ไข้เลือดออกระบาดในอีสาน "อุบลราชธานี" พบผู้ป่วยกว่า 2,000 คน

สังคม
9 มิ.ย. 62
14:18
1,855
Logo Thai PBS
ไข้เลือดออกระบาดในอีสาน "อุบลราชธานี" พบผู้ป่วยกว่า 2,000 คน
ปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในภาคอีสานทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยที่ จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้พบผู้ป่วยกว่า 1,400 คน สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า ขณะที่ จ.อุบลราชธานี เฉพาะปีนี้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกกว่า 2,000 คน เสียชีวิตแล้ว 8 คน

กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีและภาคประชาชนร่วมบริจาค เครื่องวัดความดัน 6 เครื่อง และมุ้งแบบผูกติดกับเตียงนอนผู้ป่วย 15 หลัง ให้กับโรงพยาบาลตาลสุม จ.อุบลราชธานี เพื่อให้แพทย์นำไปใช้คัดกรองผู้ป่วยและใช้มุ้งป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคอื่นถูกยุงกัดระหว่างนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หลัง จ.อุบลราชธานี มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกว่า 2,000 คน เสียชีวิตแล้ว 8 คน

 

ส่วนที่ จ.มหาสารคาม เจ้าหน้าที่ส่วนส่งเสริมสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม ออกให้ความรู้แก่ อสม. พร้อมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกและใส่ทรายอะเบทลงในน้ำ คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง รวมทั้งฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายในชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของโรค

นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.มหาสารคาม เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 209 คนและยังไม่มีผู้เสียชีวิต การรับมือยังเน้นให้ประชาชนใช้มาตรการ 3 เก็บ 3 โรค คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง, เก็บขยะไม่ให้เป็นแหล่งพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำให้มิดชิด หรือเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน

ยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในเขต ต.แวงน่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการควบคุม เพราะอยู่ในเขตเมือง

สำหรับภาพรวมทั้งประเทศ โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มแพร่ระบาดมากขึ้น คาดการณ์ว่าปี 2562 อาจจะพบผู้ป่วยมากถึง 100,000 คน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 พบผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 23,000 คน เสียชีวิตแล้ว 30 คน และส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสเดงกี่ สายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งรุนแรงที่สุดใน 4 สายพันธุ์ โดยหากป่วย 2 ครั้งจะยิ่งมีความรุนแรงของโรค

รัฐออกกฎเหล็กคุมไข้เลือดออกระบาด

ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้น ทำให้ปีนี้กรมอนามัยสั่งคุมเข้มลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยให้ท้องถิ่นตรวจสอบ ถ้าพบให้สั่งการเจ้าของสถานที่แก้ไข แต่ถ้าไม่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามที่เจ้าหน้าที่กำหนดจะมีโทษทั้งจำและปรับ

รองอธิบดีกรมอนามัย ยืนยันว่า ขณะนี้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากท้องถิ่น ตรวจสอบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ถ้าเป็นบ้านร้างหรือพื้นที่สาธารณะ ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำจัดทันที แต่ถ้าเป็นบ้านเรือนหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีเจ้าของ ให้สั่งการเจ้าของพื้นที่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ หากไม่ทำมีความผิดตามมาตรา 74 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่คุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จำคุก 3 เดือน ปรับ 2.5 หมื่นบาท

ครู-เด็กสิงคโปร์ 14 คนป่วยโรคชิคุนกุนยาในไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง