คล้ายกับสถานีวิทยุจส. 100 ซึ่งใช้ในการแจ้งข่าวสารทางการจราจร Aviation Briefing ก็คือการแจ้งข่าวสารทาง “การจราจรทางอากาศ” ให้แก่นักบินพาณิชย์ เพื่อให้นักบินทราบว่าเส้นทางการจราจรทางอากาศใดมีปัญหาติดขัด เช่น สภาพอากาศย่ำแย่ เพื่อให้นักบินสามารถหลบเลี่ยงได้อย่างถูกต้องและนำเครื่องบินไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย
Aviation Briefing มีหลายประเภท ตั้งแต่การแจ้งสภาพอากาศ ไปจนถึงการแจ้งเหตุฉุกเฉิน
AIRMET หรือ Airmen’s Meteorological Information คือการแจ้งข่าวสารทางสภาพอากาศให้แก่นักบินพาณิชย์ เช่น การพยากรณ์อากาศในเส้นทางการบิน สภาพอากาศเหนือท่าอากาศยานหรือลมแรง AIRMET เป็นข่าวสารสภาพอากาศทั่วไปที่ไม่ได้มีความร้ายแรงต่อความปลอดภัยของการบิน
AIRMET จะถูกแจ้งผ่านระบบ ATIS (Automatic Terminal Information Service) ของหอควบคุมการบินแต่ละหอ ซึ่งเป็นระบบแจกจ่ายข้อมูล Aviation Briefing โดยอัตโนมัติ ทำให้นักบินไม่จำเป็นต้องขอข้อมูล Aviation Briefing กับผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศแต่สามารถฟังจากระบบอัตโนมัติ ATIS ได้เลย ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศจึงสามารถไปจดจ่อกับการควบคุมการจราจรทางอากาศได้ดียิ่งขึ้น
AIRMET แบ่งได้อีกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
AIRMET SIERRA ซึ่งบ่งบอกถึงทัศนวิสัยการมองเห็นที่ลดลงจนถึงระดับ IFR (Instrument Flight Rule) ซึ่งหมายความว่านักบินไม่สามารถบินด้วยตาเปล่าได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยการบินด้วยอุปกรณ์นำทาง
AIRMET TANGO ซึ่งหมายถึงความปั่นป่วนของอากาศและลม ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียเพดานบินของเครื่องบินอย่างรวดเร็วได้ หรือที่มักจะรู้จักกันอย่างไม่ถูกต้องในชื่อ “หลุมอากาศ”
AIRMET ZULU ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศหนาวเย็นจนน้ำแข็งอาจเกาะที่ระบบควบคุมการบินของเครื่องบิน (Control Surface) ได้
AIRMET ทุกชนิดจะมีอายุข่าวสารประมาณ 6 ชั่วโมง และสามารถออกซ้ำได้ทุกเมื่อเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
SIGMET หรือ Significant Meteorological Information นั้นคล้ายกับ AIRMET แต่มีความรุนแรงกว่า มีอยู่หลัก ๆ ด้วยกัน 3 ประเภท ดังนี้
VA SIGMET (Volcanic Ash) ซึ่งหมายถึงเถ้าภูเขาไฟในอากาศ ซึ่งมีความอันตรายต่อเครื่องบินทุกชนิดที่บินผ่านเถ้าภูเขาไฟ เนื่องจากสามารถทำอันตรายกับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน ทำให้เครื่องยนต์ล้มเหลวได้
TC SIGMET (Tropical Cyclone) ซึ่งหมายถึงการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนในพื้นที่การบิน ซึ่งอาจทำอันตรายต่อเครื่องบินที่บินอยู่ในน่านฟ้าดังกล่าวได้
WS SIGMET (Weather Phenomenon) นั้นครอบคลุมเหตุการณ์ทางสภาพอากาศหลายชนิด ตั้งแต่พายุฝนฟ้าคะนอง ลมปั่นป่วน สภาพอากาศหนาวเย็น หิมะ ลูกเห็บ พายุฝุ่น พายุทราย และอื่น ๆ ในระดับที่อาจเป็นอันตรายกับเครื่องบินได้
นอกจาก SIGMET 3 ประเภทนี้แล้ว สถานีควบคุมการจราจรทางอากาศต่าง ๆ อาจจะออก SIGMET พิเศษเพื่อเตือนภัยสภาพอากาศที่เลวร้ายอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น พายุทอร์นาโด
PIREP หรือ Pilot Report คือการรายงานข้อมูลสภาพอากาศหรือข้อมูลบนพื้นผิวที่พบเจอโดยเครื่องบินที่บินอยู่ในบริเวณนั้นโดยนักบิน ต่างจาก AIRMET และ SIGMET ที่ออกโดยหอควบคุมการจราจรทางอากาศหรือสถานีพยากรณ์อากาศ ข้อมูลใน PIREP นั้นอาจจะเป็นข้อมูลสภาพอากาศทั่วไปที่นักบินรายงานกลับไปให้หอควบคุมการจราจรทางอากาศ หรืออาจจะเป็นข้อมูลด่วนที่นักบินต้องการแจ้งให้หอควบคุมทราบก็ได้
รูปแบบในการรายงาน PIREP นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ PIREP ต้องมีคือการระบุความด่วน ตำแหน่งของเครื่องบิน เวลา ระดับการบิน และชนิดของเครื่องบิน
NOTAM หรือ Notice to Airmen เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลการบินที่สำคัญที่สุดที่นักบินจะต้องให้ความสนใจอยู่ตลอดเวลาว่ามี NOTAM ถูกออกในพื้นที่ที่ตนบินอยู่หรือไม่
NOTAM นั้นนอกจากจะออกโดยหอควบคุมการจราจรทางอากาศที่ควบคุมน่านฟ้าหรือ FIR (Flight Information Region) แล้ว ยังออกได้โดยรัฐบาลของประเทศใด ๆ ก็ได้ ในปัจจุบัน NOTAM มักจะถูกออกทิ้งไว้และถูกส่งไปให้นักบินที่จะบินในพื้นที่ที่มี NOTAM โดยอัตโนมัติ
ข้อมูลใน NOTAM นั้นมักจะเป็นข้อมูลที่ต้องแจ้งให้นักบินทราบเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่นักบินไม่ทราบถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เช่น การปิดรันเวย์ การปิดปรับปรุงหอส่งสัญญาณวิทยุ (VOR) การปิดน่านฟ้าชั่วคราว (Temporary Flight Restriction: TFR) การปิดน่านฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร (No-Flight Zone: NFZ) หรือแม้แต่การปิดน่านฟ้าเพื่อปล่อยจรวด และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่อาจก่ออันตรายต่อเครื่องบินพาณิชย์ในน่านฟ้านั้น ๆ ได้
ยกตัวอย่างการออก NOTAM คือการออก NOTAM โดยประเทศรัสเซียระหว่างการรุกรานประเทศยูเครนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการยิงมิสไซล์และกระสุนปืนใหญ่ในบริเวณเขตรอยต่อระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นเหตุให้สายการบินจำนวนมากต้องหลีกเลี่ยงน่านฟ้าของประเทศยูเครน
การไม่สนใจ NOTAM นั้นอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของ Air Canada เที่ยวบินที่ 759 ซึ่งไม่ได้สังเกตถึง NOTAM ที่แจ้งว่ามีการปิดรันเวย์เกิดขึ้น (รันเวย์ 28L) ขณะที่เที่ยวบิน 759 ถูกสั่งให้ลงที่รันเวย์ 28R
ในขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน การปิดรันเวย์หมายความว่าไฟของรันเวย์ก็จะถูกปิดไปด้วย ทำให้นักบินเข้าใจผิดว่ารันเวย์ 28R เป็น 28L และเห็น Taxiway ที่อยู่ข้าง ๆ เป็นรันเวย์ 28R แทน นักบินจึงเกือบนำเครื่องบินลงบน Taxiway ที่ในขณะนั้นมีเครื่องบินอีก 4 ลำ จอดต่อคิวเพื่อรอนำเครื่องขึ้นอยู่
อย่างไรก็ตาม ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศสังเกตเห็นถึงความผิดปกติก่อนและแจ้งให้ Air Canada เที่ยวบินที่ 759 ยกเลิกการลงจอด (Go Around) ได้ในเพียงเวลาไม่กี่วินาทีก่อนที่เครื่องบินจะแตะพื้นและชนกับเครื่องบิน 4 ลำที่ต่อคิวอยู่
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech