ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยา ฉายภาพก่อนจะเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกมิจฉาชีพลวง โดยอธิบายผ่านหลัก “สามเหลี่ยมอาชญากรรม” ที่ประกอบด้วย โอกาส มูลเหตุจูงใจ และเหยื่อที่เหมาะสม ซึ่งในมุมจิตวิทยาเหยื่อไม่ได้ขาดความรู้หรือไม่รู้เท่าทัน แต่ถูกชักนำผ่านกลไกของอารมณ์ ความโลภ ความกลัว และความรักที่ฝังอยู่ในสมองของมนุษย์ และเมื่ออารมณ์เหล่านี้ถูกกระตุ้นจนสมองส่วนเหตุผลถูกปิดกั้น มิจฉาชีพจึงสามารถใช้จังหวะนั้นในการโน้มน้าวเหยื่อได้
เหยื่อวิทยา
ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำอธิบายจากมุมจิตวิทยาถึงการเกิดอาชญากรรม จะเกิดขึ้นตามหลัก “สามเหลี่ยมอาชญากรรม” โดยประกอบไปด้วย 1.โอกาส 2. มูลเหตุจูงใจส่วนตัว 3. เหยื่อที่เหมาะสม
ขณะที่จากประสบการณ์ที่ทำคดีเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมของนักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาพบว่า เหยื่อมี 3 ลักษณะ ประกอบไปด้วย
1.เหยื่อปฐมภูมิ คือเหยื่อที่เกิดเหตุกับเขาโดยตรง
2.เหยื่อทุติยภูมิ คือเหยื่อที่เป็นบุคคลรอบข้างของผู้ที่ถูกหลอกลวง เช่น คนในครอบครัวเป็นต้น
3.เหยื่อตติยภูมิ คือเหยื่อที่เป็นบุคคลที่อยู่ในชุมชน, สังคม หรือคนภายนอก
นอกจากนี้ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา กล่าวว่า เหยื่อของข่าวลวงไม่ได้ขาดความรู้หรือไม่รู้เท่าทัน แต่ถูกกระตุ้นด้วยความกลัว ความโลภ และความรัก เป็นกลไกที่ถูกลวงด้วยจิตวิทยา
แม้ว่าจากสถิติตัวเลขที่ออกมา จะทำให้พบว่าอัตราของผู้หญิงมีแนวโน้มจะถูกหลอกลวงมากกว่าผู้ชาย แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่เชื่อถือไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่เหยื่อทุกคนจะแจ้งต่อระบบว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ
“ข้อมูลจากตำรวจสอบสวนกลาง หรือ CIB พบเหยื่อที่เป็นผู้หญิงถึงร้อยละ 60 ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 36 แต่เชื่อว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ไม่จริง เพราะโดยแท้จริงของมนุษย์นั้นชอบโกหก ซึ่ง 70% ของผู้ชายจึงมักไม่ยอมรายงานความจริง เพราะความอาย ดังนั้นสถิติการแจ้งความจึงเป็นผู้หญิงที่มีจำนวนมากกว่า ซึ่งหากจะได้จำนวนที่แท้จริง จะต้องบวกไปอีก 70% จึงจะได้ตัวเลขที่แท้จริงนั้น”
ความโลภ
“มิจฉาชีพมักใช้ความหวังในการหลอกคนจน และใช้ความกลัว ในการหลอกคนรวย คนรวยมักกลัวการมีเรื่องมีราว ดังนั้น มิจฉาชีพจึงใช้จุดอ่อนของแต่ละชนชั้นทางเศรษฐกิจมาหลอกลวง คนมักเชื่อว่าคนโง่เท่านั้นถึงจะโดนหลอก”
ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา พูดถึงการถูกหลอกลวงเกี่ยวข้องกับปัจจัยเรื่องของชนชั้นทางเศรษฐกิจของเหยื่อว่า ดังนั้นการได้รับข้อความหลอกลวงด้วยความโลภ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่มีสถานะทางการเงินต่ำ มีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อมากที่สุด เพราะด้วยการที่ความโลภเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ซึ่งหากไม่มีความโลภ ก็จะไม่มีทางตกเป็นเหยื่อ
ความกลัว
