EN

แชร์

Copied!

ตรวจสอบแล้ว: คลิปอ้าง “แน็ทกินจุ” รถชนเสียชีวิตพร้อมเงิน 10 ล้าน แท้จริงลวงเข้าเว็บพนัน

14 พ.ค. 6814:04 น.
สังคมและสุขภาพ#ข่าวปลอม
ตรวจสอบแล้ว: คลิปอ้าง “แน็ทกินจุ” รถชนเสียชีวิตพร้อมเงิน 10 ล้าน แท้จริงลวงเข้าเว็บพนัน

อย่าหลงกด ! พบคลิปวิดีโออ้าง ยูทูบเบอร์ชื่อดังสายกิน "แน็ทกินจุ" เสียชีวิตจากอุบัติเหตุพร้อมเงินจากธุรกิจออนไลน์ ตรวจสอบพบนำภาพจากอุบัติเหตุอื่นมาลง หลังคนหลงแอดไลน์

พบบัญชี TikTok โพสต์คลิปวิดีโออ้าง ยูทูบเบอร์ชื่อดังสายกิน “แน็ทกินจุ” เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จนมีผู้หลงเชื่อกดเข้าชมไปกว่า 955,400 ครั้ง ตรวจสอบแล้วพบว่า นำภาพจากอุบัติเหตุอื่นมาลง หลังคนหลงเพิ่มเพื่อนผ่าน LINE ขณะที่เจ้าตัวลงคลิปชี้แจงยังปลอดภัย และไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ

แหล่งที่มา TikTok

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงคลิปวิดีโออ้าง ยูทูบเบอร์ชื่อดังสายกิน “แน็ทกินจุ” เสียชีวิตจากอุบัติเหตุพร้อมเงินจากธุรกิจออนไลน์

Thai PBS Verify ตรวจสอบพบบัญชี TikTok ชื่อ pa.pie82 มีผู้ติดตาม 915 คน มีผู้กดถูกใจ 12,100 คน โพสต์คลิประบุ “RIP ขอแสดงความเสียใจ แน็ทกินจุ ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว นายณัฐนันท์ เลิศพัฒน์ภิชา หรือ แน็ทกินจุ ขณะขับรถทำคลิป มีรถบรรทุกประสานงาบาดเจ็บสาหัส กู้ภัยนำส่ง รพ. ไม่ทันเสียชีวิต ตำรวจเจอเงินสดในที่เกิดเหตุเกือบ 10 ล้านบาท ภรรยาให้การ แน็ทกินจุออกไปกดเงินที่เพิ่งได้มาจากการลงทุนธุรกิจออนไลน์มา” (ลิงก์บันทึก)

จากการตรวจสอบเนื้อหาในบัญชีพบว่า คลิปดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา ภายในคลิปมีลักษณะการใช้ข้อความ, เพลงประกอบ และภาพของยูทูบเบอร์รายดังกล่าวมาประกอบ เพื่อเรียกความสนใจเพียงเท่านั้น แต่ไม่มีที่มาชัดเจน หรือการระบุชื่อแหล่งข่าวหรือหน่วยงานใดที่ยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่ภายในช่องแสดงความคิดเห็น พบความผิดปกติของผู้เข้ามาตอบข้อความ ที่มีการตอบโต้กันถึงเรื่องเงินที่โพสต์อ้างว่าได้มาจากการลงทุนธุรกิจออนไลน์ โดยมีการแนะนำข้อความว่า “bonn51”

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพข้อความตอบกลับ ที่อ้างว่าคลิปดังกล่าวเป็นเรื่องจริง พร้อมกับชักชวนให้แอดไลน์เพิ่มเพื่อน

เราทดลองนำข้อความดังกล่าวมาลองเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ และพบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นไอดีของบัญชีเว็บพนันออนไลน์ โดยมีข้อความระบุว่า

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ BONNY51 เว็บพนันออนไลน์ครบวงจรอันดับ 1
คืนกำไรให้คุณมากกว่าใคร พร้อมทีมงานมืออาชีพ ที่ดูแลคุณ 24 ชม.
สมัครรบกวนแจ้งรายละเอียดตามนี้เลยนะคะ

  • ชื่อ-นามสกุล :
  • เบอร์โทรติดต่อ :
  • ไอดีไลน์ :
  • เลขที่บัญชีและชื่อธนาคาร (บัญชีธนาคารต้องเป็นชื่อเดียวกัน)
  • คุณพี่รู้จักเราจากช่องทางไหนคะ

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงบัญชีชักชวนเล่นพนัน ซึ่งแสดงขึ้นมาหลังจากมีการเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ที่มีการกล่าวอ้าง

นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบบน บัญชีของช่อง TikTok รายนี้ พบว่า ก่อนที่จะมีการอัปโหลดคลิปดังกล่าว ภายในช่องยังมีการอัปโหลดคลิปการใช้ชีวิตตามปกติ แต่หลังจากวันที่ 11 พ.ค. 68 ได้มีการโพสต์คลิปในลักษณะเดียวกันอีกหลายคลิป

อย่างไรก็ตามเรานำภาพที่โพสต์ดังกล่าวใช้มาตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens พบว่า ภาพดังกล่าวไปตรงกับภาพข่าวอุบัติเหตุรถกระบะเสียหลักชนรถจอดทิ้งขยะ ที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งเว็บไซต์ข่าวสด ได้รายงานข่าวดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 67 (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงผลการค้นหาด้วย Google Lens ซึ่งพบว่าภาพที่คลิปปลอมนำมาใช้เป็นภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ส.ค. 67

ขณะที่ นายณัฐนันท์ หรือ แน็ทกินจุ ได้โพสต์คลิปชี้แจงว่า “เตือนภัย ข่าวปลอม มิจฉาชีพรูปแบบใหม่” พร้อมระบุว่า ข่าวที่บอกว่าเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นเป็นข่าวปลอม และตัวของเขาไม่ได้เกิดอุบัติเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมเตือนอย่าหลงเชื่อ และอย่ากดลิงก์ที่แนบมาใด ๆ ทั้งสิ้น” (ลิงก์บันทึก)

กระบวนการตรวจสอบ

  1. ใช้การค้นหาด้วยคำสำคัญทาง Google ด้วยคำว่า “แน็ทกินจุ” ในการค้นหาคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อหลัก ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่
  2. ตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens เพื่อหาแหล่งที่มาของภาพ
  3. ค้นหาช่องทางทางการ ของบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าวถือว่าสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ได้ชม โดยพบว่ามีผู้ที่ไม่ทราบบางส่วนทักเข้าไปสอบถามว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่กลับถูกยืนยันจากผู้ใช้บัญชีดังกล่าว อ้างว่าเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้การที่คลิปดังกล่าวมีการแนบลิงก์ไปยังบัญชี LINE OA หรือเว็บไซต์ภายนอก ยังถือเป็นหนึ่งในรูปแบบ ฟิชชิง (Phishing) ที่มีจุดประสงค์เพื่อลวงให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือชักชวนให้เข้าไปเล่นการพนันอีกด้วย

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงข้อความของผู้ใช้บัญชีดังกล่าว ที่อ้างว่าคลิปดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ที่ไม่ทราบ หรือหลงเชื่อแอดไลน์

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

  • อย่าแชร์หรือส่งต่อ หากไม่ได้ตรวจสอบแหล่งข่าว
  • ใช้เครื่องมือออนไลน์ เช่น InVID, Google Reverse Image Search เพื่อตรวจสอบที่มาของภาพหรือวิดีโอ
  • หลีกเลี่ยงการกดลิงก์หรือแอดไลน์ที่แนบมากับคลิป
  • ตรวจสอบกับ ช่องทางทางการ ของบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง
  • เปรียบเทียบกับสื่อหลัก ดูว่ามีสื่อที่เชื่อถือได้รายงานเหตุการณ์นี้หรือไม่
  • ระวังอารมณ์ ถ้าคลิปกระตุ้นอารมณ์แรง ๆ อาจเป็นการจงใจหลอก
  • กดรายงาน เพื่อป้องกันไม่ให้คลิปปลอมเหล่านี้ถูกเผยแพร่ต่อไป