีกสีสันน่าสนใจหนึ่งก็คือเหล่ามาสคอตประกอบการแข่งขัน ที่แต่ละครั้งแต่ละปีก็มีความหมาย เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และมีประเด็นน่าสนใจ

วันนี้ Thai PBS ขอพาทุกคนไปสำรวจสีสันติดขอบสนามแข่งขัน กับทั้ง 11 มาสคอตจากเอเชียนเกมส์ แต่ละปีใช้สัญลักษณ์อะไร ? มีความสำคัญและมีความหมายอย่างไรบ้าง ?

อัปปู (Appu) ปี 1982, New Delhi

อัปปู (Appu) เอเชียนเกมส์ ปี 1982, New Delhi
มาสคอตอย่างเป็นทางการแรกของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ซึ่งเกิดขึ้นที่เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 9 ในปี 1982 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีชื่อว่า อัปปู (Appu) เป็นช้างอินเดียที่มีตราสีแดงซึ่งเป็นโลโก้ของกีฬาเอเชียนเกมส์ติดอยู่ที่หน้าผาก โดยต้นแบบของมาสคอตช้างตัวนี้ คือช้างที่มีตัวตนอยู่จริงชื่อว่า Kuttinarayanan ได้รับการฝึกให้โชว์ในพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าว มาพร้อมคอนเซป Friendship Fraternity Forever หรือ “มิตรภาพ พี่น้อง ตลอดไป” ว่ากันว่าการจัดเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นเป็นการพลิกโฉมเมืองนิวเดลี จากการลงทุนจัดเตรียมสถานที่อย่างการสร้างสนามกีฬาชวาหระลาล เนห์รู ที่ตอนนี้ยังคงเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศอินเดีย และยังคงเป็นสถานที่สำคัญในการจัดงานกีฬาและอีเวนต์สำคัญมากมายจนถึงปัจจุบัน

โฮโดริ (Hodori) ปี 1986, Seoul

โฮโดริ (Hodori) เอเชียนเกมส์ ปี 1986, Seoul
ประเทศเกาหลีใต้หลังพลิกฟื้นจากสงครามเกาหลีก็ได้รับการพิจารณาให้จัดมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 1986 ต่อด้วยโอลิมปิกปี 1988 ทำให้ Hodori เกิดขึ้นเพื่อเป็นมาสคอตสำหรับงานโอลิมปิก โดยถูกใช้งานเพื่อทดสอบในเอเชียนเกมส์ควบคู่ไปด้วย แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากเสือโคร่ง แต่ทำให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น สวมหมวกซังโมหมวกที่ใช้ในการแสดงศิลปะพื้นเมืองของเกาหลี ซึ่งปลายหมวกมีริบบิ้นปลิวสะบัดเป็นรูปตัว S สื่อถึง Seoul เมืองที่จัดงานครั้งนี้ขึ้นนั่นเอง

แพนแพน (Pan Pan) ปี 1990, Beijing

แพนแพน (Pan Pan) เอเชียนเกมส์ ปี 1990, Beijing
ถือเป็นมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติขนาดใหญ่ครั้งแรกที่จีนได้เป็นเจ้าภาพ อันมีสาเหตุมาจากการเริ่มเปิดประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว มาสคอตของประเทศจีนจึงหนีไม่พ้นสัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสมบัติประจำชาติอย่างหมีแพนด้า โดยใช้ชื่อว่า “แพนแพน (Pan Pan)” โดยออกแบบให้ถือเหรียญทองที่มีรูปของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานนั่นเอง ตัวมาสคอตสื่อความหมายด้วยท่าที่ดูเรียบง่าย เป็นมิตร เป็นการเปิดตัวเองเพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่จากเมืองจีนในอดีตที่มักมีภาพลักษณ์ของดินแดนแห่งความลึกลับ สู่ความหลากหลายและการเปิดกว้าง

ป๊อปโปะ (Poppo) และ คุคคู (Cuccu) ปี 1994, Hiroshima

ป๊อปโปะ (Poppo) และ คุคคู (Cuccu) เอเชียนเกมส์ ปี 1994, Hiroshima
นกพิราบขาวคู่ตัวผู้ Poppo และตัวเมีย Cuccu ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้มาสคอตมากกว่า 1 ตัว โดยนกพิราบถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ขณะที่การใช้มาสคอต 2 ตัวเป็นเพศผู้กับเพศเมียก็แสดงออกถึงความเสมอภาคเท่าเทียม พร้อมทั้งการเลือกสถานที่จัดเป็นเมืองฮิโรชิมะที่เริ่มฟื้นตัวหลังสงครามโลกก็เป็นการส่งสารอย่างชัดเจนต่อชาวโลกว่า ญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวจากสงครามโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไชไย (Chai-yo) ปี 1998, Bangkok

