ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นางฟ้าไร้นาม "3 แม่พระ" ผู้เสียสละเพื่อสังคม


Lifestyle

16 พ.ย. 66

Chayanin C

Logo Thai PBS
แชร์

นางฟ้าไร้นาม "3 แม่พระ" ผู้เสียสละเพื่อสังคม

https://www.thaipbs.or.th/now/content/497

นางฟ้าไร้นาม "3 แม่พระ" ผู้เสียสละเพื่อสังคม
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หากจะกล่าวถึง “นางฟ้าไร้นาม” สมญานามของผู้หญิงที่เสียสละและต่อสู้เพื่อสังคมโดยไม่แบ่งชนชั้น ก็คงต้องยกให้ ดร.คุณเพียร เวชบุล สตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่พระของเหล่าโสเภณี ผู้บุกเบิกการรักษาด้านกามโรค ช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ 

ภาพจากละคร นางฟ้าไร้นาม

หมอเพียร เป็นแพทย์หญิงคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้านแพทยศาสตร์ สาขาสูตินารีเวชและกามโรค และเดินทางกลับสยามเมื่อต้นปี พ.ศ. 2480 ในยุคนั้นแพทย์หญิงมีบทบาททางสังคมไทยไม่มากนัก แต่หมอเพียรยังคงเดินหน้ารักษาผู้ป่วยกามโรคด้วยความห้าวหาญ ยอมเสี่ยงชีวิตปลอมตัวเป็นแม่เล้าเข้าไปช่วยรักษาเหล่าโสเภณีที่ป่วยหนักในซ่อง แม้ว่าจะต้องประสบกับความยากลำบากอันมาจากผู้มีอำนาจในสังคมก็ตาม

ภาพจากพีระยานุเคราะห์มูลนิธิ

จากการได้สัมผัสกับปัญหาด้วยตัวเอง หมอเพียรได้ก่อตั้ง “มาตาภาวนาสถาน” และสถานสงเคราะห์เด็ก “บ้านประชาอุทิศ” ภายหลังใช้ชื่อว่า พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าและแม่ที่ท้องโดยไม่ตั้งใจ  รวมถึงบ้านเกร็ดตระการ เพื่อดูแลสงเคราะห์หญิงขายบริการและเด็กเร่ร่อน ท่านอุปถัมภ์เด็ก ๆ ไว้เป็นลูกบุญธรรม 4,000 ชีวิตเป็นอย่างน้อยโดยใช้นามสกุล “เวชบุล”

นอกจาก ดร.คุณเพียร เวชบุล แล้ว ยังมี “นางฟ้าไร้นาม” อีกมากมายในสังคมที่ปิดทองหลังพระ ไทยพีบีเอสจะพาทุกคนไปทำความรู้จักไปด้วยกัน

ทิชา ณ นคร - ผู้พลิกชีวิตอาชญากรคืนสู่สังคม

ภาพจากสารคดี The Lesson

หากพูดถึงปัญหาอาชญากรเยาวชน พื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาคงหนีไม่พ้นศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ที่ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้เป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิทธิของเด็กและเยาวชนผู้ถูกกระทำความรุนแรง และเป็นพื้นที่พักพิงให้กับเยาวชนผู้เคยกระทำผิดอีกด้วย 

ย้อนกลับไปเมื่อป้ามลก้าวเข้าบ้านกาญจนาภิเษก พร้อมกับความเชื่อ “เราไม่เชื่อหรอกว่า เด็ก ๆ อยากเป็นผู้ก่ออาชญากรรม หรือใครจะเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร” ทั้งยังมีกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างเด็กกับเจ้าหน้าที่ เช่น การเขียนไดอารี่ก่อนนอนแล้วทางเจ้าหน้าที่คอยอ่านและตอบกลับ 

หากเอ่ยถึงแรงบันดาลใจของป้ามล จากการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Harper’s Bazaar กล่าวว่ามาจากความตั้งใจเดิมที่อยากจะเป็นครู เพราะการเป็นครูจะได้สอนหนังสือ ได้ทำงานทางความคิดกับเด็ก ๆ โดยถึงแม้ว่าตัวป้ามลจะเคยมีประสบการณ์ถูกให้ออกจากราชการด้วยข้อหาที่รุนแรง คือ เป็นภัยความมั่นคง หรือจะได้รับแรงเสียดทานทางสังคมมากเพียงใด แต่ความตั้งใจนี้ก็ยังเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

โดยป้ามลคอยเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กผู้เคยกระทำผิด และพยายามดึงตัวตนคนดีที่ซ่อนอยู่ในตัวอาชญากรเยาวชนทุกคนออกมา ทำให้บรรยากาศภายในบ้านกาญจนาฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่เยาวชน แม้ว่าสังคมจะตราหน้าเด็กเหล่านี้ว่าเคยก่อคดีอะไรมาก่อนก็ตาม 

ติดตามได้ที่ บ้านกาญจนาภิเษก

ธาริณี วิภูชนิน - แสงสว่างของเจ้าสี่ขา

สุนัขและแมวจรจัด นับเป็นปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ทั้งส่งผลกระทบต่อสังคมในหลาย ๆ ด้านแล้วปริมาณของสัตว์เหล่านี้ไม่มีท่าทีจะลดลงเลย แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีผู้หญิงคนหนึ่งคอยดูแล ช่วยหาบ้าน ให้เจ้าสัตว์สี่ขานี้มีชีวิตที่ดีต่อไป เขาคนนั้นก็คือ คุณธาริณี วิภูชนิน เจ้าของ PickAPet4Home ซึ่งเป็นช่องทางอาสาสมัครช่วยหาบ้านให้น้องหมาน้องแมว แต่จากที่ได้มีการพูดคุย จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาหมาแมวจรจัดมีเป็นจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดอยากให้คนหันมาสนใจสัตว์จรจัดให้มากขึ้น และให้สัตว์เหล่านี้มีชีวิต มีบ้านใหม่ที่ปลอดภัย 

โดยขั้นตอนของคุณธาริณีเริ่มจากถ่ายรูปเจ้าหมาแมวลงตามสื่อต่าง ๆ เมื่อมีคนสนใจรับดูแลก็จะมีการสัมภาษณ์ถึงความพร้อม สภาพแวดล้อม รวมถึงการจัดหา แนะนำการฉีดวัคซีนและทำหมันเพื่อตัดวงจรหมาแมวจรจัด ติดตามเรื่องราวของหมาแมวจนกว่าน้อง ๆ จะสิ้นอายุขัย นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม Puppy Cafe เพื่อให้คนมาลองเล่นลองสัมผัส พร้อมให้คำปรึกษาด้านการดูแล วัคซีน และการทำหมันแก่ผู้ที่สนใจ

ทว่าอุปสรรคสำคัญในการดูแลน้องหมาน้องแมวก็คือ สถานที่อยู่อาศัยของเธอเองที่มีเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้อาจมีกลิ่น เสียง และพฤติกรรมของน้องหมาน้องแมวรบกวนรอบ ๆ บ้านใกล้เรือนเคียง และเรื่องอายุของเธอเองทำให้เธอลดการรับอุปการะลง ถึงแม้จะมีอุปสรรคเพียงใด้แต่เธอก็ยินดีพร้อมดูแลให้น้องหมาน้องแมวมีชีวิตที่ดีขึ้น

การที่เธอได้ดูแลหรือช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้ให้มีชีวิตที่ปลอดภัยและอบอุ่น ได้อยู่บ้านใหม่ เจ้าของใหม่ที่พร้อมดูแล อุปการะน้องหมาน้องแมวอย่างเต็มที่ และการที่เธอคอยติดตามเรื่องราวของเจ้าสี่ขาอยู่เสมอทำให้เธอเป็นที่รู้จักของผู้คน และนั่นก็คือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับเธอ

คุณธาริณีได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สัตว์ทุกชนิดมีชีวิต ไม่ใช่สิ่งของที่จะทำอะไรก็ได้ ดังนั้นคิดให้ดีก่อนที่จะรับเลี้ยง เพราะสัตว์เหล่านั้นก็คืออีกชีวิตหนึ่ง ควรเลี้ยงเมื่อพร้อมจริง ๆ ทั้งสภาพแวดล้อม คนรอบตัวผู้เลี้ยง และควรพาสัตว์เลี้ยงไปรับการรักษา ฉีดวัคซีน ทำหมัน นับเป็นความรับผิดชอบที่คนเลี้ยงควรมีต่ออีกชีวิตที่เรากำลังดูแล หากไม่พร้อมก็อย่างเพิ่งเลี้ยง

ติดตามได้ที่ Pickapet4HomeBangkok

ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ - ผู้ประสานนวัตกรรมซ่อมแซมสังคม

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกเอามาพูดถึงในสื่ออยู่เสมอ เช่นการกระทำรุนแรงจากบุพการีต่อเด็กและเยาวชนด้วยการทุบตี นอกจากความรุนแรงในครัวเรือนแล้ว ยังรวมถึงความรุนแรงในความสัมพันธ์ เช่น การถูกทำร้ายร่างกายจากคนรัก นับเป็นปัญหาที่มีการพูดถึงในสังคมเพียงช่วงระยะเวลาสั้นและเงียบหายไป ทั้งยังขาดความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว เราจึงชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TIJ (Thailand Institute of Justice) และอีกบทบาทคือผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม (TIJ Justice Innovation) 

จุดเริ่มต้นการทำโปรเจกต์ให้สังคมรู้จักกับความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) และความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) มาจากความต้องการเชื่อมองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การป้องกันอาชญากรรมกับเหยื่อที่เสี่ยงถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัวหรือทางเพศ 

โดยคดีความเกี่ยวกับความรุนแรงนี้มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนในหลายด้านด้วยกัน ในแต่ละปีมีราว ๆ 15,000 - 20,000 คดี แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกลับเหลือเพียง 100 กว่าคดีเท่านั้น จึงเกิดการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น? หายไปไหน? 

และให้ความเห็นถึงการป้องกันการเกิดคดีความรุนแรงในครอบครัวว่ามาจากครอบครัว การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดสังคมที่ดี พร้อมกับอ้างอิงคำพูดของอัยการท่านหนึ่งที่จุดประกายความคิดได้เป็นอย่างดี ความว่า 

“คดีความรุนแรงมันไม่เหมือนคดีทำร้ายร่างกายอย่างอื่น
คดีอื่นคุณหนีเข้าบ้าน ทุกอย่างก็จบ
แต่คดีความรุนแรงในครอบครัว คุณหนีไปไหนไม่ได้
เพราะคนที่ทำร้ายอยู่ในบ้านคุณ”

ในเคสคดีความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นทุกวินาที ทั้งจากครอบครัว คนรัก เหยื่อที่ได้รับความรุนแรงก็ไม่กล้าบอกใครหรือไม่บอกความจริง จึงคิดนวัตกรรม Chatbot เปิดพื้นที่พูดคุย ปรึกษากับเหยื่อ พร้อมกับประสานความช่วยเหลือเพื่อความยุติธรรม โดยไม่ตัดสินเหยื่อ ข้อมูลครบถ้วนทันท่วงที และเข้าใจในผู้ถูกกระทำ ส่วนข้อมูลมาจากการรวบรวมข้อมูลของเหล่าสหวิชาชีพ ด้านสังคม ด้านสาธารณสุข และด้านกฎหมายเพื่อช่วยเหลือจนนำไปสู่การดำเนินคดีต่อไป จนนำไปสู่นวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ในหลากหลายมิติ และหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เข้ากับกลุ่มผู้ใช้งาน 

ส่วนอุปสรรคในการทำโปรเจกต์มีหลายประการด้วยกัน คือ คำพูดจากคนอื่น ที่มองว่าเป็นสิ่งที่มีคนทำแล้ว ทำไปแล้วไม่เกิดผล หรือควรให้คนอื่นทำดีกว่าไหม แต่สิ่งที่ทำให้เธอทำต่อไปคือ จำนวนความรุนแรงนั้นไม่ลดลงเลย และเพิ่มมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา 

ต่อมา การขอความมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ในการช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยแต่ละภาคส่วนทั้งจากระบบการทำงาน วิธีคิดนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้ต้องอธิบายให้เห็นภาพอยู่เสมอ และประยุกต์เอาจากประสบการณ์จากต่างประเทศมาใช้เป็นแนวทางในการทำงาน โดยมองไปที่ผู้เสียหายเป็นหลัก

และ คนลงมือทำจริง ๆ มีน้อย ปริมาณคนที่มีความสามารถด้านข้อมูล ด้านสังคม ด้านนวัตกรรมมีน้อย และการเข้าใจในปัญหาทางสังคมมีไม่มาก 

โดยกระบวนการช่วยเหลือเหล่านี้ที่เธอกำลังทำอยู่ หากมีสักคนที่ปลอดภัย รอดจากปัญหาความรุนแรงที่พบเจออยู่ เท่านี้ก็คุ้มค่ามากแล้ว

พร้อมทั้งฝากถึงสังคมว่า หากเรามองเห็นประเด็นทางสังคม เข้าใจผู้ประสบปัญหาอย่างแท้จริง เราก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ และช่วยลดปริมาณคดีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งในวันหนึ่งเราอาจเป็นเหยื่อของปัญหาสังคมได้เช่นกัน เราจึงควรหันมามองและเข้าใจประเด็นนี้กันให้มากขึ้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้หญิงทำความดีเพื่อสังคมที่ใครหลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้จัก แต่เพราะพวกเธอทำให้เรามองเห็น สนใจ ศึกษา และลงมือทำเพื่อส่วนรวม แม้ว่าจะพบเจอกับอุปสรรคนานับประการ แต่พวกเธอก็ยังคงยืนหยัดที่จะทำต่อไปอย่างไม่ย่อท้อด้วยหัวใจอย่างแท้จริง และแน่นอนว่าทุกปัญหาไม่สามารถลงมือทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่หมายถึงการร่วมมือกันช่วยเหลือสังคมให้น่าอยู่ขึ้นต่อไป

ติดตามได้ที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) 

โปสเตอร์ละคร นางฟ้าไร้นาม

ติดตามรับชม “นางฟ้าไร้นาม” ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 20.15 น. ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 

📌 รับชมละคร นางฟ้าไร้นาม อีกครั้งได้ทาง

Website : www.VIPA.me คลิก รองรับบริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption หรือ CC)
• Application #VIPA : คลิก
• เว็บไซต์ไทยพีบีเอส www.thaipbs.or.th/NangFahRaiNam 
และห้ามพลาดความเคลื่อนไหวและเบื้องหลังความสนุกของละครได้ทาง Facebook Fanpage : ละครไทยพีบีเอส คลิก

อ้างอิง
Harper's Bazaar
The Lesson by Thai PBS - ทิชา ณ นคร
พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ละครนางฟ้าไร้นามหมอเพียรคุณเพียร เวชบุลทิชา ณ นครธาริณี วิภูชนินดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์
Chayanin C
ผู้เขียน: Chayanin C

สาวก Kpop ตัวยงผู้หลงใหลเรื่องราวในอดีต เพราะโลกใบนี้ยังมีอะไรอีกมากมาย

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด