“ในอดีตเราต่างเคยกลัวปืน ระเบิด แต่วันนี้ความไม่จริงเป็นอาวุธที่น่ากลัวและสามารถบั่นทอนความมั่นคงได้ลึกและเสียงดังกว่า”
คุณวงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวบนเวที Thai PBS Verify Talk #ฟีดนี้ไม่มีข่าวลวง ถึงอาวุธที่ท้าทายและน่ากลัวในยุคปัจจุบัน แต่ในฐานะตัวแทนรัฐบาล พร้อมจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อเท็จจริง พร้อมระบุว่า ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ใช้เทคโนโลยีในการกวาดต้อนวิเคราะห์และจัดการข้อมูลต่าง ๆ ที่เห็นได้ว่าอาจเป็นข่าวปลอม ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์และตรวจสอบเกี่ยวกับข่าวปลอม ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย หรือ Anti-Fake News Center Thailand
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ทำงานภายใต้แนวคิดที่อยากให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และรัฐมีหน้าที่นำเสนอความจริง ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการดำเนินการร่วมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและยืนยันข้อมูลว่าจริงหรือเท็จ

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ กับภารกิจสกัดกั้นข้อมูลลวงโดยรัฐ
ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ตรวจจับข่าวปลอมได้กว่า 1,184 ล้านข้อมูล ซึ่งได้นำมาพิจารณาและส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ตรวจสอบ โดยสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้
- หมวดสุขภาพ ถือเป็นหมวดที่มีการแชร์ข้อมูลจำนวนมาก
- หมวดเศรษฐกิจ มักจะพบเรื่องของนโยบายไปปลอมที่ออกมาทางโลกโซเชียล คือเรียกยอดไลก์หรือโจมตีรัฐบาล
- หมวดภัยพิบัติ ที่ผ่านมาพบข่าวปลอม ทั้งในเรื่องของชื่อพายุปลอม การกล่าวอ้างว่า พายุต่าง ๆ จะพัดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งก็ได้มีการตรวจสอบจากกรมอุตุนิยมวิทยา และยืนยันข้อมูลเหล่านั้น
- หมวดนโยบายของรัฐ ซึ่งมีข่าวออกมาตลอดด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 10,000 บาท ที่อ้างว่าสามารถกดลิงก์ที่แนบ เพื่อกดรับเงินได้ในทันที 5. หมวดอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งข้อมูลตรวจจับได้เหล่านี้ จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มีหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ, ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาร่วมเชื่อมโยงข้อมูลและตรวจสอบร่วมกัน
นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา พบว่ามีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหวระหว่างประเทศ ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2568 มีการตรวจพบข่าวปลอมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากถึง 232 รายการ ซึ่งทั้งหมดได้รับการตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีการชี้แจงต่อสาธารณชน
“ในโลกที่ความจริงวิ่งตามความไวไม่ทัน โลกที่ทุกคนสามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างเสรี การตรวจสอบข้อมูลที่บิดเบือนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะสิทธิการสื่อสาร ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง”
โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์หรือ LINE Official ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) ซึ่งภายในเว็บไซต์ยังเปิดให้แจ้งเบาะแสข่าวปลอม เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ยืนยัน และเผยแพร่ ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมอย่างชัดเจน
ข้อมูลถูกต้อง ก่อนส่งถึงประชาชน
ในโลกที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย และต้องรับมือกับข่าวลวงข่าวปลอม คุณอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากรัฐบาล กล่าวขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคน รับฟังข่าวสารจากช่องทางตรงของรัฐบาล ที่นำเสนอในช่องทางเว็บไซต์ thaigov.go.th ซึ่งนำเสนอข้อมูลผ่านทุกกระทรวง

อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
และกล่าวว่าการที่นำเสนอข่าวให้มีความเร็วและความแม่นยำนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถมาคู่กันได้เสมอ แต่ยืนยันว่าจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและให้ทันสถานการณ์
“ยืนยันว่า รัฐบาลจะทำให้รวดเร็วที่สุด แต่เน้นในความถูกต้องและความละเอียดอ่อน เพราะข้อมูลจากฝั่งรัฐบาล ต้องเป็นข้อมูลที่ต้องถูก 100% ต้องสื่อสารให้ถึงประชาชนได้ชัดเจน และเข้าใจง่าย”
อ่านเนื้อหากิจกรรมงาน Thai PBS Verify Talk เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaipbs.or.th/verify/article/content/2773
รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025
“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่
.
• Website : www.thaipbs.or.th/Verify
• Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
• IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
• TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
• LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify