พนักงานบริษัทเอกชนหญิง วัย 54 ปี ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ เธอเคยมีชีวิตที่ปกติสุข มีบ้าน มีรถ และเงินเก็บหลักล้านบาท ที่มาจากการตั้งใจทำงานมาเกือบทั้งชีวิต เพื่อเตรียมตัวเกษียณในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันเธอต้องกลายมาเป็นหนี้สินกว่า 5 ล้านบาท และยังต้องสูญเสียทรัพย์สินที่สะสมมาหลายสิบปีไปในชั่วพริบตา เพราะหลงเชื่อการชักชวนให้ลงทุนออนไลน์ ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาอย่างแนบเนียน
จุดเริ่มต้นของ "ร้านค้าออนไลน์" ในฝัน
จุดเริ่มต้นของหายนะในครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวเดือน พฤศจิกายน 2567 หลังจากหญิงวัย 54 ปี รายนี้ ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่รู้จักผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งแนะนำให้เธอรู้จักกับแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า "TK Shop" ซึ่งมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มของติ๊กตอก (TikTok) ที่ให้บริการในต่างประเทศ โดยหลอกล่อให้เธอลงทุนด้วยการอ้างว่า ไม่ต้องสต๊อกสินค้า ไม่ต้องจัดส่งเอง เพียงแค่เปิดร้านผ่านแอปพลิเคชัน และรอรับค่าคอมมิชชัน 20% พร้อมเงินต้นทุนคืนจากยอดขาย
สิ่งที่เธอไม่รู้ในตอนนั้นคือ "แพลตฟอร์มนี้ไม่มีอยู่จริง" และผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือ "ขบวนการหลอกลวงออนไลน์เต็มรูปแบบ"
รูปแบบกลลวง
แม้เธอจะระมัดระวังตัว และพยายามสอบถามความปลอดภัยจาก "เจ้าหน้าที่" ที่แนะนำเธอ แต่แท้จริงแล้ว "เจ้าหน้าที่" คนนั้น ก็คือมิจฉาชีพที่หลอกลวงเธอมาตั้งแต่ต้น
หลังจากเธอสมัครแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวได้ไม่นาน ก็มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาในทันที ซึ่งเมื่อแปลงเป็นเงินไทยแล้วพบว่า คำสั่งซื้อดังกล่าว มียอดชำระเป็นเงินดอลลาร์ จำนวน 3,000 บาท เธอยอมรับว่า ยอดสั่งซื้อสินค้า 2 ครั้งแรก เธอได้เงินตอบแทนกลับมาจริง แต่เมื่อเข้าสู่คำสั่งซื้อที่ 3 ก็เริ่มมียอดคำสั่งซื้อกว่า 500,000 บาท เข้ามา และนับตั้งแต่นั้น ก็เป็นฝ่ายของเธอที่ต้องโอนเงินให้กับมิจฉาชีพเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะการถอนเงินจะมีอุปสรรคต่าง ๆ โดยแอปฯ ปลอมจะอ้างว่า เกิดข้อผิดพลาดเพราะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องชำระเงินสำหรับคำสั่งซื้อใหม่เสียก่อน จึงจะสามารถปลดล็อกการถอนเงินทั้งหมด
ด้วยความเสียดายเงินลงทุน เธอเลือกที่จะเติมเงินเพิ่มเข้าไปเรื่อย ๆ จนเงินเก็บรวมกว่า 1 ล้านบาท หายวับไปภายในไม่กี่ชั่วโมงเพียงเท่านั้น
กลลวงหลอกซ้ำซ้อน
การสูญเสียเงินเก็บกว่า 1 ล้านบาท ในครั้งแรก ถือว่าส่งผลกระทบต่อเธออย่างหนัก แต่การถูกหลอกให้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันในครั้งที่สอง จากคำแนะนำของมิจฉาชีพ กลับสาหัสยิ่งกว่า แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นทางออก แต่เมื่อเธอกำลังจะได้เงินสำหรับใช้แก้ปัญหา แอปพลิเคชันเงินกู้กลับอ้างว่า เธอทำผิดเงื่อนไขในการกู้เงินต่าง ๆ และจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำเงินกู้จำนวน 3 เท่า เพื่อที่จะได้ยอดเงินกู้และเงินค้ำประกันทั้งหมดคืน ด้วยความเสียดาย ทำให้เธอยอมทำตามคำสั่งนั้น
ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2567 - กุมภาพันธ์ 2568 ตลอดระยะเวลาเพียง 4 เดือน เธอโอนเงินไปถึง 47 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 5,700,000 บาท ต้องเป็นหนี้สินจากการนำที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง รถยนต์ 1 คัน ไปจำนอง และต้องเป็นหนี้บัตรเครดิตกับสินเชื่อรวม 13 แห่ง
เสียงเตือนที่ถูกละเลย
แม้ในช่วงที่เธอถูกหลอกในครั้งแรก ตัวของเธอจะมีคนในครอบครัวทักท้วงอยู่บ้าง แต่เธอกลับยอมทำทุกอย่างเพราะคำว่า "เสียดาย" ซึ่งคำ ๆ เดียว ทำให้เธอตกลงไปสู่หลุมพรางของมิจฉาชีพอย่างถลำลึกจนหมดตัว
"ตอนนั้นคิดแค่ว่า อยากได้เงินคืน ไม่คิดเลยว่าตัวเองจะตกหลุมลึกขนาดนี้"
ผลกระทบจากตัวจริง
ณ วันนี้ หญิงวัย 54 ปี ต้องกลายเป็นคนที่มีหนี้สินล้นตัว บ้านที่อาศัยอยู่ทั้งของตนเองและของครอบครัว ที่อยู่ระหว่างกำลังก่อสร้าง ต้องติดจำนองกับธนาคาร รายได้จากเงินเดือนทั้งหมดถูกใช้ไปกับการผ่อนหนี้สิน จนแทบไม่เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากผลกระทบต่อชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนทำให้เธอกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าอีกด้วย
ถอดรหัสกลลวง
กลลวงที่มิจฉาชีพใช้ในกรณีนี้มีหลายรูปแบบ ดังนี้
- ใช้แพลตฟอร์มปลอมแอบอ้างแพลตฟอร์มชื่อดัง
- สร้างระบบซื้อขายหลอกลวงที่มีผลตอบแทนสูงผิดปกติ
- อ้างว่าต้องเติมเงินเพื่อปลดล็อกการถอน
- หลอกซ้ำด้วยการปลอมแปลงแอปพลิเคชันเงินกู้
- ใช้ความเสียดายเงินต้นเป็นเครื่องมือควบคุมเหยื่อ
แนวทางป้องกันตนเองจากกลลวงลักษณะนี้
- ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม ก่อนลงทุนทุกครั้ง
- อย่าเชื่อผลตอบแทนที่สูงเกินจริง โดยไม่ต้องทำอะไร
- ระวังแอปพลิเคชันปลอม และแอปเงินกู้ที่ไม่ผ่านการรับรอง
- หากสูญเสียเงินไปแล้ว อย่าโอนเพิ่มเด็ดขาด แม้มิจฉาชีพจะอ้างว่าเป็น "ทางแก้"
- ปรึกษาคนใกล้ตัว, ผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เมื่อเกิดความสงสัย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
จิตวิทยาสายมืด : รู้ทันเทคนิคที่ "มิจฉาชีพ" ใช้หลอกลวงเหยื่อ
https://www.thaipbs.or.th/now/content/2148
จิตวิทยาสายมืด : รู้ทันเทคนิคที่ "มิจฉาชีพ" ใช้หลอกลวงเหยื่อ
www.thaipbs.or.th/now/content/2148
ตัวจริงเตือนภัย ! จากหา "งานเสริม" กลายเป็น "สูญเงินแสน"
http://www.thaipbs.or.th/verify/article/content/1470
ตัวจริงเตือนภัย ! ลวงซ้ำซ้อน หลอกลงทุนออนไลน์-กู้แอปฯ
www.thaipbs.or.th/verify/article/content/1483
ตัวจริงเตือนภัย ! เมื่อ “รัก” คือเครื่องมือ “ลวง” ผ่านโลกออนไลน์
www.thaipbs.or.th/verify/article/content/1498