หลังมีรายงานการเสียชีวิตและป่วยจากการบริโภคเนื้อวัวดิบที่มีเชื้อ แอนแทรกซ์ (Anthrax) ทำให้ Thai PBS Verify พบโพสต์ที่ออกมาเตือนให้ประชาชน งดกินเนื้อดิบ ตรวจสอบแล้วเป็นข่าวจริง ด้านนักวิชาการแนะนำห้ามรับประทานเนื้อดิบ หากไม่มั่นใจในแหล่งที่มา ระบุเชื้ออยู่ในดินได้นานนับสิบปี
แหล่งข้อมูล : Facebook
ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ ระบุว่า "ช่วงนี้งดกินเนื้อดิบ โรค "แอนแทรกซ์" กำลังระบาด
ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Bosstime Day โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "ช่วงนี้งดกินเนื้อดิบเด้อ โรคแอนแทรกซ์ กำลังระบาด ที่บ้านเหล่าหมี เมื่อวานตายแล้ว 1 ราย กินกันหลายคน กำลังทยอยออกอาการ วัวตายไม่ควรนำมาชำแหละขายนะครับ" โพสต์ดังกล่าวมียอดแชร์กว่า 7,300 ครั้ง (ลิงก์บันทึก)
จากการตรวจสอบพบว่า อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 เรื่อง มาตรการควบคุมโรค (ฉบับที่ 1) ระบุว่า ด้วยปรากฏว่าได้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ในตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โดยมีการสัมผัสโค กระบือและรับประทานเนื้อวัว และมีอาการไข้และตุ่มบริเวณผิวหนัง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดอนตาล เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 และทางโรงพยาบาลดอนตาลได้มีการส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมุกดาหาร และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 30 เมษายน สันนิษฐานเบื้องต้นว่า มีการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ (ลิงก์บันทึก)
ประกาศอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ออกประกาศมาตรการควบคุมโรค กรณีพบผู้ติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์
นอกจากนี้ อ.ดอนตาล ยังได้ประกาศห้ามฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะ โค กระบือ ในห้วงงานบุญประเพณีบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) ทุกกรณี พร้อมเปิดศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค ที่โรงพยาบาลดอนตาล สาธารณสุขอำเภอดอนตาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหมี รวมถึงให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สำรวจประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และให้บันทึกข้อมูลลงใน ระบบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์ และตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด การลักลอบขนโค กระบือและแพะ ออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2568 เป็นต้นไป ปศุสัตว์อำเภอดอนตาล จะฉีดวัคซีนโค กระบือ และแพะ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโรคแอนแทรกซ์ จึงห้ามไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ ที่มีการฉีดวัคซีนทำ การฆ่าหรือชำแหละโค กระบือ และแพะ ในเวลา 21 วัน นับตั้งแต่มีการฉีดวัคซีน
นักวิชาการระบุสปอร์ทนทานอยู่ได้นานนับสิบปี
ศ. ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ที่ถือเป็นโรคเก่า ไม่ใช้โรคอุบัติใหม่ ซึ่งสร้างสปอร์ทนทานอยู่ในดินได้นานหลายสิบปี เป็นโรคที่เกิดในสัตว์กินพืชเป็นหลัก แต่สามารถติดต่อสู่คนได้ผ่าน 3 ช่องทางหลักคือ ทางผิวหนัง ซึ่งพบบ่อยที่สุด เกิดจากการสัมผัสเชื้อผ่านผิวหนังที่มีแผล ทำให้เกิดแผลลักษณะเฉพาะคล้ายรอยบุหรี่จี้สีดำ ไม่เจ็บ อัตราการเสียชีวิตต่ำหากรักษาเร็ว ช่องทางที่สองคือทางการกิน เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ป่วยที่ปรุงไม่สุก ทำให้ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด อัตราการเสียชีวิตสูง และช่องทางสุดท้ายคือทางการหายใจ เกิดจากการหายใจเอาสปอร์เข้าไป พบได้น้อยในสถานการณ์ปกติ แต่อันตรายมาก เริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แล้วทรุดลงอย่างรวดเร็ว หายใจลำบาก ช็อก อัตราการเสียชีวิตสูงมาก (ลิงก์บันทึก)
ศ.ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์
และยังรวมถึงกรณีของการสัมผัสกับหนังของสัตว์ที่เสียชีวิตจากโรค ที่แม้จะถูกแล่ออกจากตัวของสัตว์แล้วก็ตาม แต่เชื้อก็ยังคงมีความสามารถอยู่ในผิวหนัง และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน