เช็ก! จุดเสี่ยงถนนบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง คอนกรีตจำเป็นไหม ?

สิ่งแวดล้อม
5 พ.ย. 61
16:17
3,052
Logo Thai PBS
เช็ก! จุดเสี่ยงถนนบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง คอนกรีตจำเป็นไหม ?
ฟังสองฝ่ายปรับถนนขึ้น "พะเนินทุ่ง" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เชื่อช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และงานลาดตระเวน ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์ ยังเชื่อว่าซ่อมแซมบางจุดเสี่ยง ที่มีปัญหาน้ำกัดเซาะดินถล่ม ชี้อาจมีจุดเสี่ยงไม่ถึง 1 กิโลเมตร

วันนี้ (5 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีการก่อสร้างและปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง บริเวณ กม.ที่ 15+00 ถึง กม.ที่ 36+500 ระยะทาง 21.5 กิโลเมตร เริ่มมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเครือข่ายนักอนุรักษ์ต่างๆ ร่วมออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี


นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุ การปรับปรุงถนนในครั้งนี้ เนื่องจากสภาพถนนสายบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง เสียหายจากฝนที่ตกอย่างหนักตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสภาพถนนในปัจจุบันมีการชำรุด ผิวจราจรหลุดร่อน ถนนยุบตัว มีดินถล่ม น้ำกัดเซาะตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงหลักกิโลเมตรที่ 19 ที่ยังคงพบร่องรอยหินขนาดใหญ่สไลด์ลงมา บางช่วงมีถนนดินแดงขึ้น-ลงลำบาก แม้ผิวจราจรเดิมจะเป็นถนนลาดยาง แต่ได้รับความเสียหายจากน้ำเกาะเซาะจนกลายเป็นดินโคลน พื้นถนนยุบตัว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ถนนที่จะปรับปรุงนี้ เจ้าหน้าที่ใช้เป็นเส้นทางลาดตระเวนและเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวใช้ขึ้นไปยังจุดชมทิวทัศน์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ และกรณีฉุกเฉิน เช่น ชาวบ้าน หรือนักท่องเที่ยวบาดเจ็บหรือป่วยก็จะมีความเสี่ยงและยากลำบากในการนำส่งโรงพยาบาล

ขณะที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สำรวจเส้นทางดังกล่าวเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่สร้างขึ้นโดยกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2529 โดยมีลักษณะเป็นถนนลาดยางมานาน 30 ปี ซึ่งมีผิวจราจรหลุดร่อน ถนนยุบตัว มีลักษณะเป็นดินโคลน บางส่วนถูกน้ำกัดเซาะจริง

ระหว่างทางมีสัตว์ป่าจำนวนมากออกมาหากินบนถนนเส้นนี้ ทั้งไก่ฟ้าหลังเทา เสือดาว กระทิง หมีหมา และเก้ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ช่างภาพบันทึกภาพได้เป็นประจำระหว่างที่สัตว์เหล่านี้เดินข้ามถนน ทั้งยังเป็นถนนเส้นสำคัญที่พบนกหายากได้บ่อยครั้ง นักอนุรักษ์จึงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้อาจหายไปในช่วงก่อสร้างถนนคอนกรีต  


ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า การก่อสร้างและปรับปรุงถนนบ้านกร่าง-พะเนินทุ่งครั้งนี้ แม้ไม่ได้เป็นการตัดถนนเส้นใหม่ แต่ก็เป็นถนนเส้นเดิมที่ผ่าเข้าไปใจกลางป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งเป็นจุดที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมากที่สุด เพื่อไปสู่พื้นที่จุดชมทิวทัศน์ทะเลหมอก 


ถนนเส้นนี้เมื่อก่อนเป็นทางดิน แต่เมื่อ 4-5 ปี ที่ผ่านมา ได้ทำเป็นลาดยางแล้ว โดยการเดินทางเริ่มต้นเส้นทางผ่านลำธาร เมื่อขึ้นไป

กิโลเมตรที่ 18-19 ช่วงขึ้นเขาก็พบถนนบางส่วนที่ผิวถูกทำลายอยู่บ้าง แต่สภาพไม่ได้พังมากขนาดนั้น ซึ่งระยะทาง 21.5 กิโลเมตรที่จะก่อสร้างและปรับปรุงรวมๆ คิดว่าไม่น่าจะถึง 1 กิโลเมตรที่พังมากๆ


นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวว่า สภาพถนนตอนนี้ รถก็วิ่งได้อยู่แล้ว แต่ซิ่งไม่ได้ และเราก็ไม่ได้ต้องการให้ซิ่ง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอางบประมาณไปทำคอนกรีต เพียงแค่ซ่อมจุดที่มันพังบ่อย น้ำซัดพังตรงไหน ก็ซ่อมตรงนั้นไป 

เปิดแผนปรับปรุงถนนคอนกรีต 

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จัดทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง โดยได้รับการอนุมัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้ว จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง จากผิวการจราจรเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร และถนนน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง ความยาว รวม 90 เมตร ภายใต้งบประ มาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 (งบพัฒนาจังหวัด) จำนวน 10,747,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 230 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 แล้วเสร็จวันที่ 15 มกราคม 2562


ส่วนอีกโครงการ คือ โครงการปรับปรุงถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง จากผิวการจราจรเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 18.50 กิโลเมตร พร้อมรางระบายน้ำ ภายใต้แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2560 แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ งบ 86,747,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 560 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 28 กันยายน 2561 แล้วเสร็จวันที่ 9 เมษายน 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง