สหราชอาณาจักรยืนยันความช่วยเหลือต่อรัฐบาลยูเครนหลังการปะทะคารมอย่างดุเดือดระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ในทำเนียบขาว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คลิปวิดีโอการชุมนุมในกรุงลอนดอนถูกเผยแพร่ในบริบทที่เป็นเท็จว่าผู้ประท้วงชาวอังกฤษออกมาสนับสนุนทรัมป์และต่อต้านท่าทีรัฐบาลของตัวเอง แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นคลิปที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2561 จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์และอีกกลุ่มที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจัด
“สื่ออังกฤษรายงานว่า ม็อบชาวอังกฤษจำนวนมาก ชุมนุมในกรุงลอนดอน เพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ให้ยุติสงครามยูเครน และต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ” โพสต์ X ระบุคำบรรยายประกอบคลิปวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568
วิดีโอในโพสต์แสดงภาพของมวลชนกลุ่มหนึ่งที่ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนพร้อมกับโบกธงชาติของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และได้ยินเสียงคนตะโกนว่า “เรารักทรัมป์”
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์บนโลกออนไลน์หลังเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้การต้อนรับเซเลนสกีอย่างอบอุ่น ก่อนจัดการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเพื่อหารือวิธีการสนับสนุนยูเครนจากรุกรานของรัสเซีย (ลิงก์บันทึก)
การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นสองวันหลังจากที่ทรัมป์และเซเลนสกีปะทะคารมกันอย่างดุเดือด ก่อนที่ทรัมป์จะขับผู้นำยูเครนออกจากทำเนียบขาวและวิจารณ์ว่าเขา “ยังไม่พร้อม” สำหรับการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย (ลิงก์บันทึก)
ทรัมป์ตัดสินใจระงับความช่วยเหลือและการแบ่งปันข้อมูลทางทหารแก่ยูเครน ก่อนจะยกเลิกคำสั่งหลังยูเครนยอมรับข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราวในวันที่ 11 มีนาคม ด้านทางการรัสเซียกล่าวว่ายังคงรอดูรายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าว และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติสงครามซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นรายในช่วงสามปีที่ผ่านมา (ลิงก์บันทึก)

คลิปวิดีโอนี้ถูกนำไปแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันทั้งบนเฟซบุ๊กและ X ซึ่งมียอดรับชมคลิปรวมกันหลายล้านครั้ง
“ขอเป็นรัฐที่51เลยแซงหน้าแคนาดา” ความคิดเห็นหนึ่งระบุ
ส่วนอีกความเห็นกล่าวว่า “ชาวอังกฤษฉลาดขึ้นเยอะ ไม่ยอมให้เงินภาษีและทหารไปเสียหายตายจากเพื่อยูเครน”
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นวิดีโอการประท้วงตั้งแต่ปี 2561
การชุมนุมที่ถนนไวต์ฮอลล์
การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอในโพสต์เท็จ พบวิดีโอเดียวกันในเวอร์ชันที่ยาวกว่าเผยแพร่บนยูทูบเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายระบุว่าวิดีโอนี้ถูกบันทึกไว้ในช่วงที่มีการชุมนุมสนับสนุนทรัมป์และเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำการเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัด ทอมมี โรบินสัน ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 บริเวณถนนไวต์ฮอลล์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานราชการหลายแห่งในลอนดอน (ลิงก์บันทึก)
ในช่วงเวลานั้น ทรัมป์เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยแรก และกำลังอยู่ระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าพบเธเรซา เมย์ นายกฯ ฝั่งอนุรักษนิยมของอังกฤษ (ลิงก์บันทึก)
กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มขวาทางเลือก” (alt-right) ได้เข้าใช้พื้นที่การชุมนุมร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุนนักกิจกรรมต่อต้านชาวมุสลิมชื่อทอมมี โรบินสัน ที่ถูกจับกุมจากข้อหาเผยแพร่วิดีโอถ่ายทอดสดบริเวณศาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อบังคับในระหว่างช่วงการพิจารณาคดี (ลิงก์บันทึก)

ภาพถ่ายจากเหตุประท้วงดังกล่าวถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์คลังภาพของ AFP
สื่ออังกฤษอย่างสกายนิวส์ (Sky News) และหนังสือพิมพ์อีฟนิงสแตนดาร์ด (Evening Standard) รายงานเหตุชุมนุมดังกล่าว โดยระบุว่าเกิดการปะทะกันเล็กน้อยและมีผู้ชุมนุมถูกจับกุม 12 คน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
สกายนิวส์รายงานว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อสนับสนุนทรัมป์จำนวนหลายพันคน โดยถือเป็นการชุมนุมเพื่อตอบโต้การประท้วงการมาเยือนของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นหนึ่งวันก่อนหน้า และยังถือว่าเป็นหนึ่งในการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดของอังกฤษที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่าแสนคน
ข้อมูลจาก : AFP
นักวิชาการชี้ภาพปลอมหวังสร้างมวลชนสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์

ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ให้ความคิดเห็นถึงการเผยแพร่ภาพปลอมที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในยุโรปว่า นับตั้งแต่การเข้ามาดำรงตำแหน่งของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ถือว่าข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนถือเป็นการสร้างสีสันรายวัน และเป็นเนื้อหาที่สนทนาได้ทุกที่
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่แน่ใจวัตถุประสงค์ของการทำคลิป แต่ก็อาจมองได้ว่า ต้องการทำให้เห็นว่านอกจากสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังมีผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องที่ทรัมป์ทำอยู่
ทั้งนี้แม้จะไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่ แต่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน คือรัฐบาลอังกฤษยังคงสนับสนุน ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน โดยเฉพาะจะเห็นได้จากการที่ เซเลนสกี เดินทางเข้าพบกษัตริย์ของอังกฤษ ซึ่งสื่อให้เห็นว่า รัฐบาลและประเทศอังกฤษยังคงสนับสนุนเซเลนสกีอยู่ แม้จะเพิ่งโต้วาทะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาไม่นาน
สำหรับการนำภาพที่ไม่เกี่ยวข้องมาเผยแพร่ในลักษณะดังกล่าว ส่วนตัวเชื่อว่าการปล่อยข่าวปลอมลักษณะนี้ เป็นเพียงการปล่อยข่าวปลอมที่หวังดึงมวลชนให้หลงเชื่อว่า คนอังกฤษสนับสนุน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และทำให้คนที่หลงเชื่อมาสนับสนุนหรืออยู่ฝ่ายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มากขึ้นเพียงเท่านั้น ซึ่งการโพสต์ข่าวลวงหรือข่าวปลอมเข้ามาเพิ่มเติม ก็จะยิ่งเป็นการกระจายความเข้าใจที่ผิด ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น