"ทักษิณ ชินวัตร" กราบแผ่นดินครั้งแรก หลังลี้ภัยในต่างแดน จากเหตุรัฐประหาร


ประวัติศาสตร์

28 ก.พ. 67

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
"ทักษิณ ชินวัตร" กราบแผ่นดินครั้งแรก หลังลี้ภัยในต่างแดน  จากเหตุรัฐประหาร

28 กุมภาพันธ์ 2551 นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยเป็นคร้ังแรก หลังจากต้องลี้ภัยในต่างแดนเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน จากเหตุรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) 

ซึ่งทันทีที่เดินทางออกมาจากห้องรับรองวีไอพีของสนามบินสุวรรณภูมิ ทักษิณ ได้คุกเข่าก้มลงกราบแผ่นดินไทย หลังก้มลงกราบแผ่นดิน นายทักษิณได้เข้าสวมกอดครอบครัว จนเป็นภาพที่จดจำมากครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก่อนจะเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหา

ต่อมา นายทักษิณ ต้องขออนุญาต "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" เดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2551 โดยให้เหตุผลเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-10 ส.ค. 2551 และไม่เดินทางกลับไทยอีกเลย

"เมื่อได้กลับบ้านเกิดครั้งแรกหลังปฏิวัติ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หวังว่าจะได้กลับไปกราบแผ่นดินอีกครั้งแล้วตายที่นั้น"  ข้อความตอนหนึ่งของนายทักษิณ กล่าวถึงความต้องการกลับบ้าน ในหนังสือ ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน

หลังจากหนีคดีออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ยาวนานถึง 17 ปี นายทักษิณ เคยประกาศกลับไทยมาแล้ว 20 ครั้ง แต่ไม่ได้เดินทางกลับมาจริง กระทั่งครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น. เครื่องบิน Gulf Stream รุ่น G650-ER เครื่องบินส่วนตัวของ ทักษิณ ลงจอดที่สนามบินดอนเมือง เพื่อผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะแสดงหมายจับและทำบันทึกการจับกุม ส่งให้กรมราชทัณฑ์ นำตัวไปศาลฎีกาฯ ตามกฎหมาย 

จากนั้นเวลา 09.30 น.นายทักษิณ ออกมาบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสาร อากาศยานส่วนบุคคล โดยสวมสูทสีกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีขาวและเนคไทสีแดง เข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้า นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ในรอบ 17 ปี ด้วยการออกมาโบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับ สีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับครอบครัวที่มาต้อนรับอย่างอบอุ่นพร้อมหน้า คือ น.ส.แพทองธาร น.ส.พินทองทา และนายพานทองแท้ ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำตัวนายทักษิณ ส่งต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีตวันสำคัญ
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