ในยุคที่มิจฉาชีพแฝงตัวมาในรูปแบบที่แนบเนียนกว่าที่เคย สถิติล่าสุด จาก Whoscall เผยว่า ปี 2567 คนไทยถูกโทรและส่ง SMS หลอกลวงมากถึง 168 ล้านครั้ง! ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 112% ภายในแค่ 1 ปี! ดูข้อมูลจากปี 2567 ผ่านฐานข้อมูลการแจ้งเตือนภัยไซเบอร์ระดับประเทศ พร้อมอัปเดตการป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ใหม่เพิ่มเติม ในวันที่ 30 มิ.ย. 68 นี้ กับ Thai PBS Verify
ข้อมูลพบโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้นทุกปี
กชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall) เปิดเผยถึง สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทย ผ่านการรายงานมิจฉาชีพ จากสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์ต่าง ๆ และฟีเจอร์ตรวจสอบข้อมูลรั่วไหล ซึ่งพบว่า สายโทรศัพท์ และข้อความ SMS หลอกลวง สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยปี 2567 ที่ผ่านมา มีสายมิจฉาชีพและ SMS หลอกลวงรวมกันถึง 168 ล้านครั้ง แบ่งเป็น สายจากมิจฉาชีพ 38 ล้านครั้ง และ SMS หลอกลวง จำนวน 130 ล้านครั้งด้วยกัน

กชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall)
ทั้งนี้หากเทียบกับปี 2566 พบว่า มีสายโทรศัพท์มิจฉาชีพจำนวน 20.8 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 85% ขณะที่ข้อความ SMS หลอกลวง มีเพียง 58 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 123%
ส่วนปี 2567 Whoscall ตรวจพบ สายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงสูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย โดยในส่วนของจำนวนการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 ซึ่งกลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงาน และหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน การหลอกว่าเป็นหนี้ ขณะที่กลวิธีหลอกลวงใน SMS ที่พบอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การชักชวนเล่นพนัน การปลอมเป็นบริษัทขนส่งพัสดุ การแอบอ้างเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน องค์กร และหน่วยงานรัฐ
อย่างไรก็ตามหากแยกข้อมูลเป็นรายวันพบว่า ใน 1 วัน Whoscall สามารถปกป้องผู้ใช้จากการถูกหลอกลวงผ่านการโทรและข้อความ SMS ได้ถึง 460,000 ครั้ง
นอกจากนี้พบว่า ข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิง เช่น ข้อความ SMS ที่หลอกให้กู้เงิน และโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด นอกจากนี้กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัล วอลเล็ต
ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
ในรายงานประจำปีครั้งนี้ยังได้เปิดเผยถึงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล โดยผลการวิเคราะห์พบว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บ และดีพเว็บ ในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 88% เป็น อีเมล และ 97% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย
สำหรับข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลก่อนการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในเมียนมาและล่าสุดในกัมพูชา ส่วนข้อมูลของประชาชนที่ใช้แอปพลิเคชันรวมถึงมาตรการป้องกันการหลอกลวงล่าสุดจะเป็นอย่างไร สามารถมาติดตามข้อมูลดังกล่าวกับ คุณกชศร ที่จะขึ้นพูดในหัวข้อ ใครโทรมาหลอก ? เปิดโปงอาชญากรรมไซเบอร์ ด้วย Data กับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส โดย สำนักสื่อดิจิทัล ภายในงาน “Thai PBS Verify Talk: #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง” ครั้งแรก ! ของการรวมตัว 13 Speakers 12 Sessions บนเวทีทอล์กเดียวกันที่จะมาเติมเต็มข้อมูล เจาะลึกทุกแง่มุม เพื่อให้คุณรู้ก่อนแชร์ แยกแยะก่อนเชื่อ หยุดแชร์ข่าวลวงให้หมดไปจากหน้าฟีด ในวันจันทร์ที่ 30 มิ.ย. 68 เวลา 12.30 – 16.45 น. ณ คอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต พร้อมชมบูทนิทรรศการจาก Thai PBS Verify และรายการสถานีประชาชน
12 หัวข้อ จาก 13 ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวลวง
#1 : จากหน้างาน…สู่หน้าฟีด ปิดเกมข่าวปลอมในภาวะวิกฤต โดย รศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพฯ
#2 : Deepfake .. ภัยเงียบจาก AI ความท้าทายใหม่ของสื่อ โดย คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล Thai PBS
#3 : ใครโทรมาหลอก ? เปิดโปงอาชญากรรมไซเบอร์ ด้วย Data โดย คุณกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall)
#4 : จากสายร้องเรียน สู่ความจริงที่ตรวจสอบได้ โดย คุณกานดา จำปาทิพย์ บรรณาธิการ รายการสถานีประชาชน สำนักข่าว Thai PBS
#5 : ล่า ล้วง ลึก ! “ข่าวปลอม” กับดักหลอนในโลกไซเบอร์ โดย พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.ก. (CIB)
#6 : เกมลวงข่าว ข่าวลวงคน โดย คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการบริหาร ด้านข่าวสืบสวน สำนักข่าว Thai PBS
#7 : “รัฐบาล vs ข้อมูลเท็จ” ในยุคแห่งความไม่ไว้วางใจ โดย คุณอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (TBC)
#8 : เราเช็กได้ ! นโยบายเท็จหรือทิพย์ โดย คุณอรุชิตา อุตมะโภคิน ผู้จัดการกลุ่มงานด้านนวัตกรรมการสื่อสาร The Active – Thai PBS
#9 : Fake News กับการเมืองไทย เมื่อข้อมูลกลายเป็นอาวุธ โดย คุณพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า
#10 : “ข่าวป่วน” ยุคโลกวุ่น โดย คุณแคลร์ ปัจฉิมานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World
#11 : รู้ทัน รับมือ ปิดกั้นข่าวลวง #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด โดย คุณสิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach & Partnerships Manager, TikTok
#12 : “เหยื่อวิทยา” ความ “กลัว -โลภ- รัก” ถูกมิจฯ นำมาลวง โดย ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร มหาวิทยาลัยมหิดล
#13 : “รัฐบาล vs ข้อมูลเท็จ” ในยุคแห่งความไม่ไว้วางใจ โดย คุณวงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง
ลงทะเบียนร่วมงานฟรี
แล้วพบกัน ! วันจันทร์ที่ 30 มิ.ย. 68 เวลา 12.30 – 16.45 น. ณ คอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D ไทยพีบีเอส ถ.วิภาวดีรังสิต
ผู้ที่สนใจลงทะเบียนร่วมงานฟรี ! ทาง LINE @ThaiPBS เพิ่มเพื่อนได้ที่ www.thaipbs.or.th/AddLINE แล้วพิมพ์คำว่า “ลงทะเบียน” ลงในช่องแชต หรือ คลิกที่นี่
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025