ความกลัว มักจะถูกใช้หลอกลวงกับคนที่มีฐานะ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้แม้จะเป็นผู้ที่มีฐานะ และมีการศึกษา แต่มักจะเป็นกลุ่มที่มีความกลัว โดยตัวกระตุ้นอารมณ์เกลียด, โกรธ และกลัว จะอยู่ระหว่างแกนกลางของสมองส่วนหน้าและส่วนหลัง ซึ่งมีชื่อว่า “อะมิกดาลา” ซึ่งความกลัว, โกรธ และเกลียด มักจะเป็นอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นได้ง่าย และเป็นอารมณ์ที่อยู่คงทนถาวร ดังนั้นเมื่ออารมณ์ถูกกระตุ้น ความกลัวจะปิดกั้นความคิดของสมองส่วนหน้า และเมื่อสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ชั่งน้ำหนักของเหตุและผลถูกปิดกั้น จะทำให้เกิดช่องว่างให้มิจฉาชีพ เข้ามาควบคุมได้ ซึ่งเรียกลักษณะนี้ว่า Hypnosis หรือการสะกดจิต โดยใช้กลลวงด้านจิตวิทยา ด้วยการเร่งรัด, สร้างความเครียด และสร้างความกลัวให้รีบตัดสินใจ
ความรัก
นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยา อธิบายภาพการทำงานเกี่ยวกับสมองส่วนอารมณ์และเหตุผลที่มิจฉาชีพใช้หลักจิตวิทยาลวงเหยื่อ ทั้งในรูปแบบ Romance Scam เชื่อมโยงไปยังเรื่องการเสพความข่าวปลอม ว่าล้วนเป็นหลักการเดียวกัน เพราะทุกครั้งต้องใช้การตัดสินหรือการจะเชื่ออะไรบางอย่าง ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินทุกครั้ง
“รูปแบบการหลอกลวงแบบ Romance Scammer มักจะใช้การหลอกลวงด้วยรูปร่างหน้าตาที่ดูดีเกินจริง ฐานะทางการเงิน หรือรักจริงหวังแต่ง แต่ทั้งหมดนั้นไม่มีอยู่จริง ซึ่งก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อ จำเป็นที่จะต้องตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนที่มีลักษณะเหล่านี้ จึงต้องการที่จะเข้าหาคุณ คิดไว้เสมอว่าอะไรที่ดีเกินจริง มักไม่ใช่เรื่องจริง”
จากข้อมูลพบว่าโปรไฟล์ในแอปหาคู่ (Dating Apps) นั้น มีประมาณ 1 ใน 7 ที่เป็นโปรไฟล์ปลอม โดยกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มักจะไม่ยอมเปิดกล้องวิดีโอคอลกับเหยื่อเลยแม้แต่ครั้งเดียว และเหยื่อส่วนใหญ่มักตกเป็นเหยื่อจากความหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมาหลังจากลงทุนไป มิจฉาชีพมักเริ่มจากการสร้างความเชื่อใจ เช่น อ้างว่าจะส่งของขวัญหรือทรัพย์สินจากต่างประเทศ แล้วหลอกให้โอนเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือสร้างหน่วยงานปลอมเพื่อมาหลอกซ้ำอีกครั้ง
วิธีการทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นอารมณ์ของเหยื่อ ซึ่ง นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาย้ำว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเสพข่าวหรือดูอะไรแล้วเกิดอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เมื่อนั้นแสดงว่าอะมิกดาลา (amygdala) หรือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์กำลังทำงาน แทนที่สมองส่วนหน้า ซึ่งใช้ในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ดังนั้นหากไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทุกคนจึงควรใช้การคิดอย่างมีเหตุและผลในการพิจารณาอย่างมีสติและไม่ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสิน แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องฝึกให้รู้เท่าทันตนเองตลอดเวลา
“ท้ายที่สุดทุกคนจำเป็นที่จะต้องมีสติ เว้นวรรคหยุดคิด 45-60 นาที แล้วค่อยตัดสินใจว่า จริงหรือไม่จริง”
อ่านเนื้อหากิจกรรมงาน Thai PBS Verify Talk เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaipbs.or.th/verify/article/content/2773
รับชมภาพบรรยากาศภายในงาน และสามารถรับชมเวทีทอล์กทั้ง 12 หัวข้ออีกครั้งได้ทาง www.thaipbs.or.th/VerifyTalk2025
“ตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง” กับ Thai PBS Verify ได้ที่
.
• Website : www.thaipbs.or.th/Verify
• Facebook : www.facebook.com/ThaiPBSVerify
• IG : www.instagram.com/ThaiPBSVerify
• TikTok : www.tiktok.com/@ThaiPBSVerify
• LINE : www.thaipbs.or.th/LINEVerify