แม้ในวงการวิทยาศาสตร์จะรับรู้ว่า “ดาวพุธ” (Mercury) ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะ หดตัวมาเป็นเวลาหลายพันล้านปีแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ได้หลักฐานใหม่ว่า “ดาวพุธ” กำลังหดตัวเรื่อย ๆ ทำให้ดาวเล็กลง ๆ เนื่องจากได้รับความร้อนจาก “ดาวฤกษ์” มากจนทำให้สูญเสียความร้อนภายในดาวตัวเองสู่อวกาศ ส่งผลให้ หิน (และโลหะภายใน) ในดาวจะมีปริมาตรหดตัวตามไปด้วย รวมถึงทำให้เกิด “Scarp” (สการ์ป) หรือรอยบนผิวดาว
ทั้งนี้ “ภารกิจ Mariner 10” โดย “ยาน Mariner 10” ขององค์การนาซา (NASA) ได้ค้นพบหลักฐานแรกของการหดตัวของ “ดาวพุธ” ในปี 2517 (ปี ค.ศ. 1974) ว่า เกิดจากการที่แกนในของ “ดาวพุธ” เย็นตัวลง ส่งผลให้สิ่งต่าง ๆ หดตัวและมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ โดยลองนึกภาพ “ผิวเปลือกโลก” ซึ่งคลุมแกนโลกด้านใน เมื่อแกนด้านในเล็กลง สิ่งที่คลุมก็มีพื้นที่ให้คลุมน้อยลง จึงหดตัวลงตามแกนใน อันส่งผลให้พื้นผิวเกิดรอยย่น ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สการ์ป” (เหมือนรอยย่นบนผิวแอปเปิลที่แห้งและเหี่ยว)
ศาสตราจารย์ David Rothery จาก Open University สหราชอาณาจักร ได้อธิบายว่ารู้ได้อย่างไรว่า “ดาวพุธ” หดลง ก็คือ “ดิน” ที่ตกลงมาระหว่างรอยเลื่อน 2 จุด เมื่อเปลือกโลกของ “ดาวพุธ” ถูกดันจากทั้ง 2 ข้าง จะทำให้รอยย่นมีความสูงมากขึ้น อันจะส่งผลให้ดินที่อยู่ตามแนวกลิ้งตกลงมานั่นเอง
มองให้เห็นภาพด้วยการจินตนาการถึง “แอปเปิล” ที่แห้งและเหี่ยว เมื่อเปลือกหดไปตามแกนโลกด้านในที่เล็กลง รอยย่นจะถูกดันมากขึ้นจากทั้งสองด้าน คล้ายกับผ้าปูโต๊ะที่ถูกดันทั้งสองด้าน รอยย่นจะโป่งพองออกมา (นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “Grabens” หรือกราเบนส์) ซึ่งสิ่งนี้กำลังเกิดกับ “ดาวพุธ”
เพื่อไขความกระจ่างเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น “องค์การอวกาศยุโรป” (European Space Agency: ESA) ได้วางแผนเตรียมส่งยาน BepiColombo ไปสำรวจ “ดาวพุธ” ในปี 2025 เพื่อหาคำตอบว่า ณ ตอนนี้ "ดาวพุธ" มีขนาดเล็กเพียงใด
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience, arstechnica