ไชไย (Chai-yo) เอเชียนเกมส์ ปี 1998, Bangkok
ไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์อีกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ช้างที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยถูกหยิบขึ้นมาเป็นมาสคอต เป็นฝีมือการออกแบบของ อรรณพ กิติชัยวรรณ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังในยุคนั้น และมีการจัดประกวดตั้งชื่อโดยมีการคัดเลือกกว่า 500 ชื่อ ได้ผลออกมาเป็นชื่อ “ช้างไชโย” มาพร้อมเสื้อผ้าเรียบง่าย สวมหมวกนักรบโบราณ สื่อถึงความมุ่งมั่นในการคว้าชัยชนะของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบในท่ายืนต้อนรับอย่างเป็นมิตรอีกด้วย โดยมีธีมหลักคือ “Friendship beyond Frontiers” หรือ “มิตรภาพไร้พรมแดน” นั่นเอง

ดูเรีย (Duria) ปี 2002, Busan

ดูเรีย (Duria) เอเชียนเกมส์ ปี 2002, Busan
เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ต่อเนื่องจากการจัดกีฬาสุดยิ่งใหญ่อย่างฟุตบอลโลกร่วมกับญี่ปุ่นในปี 2002 นกนางนวลได้ชื่อว่าเป็นนกแห่งเมืองปูซาน มาสคอตครั้งนี้มีชื่อว่า Duria มาจากคำว่า Durative ที่แปลว่าต่อเนื่อง รวมกับคำว่า Asia หมายถึงทวีปเอเชีย ขณะที่คำว่า Duria ในภาษาเกาหลีก็มีความหมายว่า “เราสอง” เมื่อรวมความหมายแล้วจึงสื่อถึงมิตรภาพความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทวีปเอเชีย นอกจากนี้การออกแบบที่เลือกใช้หยดหมึกดำและเส้นสายแบบอิสระ (free line expression) ยังมีนัยยะสื่อถึงวัตนธรรมศิลปะลายเส้นแบบดั้งเดิมของเกาหลีอีกด้วย

ออรี่ (Orry) ปี 2006, Doha

ออรี่ (Orry) เอเชียนเกมส์ ปี 2006, Doha
มองผ่าน ๆ มาสคอตจากกาตาร์ตัวนี้อาจดูคล้ายกวาง แต่จริง ๆ แล้ว Orry คือ “ออริกซ์ (Oryx)” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เรียกว่า แอนทิโลป ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับวัว ควาย แพะ หรือแกะ โดยออริกซ์มักอาศัยในพื้นที่ร้อน พบอาศัยอยู่ในแถบแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับ และเพราะออริกซ์สีขาวคือสัตว์พื้นเมืองและสัตว์ประจำชาติกาตาร์ มันจึงถูกนำมาใช้เป็นมาสคอตในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าภาพมาจากโซนอาหรับอีกด้วย นอกจากนี้ การออกแบบให้มาสคอตใส่ชุดนักกีฬา ยังสื่อถึงพลังานอันเปี่ยมล้นและความมีน้ำใจนักกีฬา

อาเสียง (A Xiang), อาเหอ (A He), อาหยู (A Ru), อาอี้ (A Yi) และ เล่อ หยางหยาง (Le Yangyang)  เอเชียนเกมส์ ปี 2010, Guangzhou

อาเสียง (A Xiang), อาเหอ (A He), อาหยู (A Ru), อาอี้ (A Yi) และเล่อ หยางหยาง (Le Yangyang)  เอเชียนเกมส์ ปี 2010, Guangzhou
การกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งของจีน นำเสนอมาสคอตเป็นแพะ 5 ตัว มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านของเมืองกว่างโจว ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้จัดงาน โดยนิทานเกี่ยวข้องกับเทพ 5 องค์ที่มองเห็นความแห้งแล้งของเมืองแห่งนี้ จึงได้ขี่แพะทั้ง 5 ตัว 5 สี คาบรวงข้าวมาให้กับชาวบ้าน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับเมือง นอกจากนี้ ชื่อของมาสคอตทั้ง 5 หากนำมาเรียงกันเป็น “เสียง หยู อี้ เหอ เล่อ หยางหยาง” จะเป็นประโยคภาษาจีนมีความหมายว่า “สันติภาพ”

บาราเมะ (Barame), ซุมุโระ (Chumuro) และวิซอน (Vichuon) เอเชียนเกมส์ ปี 2014, Incheon

บาราเมะ (Barame), ซุมุโระ (Chumuro) และวิซอน (Vichuon) เอเชียนเกมส์ ปี 2014, Incheon
เกาหลีใต้ได้กลับมาเป็นเจ้าภาพในช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้น ทั้งจากวัฒนธรรมเพลง หรือซีรีส์ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โลกรู้จักเกาหลีใต้ยุคใหม่กันมากขึ้นแล้ว มาสคอตของครั้งนี้จึงที่มาในรูปลักษณ์ของพี่น้องแมวน้ำ 3 ตัว 3 สี 3 ความหมาย บาราเมะ (สีน้ำเงิน) แปลว่า สายลม ซุมุโระ (สีแดง) แปลว่า การเต้นรำ และวิซอน (สีเหลือง) แปลว่า แสงสว่าง โดยแมวน้ำถือเป็นสัตว์หายากที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรเกาหลี พวกมันจึงสื่อได้ถึงสายลมแห่งความเป็นมิตรที่เปิดรับความหลากหลาย และยังสื่อไปถึงความหวังของสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อีกด้วย

