พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า แม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต แต่บทบาทการเมืองที่ผ่านมาและต่อจากนี้ ทำให้เธออธิบายภาพการทำงานของข้อมูลเท็จ ข่าวปลอมและบิดเบือนที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทำลายความเชื่อมั่นระดับตัวบุคคลอย่างนักการเมือง แต่ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชัง ลดทอนความเป็นมนุษย์ และทำลายระบบการเมืองแบบกติกาประชาธิปไตยได้อย่างง่ายดาย
พรรณิการ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นหัวใจของการทำงานคือ “Trust” หรือ ความเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมือง เพราะการได้มาซึ่งความเชื่อใจจากประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุด และในขณะเดียวกันก็สามารถสูญเสียไปได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่ Disinformation (ข่าวปลอม) และ Misinformation (ทำให้เข้าใจผิด) กลายเป็นอาวุธที่สามารถทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองได้อย่างรวดเร็ว
“ความเชื่อใจไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านการพิสูจน์ การลงมือทำ และความสม่ำเสมอซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเวลา ไม่รู้กี่เดือนกี่ปีกว่าประชาชนจะเชื่อใจคุณได้ แต่ว่าความไว้วางใจนั้นกลับสามารถพังทลายลงได้ภายในเวลาอันสั้นเพียงเพราะข่าวปลอมข่าวลวงที่ถูกปล่อยออกมาอย่างจงใจ”
จากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ถึงแพทองธาร: วาทกรรมเกลียดชังซ้ำรอยเดิม
ข่าวปลอมในบางกรณีถูกนำมาใช้เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกล่าวถึง จนเข้าข่ายเป็นวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ซึ่งส่งผลให้ผู้รับสารเกิดความรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำนั้นอีกต่อไป
“กรณีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขายบริการทางเพศ หรือ คนขายชาติ วันนี้เราเริ่มได้ยินคำพูดลักษณะแบบนี้กับคุณแพทองธาร ชินวัตร ทำให้เราเกลียดคน ๆ หนึ่ง โดยไม่สนใจหลักการใด ๆ ถ้ากรณีพรุ่งนี้ คุณแพทองธารถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยศาลรัฐธรรมนูญ คนจำนวนมากไม่รู้สึกแล้วว่ามันคือ นิติสงคราม คนจำนวนมากไม่มองว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่นายกฯ ที่มาจากระบบการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตยถูกองค์กรอิสระสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่และอาจถูกถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง”
“หลายคนอาจลืมตั้งคำถามไปแล้วว่า ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งถึงสองคน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน คือ “ไม่ซื่อสัตย์สุจริต” และ “ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ทั้งที่ยังไม่มีการชี้ชัดว่า ความซื่อสัตย์สุจริตในระดับใดจึงจะเพียงพอให้เป็นที่ยอมรับ”
พรรณิการ์ชี้ว่า นี่คืออันตรายจากการใช้ข่าวปลอม (disinformation) อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนสามารถบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อนักการเมือง และทำลายความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในตัวบุคคล ไม่ว่าพวกเขาจะเผชิญกับสถานการณ์เช่นใดก็ตาม
“บางคนสะใจกับเหตุการณ์ที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร โดยมีวาทกรรมอย่าง นักการเมืองขายชาติ เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ในการรัฐประหาร”
“นักการเมืองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทุกท่านสามารถด่าได้ แต่การใช้ข้อมูลเท็จในการทำอย่างเป็นระบบเกินเลยทำให้เขาเป็นปีศาจ สุดท้ายไม่ได้ทำลายนักการเมือง แต่ทำลายระบบการเมืองประชาธิปไตยและประชาชนทั้งประเทศ”
เมื่อชาตินิยมถูกใช้เป็นเครื่องมือข่าวปลอม
พรรณิการ์ มองว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่แค่ข่าวปลอมหรือข้อมูลบิดเบือนเพียงลำพัง หากแต่คือการนำข้อมูลเหล่านั้นไปผูกโยงกับกระแสชาตินิยมอย่างจงใจ เพราะชาตินิยมมีลักษณะเฉพาะที่เร้าอารมณ์และกระตุ้นความรู้สึกได้อย่างรุนแรง จึงง่ายต่อการปลุกปั่น และง่ายยิ่งกว่านั้นในการใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
“วันนี้กรณีที่เราเห็นได้ชัดที่สุดคือกรณีไทย-กัมพูชา ฮุนเซนบอกว่าจะปล่อยคลิปอะไร คนไทยเชื่อหมด โดยไม่รู้ว่าคลิปมีอยู่จริงหรือไหม เพราะเคยมีคลิปแรก ทุกคนก็คิดว่าจะมีถึงคลิปที่ 20 และความรุนแรงในเชิงปลุกปั่นไม่ได้เข้าทางฮุนเซนอย่างเดียว แต่ยังเข้าทางบุคคลที่ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องการรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย โดยการอนุญาตให้มีการรัฐประหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง
อีกทั้งยังกล่าวว่า ข่าวปลอมจากการปลุกกระแสชาตินิยม ง่ายต่อการลดทอนคุณค่าการเป็นมนุษย์ของเป้าการโจมตี ความรุนแรงของการปลุกปั่นเข้าทางบุคคลที่ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย
“เมื่อไหร่ก็ตามความชาตินิยมขึ้นมาสูงในสังคม เมื่อนั้นประชาชนจะเริ่มเรียกร้องผู้นำทหารที่เข้มแข็ง”
นอกจากนี้ ชาตินิยมที่เกินขอบเขตและวาทกรรมรักชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้ามทั้งในและต่างประเทศและการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาที่แท้จริง ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและสื่อมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ผูกขาดไว้กับรัฐ
“ทันทีที่กระสุนปืนดังขึ้น สิ่งแรกที่ตายคือความจริง วันนี้สิ่งที่น่ากลัวคือ กระสุนยังไม่ดังขึ้นสักนัด แต่ความจริงก็เริ่มตายไปเสียแล้ว เมื่อเรารู้สึกรักชาติจนเกินขอบเขต และหลงเชื่อวาทกรรมรักชาติ
“ไม่ใช่แค่การเมืองภายในประเทศที่ดิสเครดิตกัน แต่มันคือการเมืองของผู้นำระหว่างประเทศที่ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม แล้วใช้ความชาตินิยม ความรุนแรงของอารมณ์ เพราะฉะนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนคือตอบ
“เรามีสิทธิที่จะสงสัยว่า การแปะป้ายด้วยคำว่า “ข่าวจริง” หรือ “ข่าวปลอม” จากหน่วยงานรัฐ เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ สิ่งที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน คือ ให้อำนาจประชาชนและสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง”