EN

แชร์

Copied!

ตรวจสอบแล้ว: ภาพนายกฯ อินเดีย กราบขอพรหลังปากีสถานโต้กลับ แท้จริงเป็นภาพเก่าขณะสวดมนต์ก่อนหาเสียง สส.

27 พ.ค. 6815:16 น.
1
รอบโลก#ข่าวปลอม
ตรวจสอบแล้ว: ภาพนายกฯ อินเดีย กราบขอพรหลังปากีสถานโต้กลับ แท้จริงเป็นภาพเก่าขณะสวดมนต์ก่อนหาเสียง สส.

ข่าวปลอม ภาพเก่า “นายกฯ อินเดีย” ถูกอ้างทำพิธีขอพร เพราะผลจากการตอบโต้ที่รุนแรงจากปากีสถาน แท้จริงคือภาพสวดมนต์ก่อนเลือกตั้ง สส.

พบบัญชี X รายหนึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพ อ้างว่านายกฯ อินเดีย ถูกอ้างทำพิธีขอพรเพราะผลจากการตอบโต้ที่รุนแรงจากปากีสถาน จากการตรวจสอบเรื่องนี้ Thai PBS Verify พบว่าเป็นข่าวปลอมที่มีลักษณะโจมตี โดยใช้ภาพเก่า ขณะนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี กำลังสวดมนต์ที่วัดราม ในเมืองอโยธยา ประเทศอินเดีย ก่อนหาเสียงเลือกตั้ง สส. มาใช้ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างอินเดียและปากีสถานพร้อมใช้ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์นั้น

Thai PBS Verify พบแหล่งที่มาข่าวปลอมจาก : X

 

บัญชี x โพสต์ปากีสถานและอินเดียที่มีการปะทะกัน

ภาพแสดงบัญชี x โพสต์ข้อความพร้อมภาพเกี่ยวกับปากีสถานและอินเดียที่มีการปะทะกัน

Thai PBS Verify พบบัญชี x ชื่อ Khaleej Mag เป็นบัญชีได้รับเครื่องหมายยืนยันจาก X โดยเป็นนิตยสารออนไลน์ที่เน้นการวัฒนธรรมและวิถีชีวิต มีผู้ติดตาม 185,900 คน และกำลังติดตามอยู่ที่ 59,300 คน โพสต์ข้อความพร้อมภาพ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี กำลังสวดมนต์ โดยระบุว่า เป็นภาพ “วันแห่งความอัปยศอดสูของอินเดีย ผลจากการตอบสนองอย่างรุนแรงจากปากีสถาน” จนทำให้มีผู้เข้าใจผิด คิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและอินเดียที่มีการปะทะกัน โดยมียอดคนดู 91,000 ครั้ง รีโพสต์ 14,000 ครั้ง แสดงความคิดเห็น 93 ข้อความ และแสดงความรู้สึกจำนวน 6,600 ครั้ง โดยโพสต์ดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา

ภาพบัญชี x

ภาพข้อมูลบัญชี X ที่โพสต์ภาพเกี่ยวกับปากีสถานและอินเดียที่มีการปะทะกัน


Thai PBS Verify ตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens พบว่าภาพดังกล่าวไปตรงกับข่าว นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี
ขณะกำลังสวดมนต์ที่วัดราม เมืองอโยธยา ประเทศอินเดีย ก่อนเลือกตั้ง สส. ซึ่งปรากฎในสื่ออื่น ๆ เช่น เว็บไซต์ prokerala , NDTV และ เฟซบุ๊ก Meme Central’s post (ลิงก์บันทึกนี่ นี่ และ นี่)

ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพในบัญชี X (ซ้าย) และเว็บไซต์ prokerala (ขวา)

ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพในบัญชี X (ซ้าย) และเว็บไซต์ prokerala (ขวา)

ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพในบัญชี X (ซ้าย) และ NDTV (ขวา)

ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพในบัญชี X (ซ้าย) และ NDTV (ขวา)

ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพในบัญชี X (ซ้าย) และภาพเฟซบุ๊ก Meme Central's post (ขวา)

ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพในบัญชี X (ซ้าย) และภาพเฟซบุ๊ก Meme Central’s post (ขวา)

