วันนี้ (27 พ.ย. 66) เป็น "วันลอยกระทง" Thai PBS Sci & Tech ชวนยลภาพจากอวกาศด้วยดาวเทียม pléiades ส่องพื้นที่“ลอยกระทง” หรือ “เผาเทียนเล่นไฟ” บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยที่มีขึ้นชื่อในเรื่องการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากเป็นประจำทุกปี
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดภาพจากอวกาศด้วยดาวเทียม pléiades ส่องพื้นที่“ลอยกระทง” หรือ “เผาเทียนเล่นไฟ” บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยที่มีขึ้นชื่อในเรื่องการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทงที่จัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่ต้องนึกถึง มีฉากหลังที่มีโบราณสถานสวยงาม นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ไปร่วมพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดไทยโบราณสวยงาม
เมื่อมองจากอวกาศ เราจะเห็นภาพบริเวณพิกัด 17.0172 ° N, 99.7034 °E ปรากฏพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ภายในประกอบด้วยโบราณสถานที่สวยงามมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดวงตาจากอวกาศดวงนี้ถูกบันทึกไว้ด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม pléiades ที่มองเห็นพื้นที่ทั้งหมดภายในอาณาบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้อย่างเด่นชัด มีขอบเขตที่ชัดเจนซึ่งประกอบไปด้วยวัดวาอารามต่าง ๆ อยู่ภายใน อาทิ วัดมหาธาตุ วัดตระพังเงิน วัดตระพังทอง วัดชนะสงคราม ฯลฯ รวมไปถึง เจดีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้คิดค้นอักษรไทยที่เรามีใช้มาจนถึงทุกวันนี้ จุดที่น่าสังเกตคือ ด้านการวางผังเมืองมีการออกแบบมาอย่างลงตัวตั้งแต่ในสมัยอดีต มีแหล่งน้ำไว้รองรับสำหรับการอุปโภค-บริโภค จนถึงปัจจุบันมีบ้านเรือนสร้างขึ้นอย่างหนาแน่นบริเวณทิศตะวันออกของอุทยานฯ
ดาวเทียม pléiades เป็นดาวเทียมที่บันทึกภาพอุทยานไว้ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติฝรั่งเศส โดยบริษัท Airbus ที่เป็นพันธมิตรกับ GISTDA เป็นดาวเทียมรายละเอียดสูง ชนิด optical รายละเอียด 50 เซนติเมตร ทำงานร่วมกันแบบ Constellation ให้รายละเอียดภาพชนิดภาพขาวดำ (Panchromatic) ได้สูงถึง 50 เซนติเมตร และ 2.00 เมตร สำหรับชนิดสี (Multispectral) สามารถถ่ายภาพซ้ำบริเวณพื้นที่เดิมเฉลี่ยได้ทุกวัน
ซึ่งประโยชน์ของภาพที่จะนำไปใช้งานในส่วนใหญ่เป็นด้านงานป้องกันและความมั่นคง สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเฝ้าระวังและรักษาความสงบในประเทศ, ด้านทรัพยากรชายฝั่งทะเล สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการรักษาความปลอดภัยทางทะเลและการใช้งานด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น การระบุกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย, เส้นทางการค้า, การตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำมันและประมงที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น และด้านการจัดการเมือง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการเมือง การติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ดูทิศทางการขยายตัวของเมือง เพื่อให้เกิดการจัดทำผังเมืองให้มีความเหมาะสมตามลักษณะของเมืองประเภทนั้น ๆ เป็นต้น
สำหรับใครที่สนใจจะไปเที่ยว การเดินทางก็สะดวกสบายพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว อุทยานฯ มีการจัดงาน 10 วัน 10 คืน ตั้งแต่วันที่ 18-27 พ.ย. นี้ นอกจากนี้ยังจะได้ตื่นตาตื่นใจกับแสงสีเสียงอย่างอลังการ มีทั้ง การแสดงโขน, การจำลองการซื้อหาอาหารในตลาดสมัยกรุงสุโขทัยโดยการแลกเบี้ย, การประกวดนางนพมาศ, การเล่นพลุตะไล ไฟส่งสว่างเต็มท้องฟ้าทุกคืน
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)