บินบิน (Bhin Bhin), อาตุง (Atung) และกากา (Kaka) เอเชียนเกมส์ ปี 2018, Jakarta และ Palembang

บินบิน (Bhin Bhin), อาตุง (Atung) และกากา (Kaka) เอเชียนเกมส์ ปี 2018, Jakarta และ Palembang
ถือเป็นครั้งแรกของการใช้มาสคอตที่มีสัตว์มากกว่า 1 ชนิด โดยเป็นการรวมทีมกันของเหล่าสัตว์ที่มาในชุดพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบไปด้วย บินบิน นกพันธุ์ปักษาสวรรค์ใหญ่ (Greater Bird-of-paradise) สวมเสื้อที่มีลายของชนเผ่าพื้นเมืองอัสมัท (Asmat) อาตุง กวางบาเวียน (Bawean) สวมใส่โสร่งที่มีลายผ้าบาติก และกากา แรดชวาพันคอด้วยผ้าซองแก๊ะพื้นเมือง สัตว์ทั้ง 3 ถือเป็นสัตว์สวยงามหายากที่พบได้ในพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย โดยถือเป็นตัวแทนของภูมิภาคทั้ง 3 คือภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย

สมาร์ททริปเล็ทส์ (Smart Triplets) เอเชียนเกมส์ ปี 2022, Hangzhou

สมาร์ททริปเล็ทส์ (Smart Triplets) เอเชียนเกมส์ ปี 2022, Hangzhou
มาสคอตประจำเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ มาด้วยคอนเซ็ปต์สุดล้ำ กับการใช้หุ่นยนต์เป็นมาสคอต 3 ตัวในชื่อ “สมาร์ททริปเล็ทส์” สะท้อนความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี ความทันสมัย โดยมีรูปลักษณ์ที่ออกแบบให้ดูฉลาดปราดเปรื่อง ขณะที่ชื่อของทั้ง 3 ต่างมีที่มาจากรากฐานดั้งเดิมของประเทศจีน

คองคอง (Congcong) ถือเป็นตัวแทนของซากเมืองโบราณเหลียงจู่จากชื่อ คอง ที่มีความหมายถึงจี้หยก ซึ่งถูกค้นพบในซากเมืองโบราณที่มีอายุยาวนานถึง 5,000 ปี
เหลียนเหลียน (Lianlian) มีความหมายตรงกับคำว่า ทะเลสาบ ด้วยการใช้สีเขียวทำให้หุ่นยนต์ตัวนี้สื่อถึงจิตวิญญาณของธรรมชาติแห่งทะเลสาบตะวันตกหรืออีกชื่อว่าทะเลซีหู สถานที่ชื่อดังของเมืองหางโจว ที่เต็มไปด้วยสีเขียวชอุ่มของใบบัวอันงดงามอยู่เสมอ
เฉินเฉิน (Chenchen) มาจากสะพานที่ชื่อว่า “กงเฉิน” สะพานเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและเมืองหางโจว เหนือคลองต้าอวิ้นเหอ คลองขุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สะพานแห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์กใหญ่ของเมืองหางโจว ทั้งยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าครั้งใหญ่ผ่านเทคโนโลยีการขุดคลองอีกด้วย

ความน่ารัก เป็นมิตรและดูสนุกสนานจากเหล่ามาสคอต ช่วยดึงความสนใจให้กับเหล่าผู้ชมที่กำลังรอชมการแข่งขันกีฬามายาวนานตลอดระยะเวลาหลายปี ความหมายของแต่ละยุคสมัย ช่วยทำให้การชมกีฬาเป็นมากกว่ากีฬา แต่หากคือมหกรรมที่ขับเคลื่อนจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงผู้คน สังคม อารมณ์และการแข่งขันเข้าไว้ด้วยกัน 
 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
📌ติดตามข้อมูล ข่าวสาร บทความ และโปรแกรมการแข่งขันของทัพนักกีฬาไทยได้ www.thaipbs.or.th/AsianGames2022  
📌อ่านรายละเอียดการถ่ายทอดสดกันต่อได้ในบทความ Thai PBS Now โปรแกรมถ่ายทอดสด การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. – 8 ต.ค.66 

ยังจำได้ไหม ? มาสคอตเอเชียนเกมส์ตัวไหนคือตัวโปรดของคุณ ?

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เอเชียนเกมส์ 2023เอเชียนเกมส์ 2022มาสคอตเอเชียนเกมส์Asian Games 2022Asian Games 2023Asian Games
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