ย้ายประเทศหนีความจน อพยพไปประเทศร่ำรวย


บทความพิเศษ

18 ธ.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
ย้ายประเทศหนีความจน อพยพไปประเทศร่ำรวย

18 ธันวาคม วันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 ประกาศให้ทุกวันที่ 18 ธันวาคม เป็นวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล (International Migrants Day) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน และได้การปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ การย้ายถิ่นข้ามชาติได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภูมิภาคทั่วโลกให้ความสำคัญตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โดยองค์การสหประชาชาติได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งการย้ายถิ่นข้ามชาติ และปรากฏการณ์นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมโลกอย่างมหาศาล

ผู้อพยพย้ายถิ่นคือใคร

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: /OM) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้คำจำกัดความว่าผู้ย้ายถิ่นฐานหมายถึงบุคคลที่ย้ายออกจากสถานที่ที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายในประเทศหรือออกนอกประเทศการย้ายชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม

ซึ่งผู้ย้ายถิ่นฐานนับรวมทั้งกลุ่มที่ย้ายแบบถูกกฎหมาย กลุ่มที่ลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย และกลุ่มที่กฎหมายไม่ระบุสถานะของการย้ายไว้ว่าถูกหรือผิด เช่น นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเฉพาะการเพิ่มขึ้นของ "จำนวน" ผู้ย้ายถิ่นฐานเพียงอย่างเดียวอาจฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก เพราะจำนวนประชากรบนโลกก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณา "สัดส่วน" ของผู้ย้ายถิ่นฐานต่อจำนวนประชากรโลกควบคู่ไปด้วย

หนีความจนอพยพเข้าประเทศร่ำรวย

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งประกอบด้วย 38 ประเทศ สมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีสถานะร่ำรวย เปิดเผยว่า อัตราการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนทั่วโลกที่เข้าไปยังกลุ่มประเทศ OECD ในปี 2022 พุ่งขึ้นสูงสุดทุบสถิติใหม่ อยู่ที่ 6.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 26% ถือเป็นการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศที่มีจุดหมายเป็นประเทศร่ำรวยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นส่วนใหญ่มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ 1. วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมทั่วโลก อย่าง ภัยสงคราม การเมือง และความรุนแรง 2. ความต้องการแรงงาน ซึ่งดูจะเป็นสาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นในครั้งนี้มากที่สุด เนื่องจากกลุ่มประเทศ OECD กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ และทำให้ตัวเลขการย้ายถิ่นจากเหตุผลด้านแรงงาน เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 21%

อพยพย้ายถิ่นสู่การตั้งถิ่นฐานถาวร

ทำให้มีประเทศสมาชิก OECD มากกว่า 1 ใน 3 ที่เผชิญกับคลื่นผู้อพยพสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น ฝรั่งเศส 301,000 คน, สเปน 471,000 คน และเบลเยียม 122,000 คน ส่วนบางประเทศยังเปิดรับผู้อพยพสูงสุดทุบสถิติใหม่ในปีที่แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร 521,000 คน และแคนาดา 437,000 คน ในขณะที่ สหรัฐอเมริกา เปิดรับผู้อพยพถึง 1.05 ล้านคน รายงานของ OECD บอกอีกว่า การอพยพย้ายถิ่นของแรงงานอาจนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานถาวร มีแนวโน้มแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น 2 เท่า นิวซีแลนด์ที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากสถิติก่อนหน้านี้ จากนโยบายอนุญาตให้ผู้อพยพที่แสวงหาแรงงานอยู่อาศัยชั่วคราวได้

นอกจากนี้ อัตราการจ้างงานของผู้อพยพยังสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมากกว่า 70% มีงานประจำ และว่างงานเพียง 8% เท่านั้น ซึ่งในบางประเทศถึงขั้นว่าสัดส่วนการจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสูงกว่าพลเมืองเดิมเสียอีก ทั้งนี้คาดว่าตัวเลขการอพยพย้ายถิ่นฐานในปี 2023 นี้ อาจเพิ่มขึ้น และอาจทุบสถิติของปี 2022

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันสำคัญวันนี้ในอดีตวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