EN

แชร์

Copied!

5 เช็กลิสต์ก่อนซื้อสังฆทาน

10 พ.ค. 6809:09 น.
5 เช็กลิสต์ก่อนซื้อสังฆทาน
การทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน ถือเป็นเรื่องที่หลายคนยึดถือปฏิบัติในวันสำคัญทางศาสนา หรือเพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้ชีวิต แต่รู้หรือไม่ว่า ของในสังฆทานสำเร็จรูปหลายชุด อาจกลายเป็นภาระให้พระมากกว่าประโยชน์?

ทำบุญด้วยปัญญา ได้บุญทั้งผู้ให้และผู้รับ

เช็กลิสต์ก่อนซื้อสังฆทาน

Thai PBS Verify รวบรวม เช็กลิสต์ก่อนซื้อสังฆทาน เพื่อให้คุณมั่นใจว่า ของที่ถวายไปนั้นใช้ได้จริง และไม่สร้างภาระให้พระสงฆ์

1. หลีกเลี่ยงของหมดอายุ - ตรวจฉลากให้ดี

  • สังฆทานสำเร็จรูปบางชุดมีสินค้าใกล้หมดอายุ หรือบรรจุของคุณภาพต่ำ การเลือกซื้อจึงต้องตรวจวันผลิต, วันหมดอายุ และสภาพบรรจุภัณฑ์ทุกครั้งก่อนซื้อ

2. ของใช้ในชีวิตประจำวันสำคัญที่สุด : พระสงฆ์ถือเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ดังนั้นของในสังฆทานจึงไม่ต้องการของหรูหรา แต่เน้นของที่ใช้ได้จริง เช่น

  • ยาสามัญประจำบ้าน (พาราเซตามอล เบตาดีน ผงเกลือแร่)
  • สบู่, แชมพู, ยาสีฟัน (ไม่มีส่วนผสมของเมนทอลแรง)
  • ผ้าไตร, จีวร, ผ้าเช็ดตัว
  • ธูป, เทียน, ไฟฉาย, ถ่านไฟฉาย

3. หลีกเลี่ยงของต้องห้ามหรือไม่จำเป็น : บางชุดสังฆทานมีของที่พระใช้ไม่ได้ หรือไม่ควรใช้ เช่น

  • กาแฟ 3-in-1 (บางชนิดมีน้ำตาลสูงเกินไป)
  • น้ำหอม หรือของที่มีกลิ่นฉุน
  • เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
  • ขนมกรุบกรอบ

4. จัดเองเพื่อให้ได้ของที่ดีกว่า

  • หากมีเวลาและตั้งใจจริง การจัดสังฆทานด้วยตนเองถือเป็นทางเลือกที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะคุณสามารถเลือกของที่เหมาะสม คัดของคุณภาพ และใส่ใจในรายละเอียดได้มากกว่าการซื้อสังฆทานแบบชุดสำเร็จ

5. สอบถามวัดก่อนถวาย

  • บางวัดอาจมีความต้องการเฉพาะ เช่น ยา เวชภัณฑ์ หรือของใช้ในวัดอื่น ๆ ดังนั้นการสอบถามล่วงหน้าจะช่วยให้คุณ ถวายสิ่งที่พระจำเป็นต้องใช้จริง ๆ

สังฆทานถือเป็นสินค้าควบคุมฉลาก

นายอนุพงษ์ เจริญเวช อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก (สคบ.) ระบุว่า ชุดสังฆทาน และ ชุดไทยธรรม ได้ถูกกำหนดให้เป็น สินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าที่อาจหมดอายุหรือไม่มีคุณภาพ และเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้รับสิ่งของที่ปลอดภัยและเหมาะสม

นายอนุพงษ์ เจริญเวช ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก (สคบ.)

ทั้งนี้ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่องให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็น สินค้าที่ควบคุมฉลาก ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย หากไม่แสดงรายการสินค้า, ไม่แสดงวันหมดอายุ, ไม่แสดงชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับข้อกำหนดที่สำคัญสำหรับฉลากชุดสังฆทานและชุดไทยธรรม ตามประกาศดังกล่าว ฉลากของชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมต้องแสดงรายละเอียดดังนี้

  • รายการสินค้า ที่บรรจุในชุด
  • จำนวน และ ราคา ของสินค้าแต่ละรายการ
  • ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย
  • วันเดือนปีที่ผลิต และ วันหมดอายุ ของสินค้าแต่ละรายการ
  • คำเตือน หรือข้อแนะนำในการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้า (ถ้ามี)

หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว อาจมีความผิดตามกฎหมาย และต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม หากมีสินค้าที่ถูกนำมารวมกันในชุดสังฆทาน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสี, กลิ่น หรือรสชาติ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้คือพระสงฆ์ ก็ต้องระบุคำเตือนไว้ในฉลาก เช่น ใบชา, สบู่ หรือผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี, กลิ่น, หรือรส ที่เปลี่ยนแปลงไปจนอาจกลายเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้นผู้ผลิตควรแยกสินค้าเหล่านั้นออกจากกัน เป็นการเตือนให้ผู้บริโภคคือพระสงฆ์ได้ทราบก่อนว่าในชุดสังฆทานมีสินค้าที่อาจมีปฏิกิริยากัน

การถวายสังฆทานไม่ใช่เพียงแค่ให้แล้วจบ แต่คือการให้ที่มีสติและความเข้าใจ เพื่อให้ของที่เรานำไปนั้น ไม่เป็นเพียงสิ่งของที่ถูกทิ้ง แต่เป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์และวัดอย่างแท้จริง