‘ฮัลเลย์’ การเดินทางของดาวหาง และความรัก


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

16 ก.ย. 66

ธนบัตร ลิ้มธนสาร

Logo Thai PBS
‘ฮัลเลย์’ การเดินทางของดาวหาง และความรัก

การเปรียบสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ ล้วนเข้ากันไปหมดกับความรักแล้วแต่ว่าจะเชื่อมโยงในมุมไหน ไม่ว่าจะเป็นความสวยงาม ความยั่งยืน กลิ่นหอม หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่จะพรรณนาเปรียบเปรยให้สมกับความรักอันยิ่งใหญ่

แต่ถ้าจะเปรียบความรักกับดาวหางสักดวง ดาวดวงไหนที่จะเหมาะสมไปกว่า ดาวหางฮัลเลย์ ไม่มีอีกแล้ว

ดาวหางฮัลเลย์ ถ่ายในปี ค.ศ.1986 – NASA

ทำความรู้จัก ‘ฮัลเลย์’

ดาวหางฮัลเลย์ (Halley’s Comet) หนึ่งในดาวหางที่ผู้คนรู้จักเป็นอย่างดี เพราะมันมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุก ๆ 75 ปี

ชื่อฮัลเลย์ เป็นการตั้งชื่อดาวหางที่ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อ เอ็ดมัน ฮัลเลย์ (Edmund Halley) ที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ดาวหางที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1531, 1607 และ 1682 น่าจะเป็นดาวหางดวงเดียวกันทั้ง 3 ดวง โดยได้มีการทำนายเอาไว้ว่าดาวหางจะปรากฏตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 1758 แต่เขาก็ได้เสียชีวิตลงก่อนในปี ค.ศ. 1742 ไม่ทันได้ดูดาวหางที่ทำนายเอาไว้ด้วยตัวเอง ภายหลังจึงได้มีการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

แสงแห่งอดีตของ ‘ฮัลเลย์’

มีการจดบันทึกถึงการมองเห็นดาวหางดวงนี้ครั้งแรก โดยชาวจีนได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา เมื่อ 164 ปี ก่อนคริสตกาล และเมื่อ 87 ปี ก่อนคริสกาล ก็ได้มีการจดบันทึกถึงการมองเห็นดาวหางดวงนี้อีกครั้งโดยชาวบาบีโลน ซึ่งปัจจุบัน บันทึกนี้ได้ถูกเก็บเอาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

สำหรับประเทศไทย การมองเห็นดาวหางอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะเรามีความเชื่อว่าการพบดาวหางเป็นลางบอกเหตุร้าย หรือการสูญเสียของบุคคลสำคัญ เช่นการเกิดดาวหางในปี ค.ศ. 1529 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคต ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องสุริโยไท

ฉันจะเจอเธอได้อย่างไร ‘ฮัลเลย์’

ดาวหางดวงนี้ปรากฏตัวครั้งล่าสุด ในปี ค.ศ. 1986 หรือปี พ.ศ. 2529 และคาดหมายว่าจะโคจรมาอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 2061 หรือ พ.ศ. 2604 ค่าเฉลี่ยอายุของประชากรไทยจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เพศชายจะอยู่ที่ 72.2 ปี และเพศหญิงจะอยู่ที่ 78.9 ปี ดังนั้นความจริงที่ว่า ดาวหางฮัลเลย์จะเดินทางมาใกล้โลกให้เราเห็นด้วยตาได้ทุก ๆ 75 ปี ก็หมายถึงว่าในช่วงชีวิตคนคนหนึ่ง อาจจะสามารถเห็นดาวหางดวงนี้ได้มากที่สุด 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้งในบุคคลทั่วไป และสำหรับบางคน อาจจะไม่มีโอกาสเห็นดาวหางดวงนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต

ดาวหางที่เดินทางไกลหลายล้านกิโลเมตร เพื่อกลับมาอีกครั้งในเวลาเดิม ก็คงเหมือนกับความรักที่ซื่อสัตย์และจริงใจ ที่ไม่ว่าเมื่อไหร่เขาก็จะกลับมาจุดเดิมทุกครั้งตลอดไป และการมีใครสักคน อยู่รอดูดาวหางดวงนี้ด้วยกันสักครั้งในชีวิต ก็คงโรแมนติกน่าดู

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาล ดวงดาว และสารคดีน่ารู้อีกมากมาย ใน VIPA Best Documentary สามารถรับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, NASA, space.com 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาราศาสตร์ดาวหางฮัลเลย์ระบบสุริยะความรักเพลง
ธนบัตร ลิ้มธนสาร
ผู้เขียน: ธนบัตร ลิ้มธนสาร

RadioMan ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของวิทยุ เพลง 90 และการเดินทาง

บทความ NOW แนะนำ