ซึ่งแท้จริงแล้ว ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่นายกรัฐมนตรีอินเดีย ร่วมเป็นประธานในพิธีปราณประติษฐะ และสักการะองค์เทวรูปราม ลัลลา ณ วัดราม ในระหว่างการสักการะ นายกรัฐมนตรีโมดีได้ทำ “ศัษฏางค์ ทัณฑวัต ปรณาม” (การกราบแบบนอนราบ) ต่อหน้าองค์เทวรูปราม ลัลลา แสดงถึงความเคารพก่อนเข้าร่วมขบวน mega roadshow เพื่อเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการตอบโต้กันด้วยอาวุธครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้น และไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของทั้งสองชาติแต่อย่างใด

กระบวนการตรวจสอบ

  1. ตรวจสอบความโปร่งใสของโพสต์ : พบบัญชี X  ชื่อ Khaleej Mag ได้รับเครื่องหมายยืนยันจาก X
  2. ตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens : พบว่าภาพดังกล่าวไปตรงกับข่าวของ เฟซบุ๊ก Meme Central’s post , เว็บไซต์ prokerala และ  ndtv ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของอินเดียและปากีสถานแต่อย่างใด

ผลกระทบของข้อมูลนี้ 

1. ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

  • บัญชีที่มีเครื่องหมายยืนยัน โพสต์ภาพพร้อมข้อความที่ไม่ตรงกับเหตุการณ์จริง อาจทำให้คนสับสน

2. กระทบความน่าเชื่อถือของเครื่องหมาย “ยืนยันตัวตน”

  • เมื่อบัญชีที่ดูน่าเชื่อถือโพสต์ข้อมูลผิด คนก็เริ่มตั้งคำถามว่าเครื่องหมาย Verified บนแพลตฟอร์ม X ยังเชื่อถือได้อยู่ไหม ?

3. เพิ่มการกระจายข้อมูลผิด

  • ถ้าไม่มีการตรวจสอบก่อนแชร์ ข้อมูลที่ผิดก็จะกระจายไปเร็วขึ้น ทำให้หลายคนเข้าใจผิดโดยไม่รู้ตัว

4. ส่งผลเสียหายต่อบุคคลถูกอ้างอิง

  • ในเนื้อหามีการกล่าวถึง นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประเทศอินเดีย ซึ่งลักษณะโพสต์ดังกล่าวอาจลดความน่าเชื่อถือในฐานะตัวแทนผู้นำประเทศได้

 

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

  1. อ่านให้ครบก่อนแชร์
  • อย่าแชร์แค่เพราะเห็นหัวข้อแรงหรือภาพสะเทือนอารมณ์ หลายครั้งที่พาดหัวถูกเขียนเพื่อเรียกยอดคลิก ลองอ่านทั้งเนื้อหาให้จบ และพิจารณาว่าเนื้อหาสอดคล้องกับหัวข้อจริงไหม
  1. ลองค้นคำสำคัญใน Google
  • ใช้ชื่อคน สถานที่ หรือเหตุการณ์ในโพสต์ ไปค้นหาใน Google ลองพิมพ์ชื่อสถานที่หรือวันเวลาดูว่ามีแหล่งข่าวไหนพูดถึงหรือไม่ หากไม่พบในสื่อหลัก ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน
  1. ใช้ Google Lens ตรวจสอบ
  • คุณสามารถใช้แอปฯ  Google Lens (หรือกล้อง Google บน Android) ถ่ายหรือแตะค้างที่ภาพ ระบบจะค้นหาว่าภาพนี้เคยปรากฏที่ไหนบ้าง
  1. ดูชื่อบัญชีและประวัติ
  • บัญชีที่น่าเชื่อถือควรมีชื่อจริง เว็บไซต์ หรือลิงก์ที่ตรวจสอบได้ ลองเข้าไปดูว่าเขาเคยโพสต์อะไรในอดีต ถ้าชื่อโปรไฟล์ดูน่าสงสัย เช่น เป็นภาษาแปลก ๆ  หรือโพสต์เนื้อหาปั่นกระแสอย่างเดียว อาจเป็น “บัญชีปลอม” หรือ “บัญชีปั่น”