แชร์

Copied!

วิธีสังเกต “เพจ-โฆษณาปลอม” เมื่อวิธีตรวจสอบเดิม ๆ เริ่มเชื่อถือไม่ได้

6 พ.ค. 6817:22 น.
วิธีสังเกต “เพจ-โฆษณาปลอม” เมื่อวิธีตรวจสอบเดิม ๆ เริ่มเชื่อถือไม่ได้
ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือก "เชื่อ" ยอดไลก์และยอดติดตามของเพจต่าง ๆ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Facebook แต่จะวางใจได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อวันนี้ "เพจปลอม" ระบาดหนักจนแยกแทบไม่ออกจากของจริง Thai PBS Verify รวบรวมวิธีตรวจสอบเบื้องต้นไว้ที่นี่

หลายคนอาจเคยเห็นเพจที่มีชื่อคล้ายแบรนด์ดัง สื่อสาธารณะ หน่วยงานรัฐ หรือร้านค้าออนไลน์ชื่อดัง ที่มียอดติดตามหลายพันคนหรือหลักแสน แต่แท้จริงแล้วนี่อาจเป็นเพียงเครื่องมือของ “มิจฉาชีพ” ในการหลอกลวงเหยื่อ

ดูยอดติดตามไม่ได้แปลว่าปลอดภัย

ปัจจุบันหลายเพจปลอมมีการลงทุนซื้อยอดติดตาม หรือสร้างกิจกรรมลวงเพื่อเพิ่ม Engagement ให้ดูน่าเชื่อถือ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “เหยื่อล่อ” ที่ทำให้ผู้ใช้รีบคลิก รีบแชร์ หรือกรอกข้อมูลโดยไม่ทันได้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เพจนั้นเป็นของจริงหรือไม่ เช่น

  • แจก iPhone / เงินสด
  • เปิดรับสมัครงานพาร์ตไทม์
  • แจ้งข่าวด่วนจาก “สำนักข่าว” ปลอม
  • โปรโมชั่นราคาถูกเกินจริงจากร้านดัง

ลวงเหยื่อจากความเหมือน เพื่อหลอกให้โอน

ไม่นานมานี้ มีกรณีที่ผู้เสียหายหลงเชื่อเพจที่แอบอ้างเป็นรีสอร์ทชื่อดัง โดยเพจภาพโปรไฟล์เหมือนกันทุกอย่าง ใช้รูปสถานที่เหมือนกัน และมียอดติดตามหลายพันคน เปิดรับจองที่พักในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในราคาถูก ปรากฏว่าเมื่อเหยื่อโอนเงินไปแล้วก็ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ทั้งหมดเป็นเพจปลอมที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเงินโดยเฉพาะ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเพจนั้น ของจริง"?

เราสามารถ "เช็ก" ก่อน "เชื่อ" ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  • ตรวจสอบเครื่องหมาย "ยืนยันตัวตน" (Verified Badge) : เพจทางการจะมีเครื่องหมายถูกสีน้ำเงินหรือสีเทา (แล้วแต่แพลตฟอร์ม) อยู่ข้างชื่อ
  • ตรวจสอบเลขบัญชี : หากเป็นเลขบัญชีที่ไม่ตรงกับชื่อของเพจหรือร้านค้านั้น ๆ โดยเฉพาะหากเป็นชื่อบุคคลธรรมดา ให้สงสัยไว้ว่าอาจเป็นเพจปลอม
  • ดู URL หรือชื่อผู้ใช้ : เพจปลอมมักจะมีชื่อสะกดผิด หรือเติมอักขระแปลก ๆ
  • เข้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน/แบรนด์นั้น ๆ : ส่วนใหญ่จะมีลิงก์แนบโซเชียลมีเดียทางการไว้ให้ตรวจสอบ
  • ระวังลิงก์และแบบฟอร์มกรอกข้อมูลส่วนตัว : ไม่ควรกรอกเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลบัญชีธนาคารในลิงก์ที่ไม่มั่นใจ

สังเกตอย่างไร? โฆษณาปลอมที่แฝงมากับเพจ

ไม่ใช่แค่เพจปลอมเท่านั้นที่อันตราย แต่ “โฆษณาปลอม” ที่แฝงตัวในโพสต์หรือแบนเนอร์บนโซเชียลก็อันตรายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะพวกที่พาไปยังเว็บไซต์ปลอม หลอกให้กรอกข้อมูล หรือซื้อสินค้า

วิธีสังเกตโฆษณาปลอมง่าย ๆ มีดังนี้

  • ราคาเกินจริง – ลดเยอะผิดปกติ : เช่น iPhone 15 ราคา 1,990 บาท หรือทองคำแท่งฟรีเพียงแค่แชร์โพสต์ ไม่มีทางที่ของดีจะถูกแบบนั้น
  • ลิงก์แปลก ๆ ไม่ใช่เว็บทางการ : เว็บไซต์ปลอมมักใช้ชื่อคล้ายของจริง เช่น www.shoppee-th.com หรือ www.lazada888.net สะกดคล้าย ๆ แต่ไม่ใช่ของแท้
  • รีวิวปลอม – ใช้ชื่อคนดังโดยไม่ได้รับอนุญาต : โฆษณาปลอมมักใช้รูปดารา นักการเมือง หรือผู้มีชื่อเสียงมาอ้างว่าใช้สินค้า ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นไม่เคยรู้เรื่อง
  • แสดงความคิดเห็นดูผิดปกติ : หากมีแต่คอมเมนต์ชมเชยสั้น ๆ ซ้ำ ๆ เช่น "ได้ของแล้วค่ะ" "ส่งเร็วมาก" จากบัญชีที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ นั่นคือสัญญาณว่าอาจเป็น "คอมเมนต์ปลอม" เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเทียม
  • เร่งให้โอนทันที / โปรหมดในเวลาเร้าใจ : เช่น "ภายใน 30 นาทีแรกเท่านั้น!" หรือ "เหลือแค่ 5 ชุดสุดท้าย!" พฤติกรรมเร่งให้ตัดสินใจเร็ว มักเป็นกลลวงเพื่อไม่ให้คุณมีเวลาคิดหรือตรวจสอบให้ถี่ถ้วน

ตำรวจเตือนเลี่ยงการซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก

พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เปิดเผยถึงรูปแบบการหลอกลวงเหยื่อด้วยเพจ - โฆษณาปลอม ของมิจฉาชีพในปัจจุบันว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่รับเพิ่มยอดผู้ติดตามโดยเฉพาะกรณีที่เพจที่เพิ่งถูกสร้างใหม่ และต้องการผู้ติดตามเพิ่ม ก็สามารถที่จะค้นหาบริการเพิ่มผู้ติดตาม ซึ่งผู้ให้บริการเพิ่มยอดผู้ติดตามนั้น ก็จะมีบัญชีของเฟซบุ๊กหลายบัญชี เพื่อนำมาปั๊มยอดผู้ติดตาม ซึ่งสามารถเลือกจำนวนได้ตามราคา

สำหรับการที่จะดูเพจจริงหรือปลอมในปัจจุบันนั้น อันดับแรกจะต้องเป็นเพจที่มีเครื่องหมายถูกสีฟ้า (Verify Badge) เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นเพจจริง หรือหากเป็นร้านค้า ถ้าหากมีสัญลักษณ์เครื่องหมายถูก ก็จะเป็นการแสดงว่าเป็นร้านค้าจริง

อย่างไรก็ตามหากไม่มีเครื่องหมายถูกก็สามารถที่จะสังเกตได้จากความน่าเชื่อถือของเพจ ซึ่งในสมัยก่อนนั้น ได้มีการระบุว่า ให้สังเกตจากจำนวนของผู้ติดตาม แต่ปัจจุบันนับตั้งแต่ที่ได้มีการจับผู้ต้องหาได้เพิ่มมากขึ้น กลับพบว่ามิจฉาชีพมีการปรับปรุงเพจของตน เช่น กรณีเพจขายทุเรียนปลอม พบว่ามิจฉาชีพมีการซื้อเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ก่อนจะนำมาเปลี่ยนชื่อเพจ ซึ่งการเปลี่ยนชื่อเพจนั้น จะเลือกตามเทศกาล หรือฤดูกาลของสินค้า หรือผลไม้ที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วงนั้น ๆ เช่น ฤดูกาลของทุเรียน มิจฉาชีพก็จะมีการเปลี่ยนไปใช้ชื่อของสวนทุเรียนชื่อดังต่าง ๆ ก่อนจะลงโพสต์ขายทุเรียน แต่สิ่งที่ทำให้เพจปลอมเหล่านี้ดูน่าเชื่อถือ คือมิจฉาชีพจะมีการจ้างคนทั่วไปให้เข้ามาคอมเมนต์ ว่าซื้อแล้วได้จริง ซื้อแล้วได้ของแท้ หรือซื้อได้ในราคาถูก ซึ่งเมื่อมีผู้หลงเข้าไปในเพจนั้น ก็อาจจะหลงเชื่อว่า เพจปลอมดังกล่าวเป็นเพจจริง และหลงโอนเงินให้กับเหล่ามิจฉาชีพในที่สุด

อันดับต่อมาคือ ควรตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่าเพจนั้น ๆ ถูกสร้างมานานหรือไม่ หากเป็นร้านค้าที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน แต่เพจกลับเพิ่งถูกสร้างมาไม่นาน ก็ถือเป็นข้อสังเกตหนึ่ง

ตัวอย่างเพจปลอมที่เพิ่งถูกสร้างมาได้ไม่นาน

 

นอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนชื่อเพจหลายครั้ง ก็สามารถสงสัยได้ว่า เพจดังกล่าวจะเป็นเพจปลอม เพราะธุรกิจมักไม่มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง

และอีกข้อที่ต้องตรวจสอบคือ ผู้ดูแลเพจที่หากเป็นเพจของร้านค้าหรือสินค้าที่อยู่ในประเทศไทย แต่ผู้ดูแลเพจกลับอยู่ในต่างประเทศ ให้เชื่อได้เลยว่า เพจดังกล่าวเป็นเพจปลอม ทั้งนี้หากต้องการซื้อสินค้าใด ๆ ก็ตาม แนะนำให้ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อถือได้ หรือ แพลตฟอร์มที่มีตัวกลางในการซื้อ-ขาย และหลีกเลี่ยงการโอนตรงไปยังเพจต่าง ๆ หากไม่มั่นใจ

หากพบเพจต้องสงสัย ให้กด “รายงาน” ทันที และหากเผลอหลงเชื่อจนให้ข้อมูลส่วนตัวไปแล้ว ควรรีบติดต่อธนาคาร สำนักงานตำรวจไซเบอร์ หรือสายด่วน 1441 เพื่อขอคำปรึกษา และหากพบหรือสงสัยว่าภาพหรือข่าวที่ได้รับเชื่อถือได้หรือไม่ สามารถส่งเรื่องราวต่าง ๆ มาแจ้งทีมงาน Thai PBS Verify ได้ทาง Inbox Facebook : https://m.me/ThaiPBSVerify หรือ Email : Verify@thaipbs.or.th