สหรัฐฯ เปิดฉากโจมตีสถานที่ในโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน 3 แห่ง ได้แก่ ฟอร์โดว์ นาทานซ์ อิสฟาฮาน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2568 ภาพถ่ายดาวเทียมจาก แมกซาร์ เทคโนโลจีส์ เผยให้เห็นความเสียหายของโรงงานนิวเคลียร์นาทานซ์ และอิสฟาฮานของอิหร่าน ก่อนและหลังการโจมตีของสหรัฐฯ ซึ่งบางจุดมีหลุมกว้างเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 5.5 เมตร

ภาพถ่ายดาวเทียม แจกฟรีที่เผยแพร่โดย Maxar Technologies แสดงให้เห็นโรงงานเสริมสมรรถนะเชื้อเพลิง Fordow ของอิหร่าน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2025 (ด้านบน) และ หลังจากที่สหรัฐฯ โจมตีฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2025
ภาพถ่ายดาวเทียม แจกฟรีที่เผยแพร่โดย Maxar Technologies แสดงให้เห็นโรงงานเสริมสมรรถนะเชื้อเพลิง Fordow ของอิหร่าน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2025 (ด้านบน) และ หลังจากที่สหรัฐฯ โจมตีฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2025
อ่านข่าว : อิหร่านยิงกลับอิสราเอลทันที หลังทรัมป์แถลงโจมตีฐานนิวเคลียร์
ขณะเดียวกัน ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงจากแมกซาร์ เทคโนโลจีส์ และแพลเนท แลบส์ ยังแสดงให้เห็นความเสียหายบริเวณโรงงานนิวเคลียร์ฟอร์โดว์ โดยเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลังการโจมตีของกองทัพสหรัฐฯ เผยให้เห็นหลุมขนาดใหญ่หลายหลุมบนสันเขา เหนือศูนย์ปฏิบัติการใต้ดินของโรงงานฟอร์โดว์ ซึ่งเป็นผลมาจากการทิ้งระเบิดทำลายบังเกอร์ซึ่งมีอานุภาพการทำลายล้างสูง
การโจมตีครั้งนี้ได้รับการยืนยันโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งออกมาแถลงข่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้โจมตีโครงการนิวเคลียร์ 3 แห่ง ในอิหร่านได้แม่นยำและรุนแรง เป้าหมายคือการทำลายความสามารถในการเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์ของอิหร่าน และหยุดยั้งภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ที่เกิดจากรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายอันดับหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเตือนว่า หากอิหร่านไม่ยอมเจรจาสันติภาพ สหรัฐฯ อาจโจมตีเป้าหมายอื่นเพิ่มอีก โดยสหรัฐฯ มีศักยภาพในการโจมตีเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
กลาโหมสหรัฐฯ เผยใช้อากาศยานกว่า 125 ลำโจมตีอิหร่าน

พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ
พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ
พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การโจมตีสถานที่ทางนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยกองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของอิหร่าน รวมถึงไม่ได้พุ่งเป้าจัดการทหารหรือประชาชน แต่เป็นคำสั่งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อนุมัติการโจมตีเพื่อทำลายภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ซึ่งเกิดจากโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน
ด้านประธานคณะเสนาธิการร่วม ระบุว่า ปฏิบัติการโจมตีครั้งนี้การใช้ระเบิดทำลายบังเกอร์ 14 ลูก ขีปนาวุธโทมาฮอว์กมากกว่า 24 ลูก และมีอากาศยานทางทหารเข้าร่วมมากกว่า 125 ลำ โดยได้เริ่มโจมตีโครงการนิวเคลียร์ทั้ง 3 แห่ง เมื่อเวลาประมาณ 18.40 น.ตามเวลาตะวันออก ก่อนที่จะออกจากน่านฟ้าของอิหร่านภายในเวลา 19.00 น.
เจ ดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ทำสงครามกับอิหร่าน แต่กำลังทำสงครามกับโครงการนิวเคลียร์และความทะเยอทะยานในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ และพันธมิตร จะเดินหน้าทำลายความก้าวหน้าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านให้ได้เป็นการถาวรต่อไป
หลังการโจมตีดังกล่าว เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมาชื่นชมการตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์ โดยระบุว่า การตัดสินใจอันกล้าหาญของทรัมป์ครั้งนี้จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้เห็นว่าอเมริกานั้นเหนือกว่าอย่างแท้จริงที่จะไม่มีประเทศอื่นใดในโลกสามารถทำได้ ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินการเพื่อขัดขวางไม่ให้ระบอบการปกครองที่อันตรายที่สุดในโลกนี้ มีอาวุธที่อันตรายที่สุดในโลก
อ่านข่าว : ถ้าอิหร่านปิด "ช่องแคบฮอร์มุซ" โลกจะเผชิญอะไรบ้าง ?
ปธน.อิหร่านชี้สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังอิสราเอล
