วันนี้ (2 พ.ค.2568) อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. เดินทางมายื่นเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจาก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ หลังถูกข่มขู่คุกคาม โดยมีนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา มารับเรื่องด้วยตนเอง
โดยนางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีตผู้สมัคร สว. อ้างว่าตัวเองเป็นผู้สมัคร สว. ในกลุ่มสตรี ระบุว่าเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือก สว. ระดับประเทศที่มีความผิดปกติ และมีกลไกที่ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นและเห็นการแทรกซ้อนของผู้บังคับบัญชาบางคน
ซึ่งที่ผ่านมาตัวเองได้ไปร้องเรียนหลายหน่วยงานทั้งศาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งไปแจ้งความที่ สภ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม กรณีการเลือกตั้งที่มีพฤติการณ์อั้งยี่ ซึ่งหลังแจ้งความก็มีนายอำเภอโทรศัพท์มาหาตัวเองเพื่อสอบถามว่า ได้เดินทางไปแจ้งความมาหรือไม่และต้องการขอสำเนาแจ้งความ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่งให้มาดำเนินการตัวเองจึงตั้งคำถามกลับไปว่าอำนาจหน้าที่ดังกล่าวควรเป็นอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ และอัยการที่จะต้องส่งเรื่องไปยังศาล
นอกจากนี้ตนยังทราบมาด้วยว่ามีพยานหลายคนในคดีนี้ถูกข่มขู่ให้ไปแจ้งความกับดีเอสไอว่าถูกบังคับมาให้ปากคำ จนพยานต้องไปแจ้งความกลับหลายคนเนื่องจากเกิดความหวาดกลัว อีกทั้งยังมีการสั่งการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ไปพูดจาข่มขู่พยานด้วย
ด้านนางจันทร์เพ็ญ ประเสริฐศรี ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายใน จ.อำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นผู้แทนของกลุ่มผู้สมัคร สว. ใน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งขณะนี้พบว่าถูกข่มขู่ โดยใน จ.อำนาจเจริญ พบ สว. 5 คน ซึ่งการรับรองดังกล่าวส่วนตัวมองว่าเป็นการรับรองบุคคลที่ขาดคุณสมบัติในสาขาอาชีพต่างๆ โดยให้นักการเมืองท้องถิ่น เป็นผู้รับรอง จึงมองว่าเป็นช่องทางที่นักการเมืองนำมาใช้ในการคัดเลือก สว. ซึ่งใน จ.อำนาจเจริญ พบกลุ่มบุคคล 600 - 700 คน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการฮั้ว สว. ที่ถูกข่มขู่จากบุคคลบางกลุ่ม ตัวเองจึงอยากส่งเสียงไปถึงกลุ่มบุคคลที่ถูกข่มขู่ให้เข้ามาร่วมเป็นพยานกับดีเอสไอ สำหรับลักษณะการข่มขู่เบื้องต้นพบ มีการส่งข้อมูลหรือข้อความไปถึงกลุ่มผู้สมัครและญาติ ห้ามไม่ให้เข้ามาให้ปากคำในฐานะพยานกับดีเอสไอ อ้างว่ามีการเคลียร์คดีกันแล้ว อีกทั้งยังมีการฝากข้อความมาบอกตัวเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับคดีดังกล่าว
ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ผู้ที่เข้ามาร้องทั้ง 2 คน วันนี้ถือเป็นพยานในคดีพิเศษที่ดีเอสไออยู่ระหว่างทำการสอบสวนในคดีอั้งยี่ กรณีฮั้วเลือก สว. ระดับประเทศ ซึ่งหลังจากที่นางกุสุมาลวตี ไปแจ้งความที่ สภ.โกสุมพิสัย แล้วสำนักตำรวจแห่งชาติก็ได้ส่งเรื่องมาที่ดีเอสไอ และดีเอสไอพิจารณารับเรื่องเป็นคดีพิเศษแล้ว
โดยวันนี้มีการมาร้องขอว่ามีพฤติกรรมที่อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัย ซึ่งรัฐมีหน้าที่คุ้มครองพยานในคดีอาญา โดยคณะกรรมการกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องพิจารณาว่ามีพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับพยานหรือไม่ ส่วนกรณีที่มีบุคคลอื่นมาร้องขอนำบันทึกประจำวันที่ผู้ร้องไปแจ้งความ ก็ต้องพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวมีอำนาจหรือสิทธิที่จะขอหรือไม่
ซึ่งการแจ้งความร้องทุกข์ถือเป็นเอกสารในสำนวนคดีอาญา ตามหลักกฎหมายแล้วก็มีข้อยกเว้นที่จะไม่เปิดเผยได้ เพราะอาจจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ สำหรับการข่มขู่พยานดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสอบสวนแต่หากมีการมาข่มขู่คุกคามพยานก็ต้องมีการพิจารณาคุ้มครอง โดยเบื้องต้นมีพยานมาร้องว่าถูกข่มขู่หลายคน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นใครบ้าง
ส่วนความคืบหน้าทางคดี ขณะนี้มีการรวบรวมพยานหลักฐานไปมากพอสมควรแล้ว ทั้งพยานบุคคล ประจักษ์พยาน รวมทั้งพยานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่ามีการกระทำจัดตั้งเป็นสมาชิก คณะบุคคล หรือมีการปกปิดวิธีดำเนินการเพื่อกระทำการมิชอบด้วยกฎหมายด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือไม่ ส่วนหลังจากนี้จะมีการประสานขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพนักงานสอบสวนอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร
สำหรับการจำลองเหตุการณ์วันเลือกตั้ง สว. ระดับประเทศที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่าได้ข้อมูลรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ เพราะนำภาพที่ได้จากการบันทึกภาพเคลื่อนไหวมาวิเคราะห์ว่าบุคคลใดอยู่ในกิจกรรมอะไรบ้าง การเลือก การลงคะแนน การแสดงบัตร มีความสอดคล้องกับพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุอย่างไรบ้าง
อ่านข่าว :
ปธ.กกต. ยันเร่งทำสำนวนปมคุณสมบัติ "สว.หมอเกศ" คาดส่งศาลใน 60 วัน