“ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะของไทย เรามีหน้าที่ต้องทำให้แน่ใจว่า เรานำเสนอข้อมูลที่เชื่อถือได้ สำหรับคนที่ติดตามข่าวไทยจากทั่วโลก”
แคลร์ ปัจฉิมานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World กล่าวบนเวที Thai PBS Verify Talk #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “ข่าวป่วน ยุคโลกวุ่น” ก่อนจะฉายภาพการทำงานในฐานะคนข่าวที่ต้องคอยตรวจสอบความถูกต้องก่อนจะนำเสนอสู่สายตาชาวโลก
Thai PBS World เจ้าของสโลแกน “Bring Thailand to the World เล่าเรื่องราวข่าวไทยให้โลกรู้” และเป็นสำนักผู้ผลิตรายการ ทันโลก นำเสนอข่าวต่างประเทศทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS แคลร์ ปัจฉิมานนท์ แบ่งปันถึงการรับมือกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกชิ้นของทีมข่าวว่า ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และ การใช้ Fact-checking Tools (เครื่องมือตรวจสอบข่าว) ในบางครั้ง
“สัญชาตญาณนักข่าว” เครื่องมือเก่าแต่ยังเก๋าในยุคใหม่
แม้จะอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า การตรวจสอบข่าวปลอมที่สร้างจาก AI ยังเป็นที่เรื่องท้าทาย และจำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจสอบข่าวที่มากขึ้น แคลร์ ปัจฉิมานนท์ ชี้ว่า เครื่องมือที่อิงประสบการณ์ที่ยังคงใช้ได้ดี เป็นสิ่งที่ทุกกองบรรณาธิการข่าวมี และเทคโนโลยีอาจจะยังทดแทนไม่ได้ คือ สัญชาตญาณความสงสัยใคร่รู้
ผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World ยกกรณีตัวอย่าง ข่าวคลิปหมูเด้ง ฮิปโปแคระ ที่หยุดยืนเคารพธงชาติ โดยมีสื่อต่างประเทศและสื่อไทยนำไปรายงานจำนวนมาก ได้รับความสนใจจนเป็นกระแสไวรัล โดยเนื้อหาในคลิปคือ หมูเด้ง ฮิปโปแคระของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ลุกขึ้นและหยุดเดินขณะได้ยินเสียงเพลงชาติ ได้รับความสนใจ เป็นเรื่องมีมไวรัลว่า “หมูเด้งหยุดยืนเคารพธงชาติ”
“คลิปไวรัลที่หมูเด้งหยุดเคารพธงชาติ ทีมงานเราถกกันว่า จะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไร มันจริงเหรอที่ฮิปโปแคระ สามารถแยกแยะได้ว่า เสียงเพลงอะไร เราจึงได้ติดต่อสอบถามไปยังเจ้าของคลิป ว่าถ่ายตอนไหน อย่างไร ซึ่งเจ้าของคลิปไม่ได้ให้รายละเอียด แต่ตอบกลับมาว่า “สามารถนำคลิปไปเผยแพร่ได้ ไปดูหมูเด้งกับครอบครัว ในช่วงเย็น เห็นว่าน่ารักดีเลยถ่ายมา”
“คราวนี้ทีมงานเริ่มสงสัยว่า ตกลงว่าตัดต่อหรือเปล่า จึงใช้วิธีการตรวจสอบด้วยการเข้าไปดูข้อมูลเวลาเปิด–ปิดสวนสัตว์ ซึ่งมันปิด 5 โมงเย็น ซึ่งเวลาของการเคารพธงชาติตอนเย็น คือ 6 โมง เขาเคยบอกว่าไปตอนเย็น”
การใช้สัญชาตญาณ หรือการตั้งข้อสงสัยเสมอของทีมกองบรรณาธิการข่าวต่อกรณีนี้ จึงเกิดเป็นที่มาของข่าว Latest meme alert: Moo Deng pauses for Thai national anthem ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ Thai PBS World
ผู้อำนวยการศูนย์ Thai PBS World กล่าวว่า เรื่องหมูเด้ง เคารพธงชาติไม่ใช่เหตุการณ์จริง แต่เป็นมีมที่ถูกแชร์กันอย่างสนุกสนานในโลกออนไลน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของกองบรรณาธิการต้องอาศัยสัญชาตญาณ และความระแวดระวัง ต่อสิ่งที่พบเจออยู่เสมอ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเวลาที่เราติดตามข่าวสารจากหน้าฟีดหรือโซเชียลมีเดีย เราอาจถูกหลอกได้ง่าย แต่หากเราเลือกติดตามข่าวจากสื่อที่น่าเชื่อถือ ซึ่งผ่านกระบวนการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลอย่างรอบคอบ ก็จะช่วยลดโอกาสในการเข้าใจผิดได้ จึงเป็นบทบาทสำคัญของสื่อสาธารณะ ที่ต้องนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง, ถูกต้อง และตรวจสอบได้
แคลร์ ปัจฉิมานนท์ ยังได้กล่าวถึงความท้าทายหลักของทีมข่าว Thai PBS World ซึ่งประกอบด้วยประเด็นสำคัญ เช่น โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และการใช้เทคโนโลยีอย่าง Deepfake หรือ AI แม้ว่าในปัจจุบัน ความน่ากลัวของเทคโนโลยีเหล่านี้อาจยังไม่รุนแรงมากนัก เพราะจากประสบการณ์ที่พบ ทีมข่าวยังสามารถแยกแยะความผิดปกติได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องข้อมูลผิด (misinformation) โดยเฉพาะในประเด็นด้านสุขภาพ ยังคงแพร่หลายอย่างมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับสุขภาพ จึงต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนำเสนอข่าว
“สำหรับแนวทางการทำงาน ทีมให้ความสำคัญกับทั้ง “ความเร็ว” และ “ความน่าเชื่อถือ” ซึ่งแม้ว่าในอุดมคติแล้ว ทั้งสองสิ่งควรไปพร้อมกัน แต่เมื่อจำเป็นต้องเลือก ทีมข่าวจะให้ความสำคัญกับ “ความน่าเชื่อถือ” เป็นอันดับแรก โดยจะตรวจสอบข้อมูลให้มั่นใจก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป”
Thai PBS World X Thai PBS Verify
นอกจากนี้เครื่องมือการตรวจสอบข่าวปลอมที่ดี จากการอธิบายของตัวแทน Thai PBS World คือ การสร้างเครือข่ายที่สามารถเช็กข้อมูลได้
โดยได้ยกตัวอย่างข่าว เจดีย์ชเวดากองถล่ม ช่วงแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา Thai PBS Verify ได้ร่วมมือกับ Thai PBS World ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยประสานกับสถานทูตไทยในเมียนมา และได้รับการยืนยันว่า ไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับเจดีย์ชเวดากองแต่อย่างใด
ซึ่งปัจจุบัน Thai PBS เป็นหนึ่งในสมาชิก Asia Pacific Broadcasting Union หรือ ABU ซึ่งมีสมาชิกกว่า 280 องค์กรอยู่ใน 57 ประเทศ รวมถึงสมาชิก Asia Vision ซึ่งมีสมาชิก 27 องค์กร และ Asia Pacific Intitude For Broadcasting Development หรือ AIBD ที่มีสมาชิก 26 ประเทศ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะสามารถใช้ในการตรวจสอบ โดยเฉพาะข่าวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วได้
อ่านเนื้อหากิจกรรมงาน Thai PBS Verify Talk เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaipbs.or.th/verify/article/content/2773
รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025
“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่
.
• Website : www.thaipbs.or.th/Verify
• Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
• IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
• TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
• LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify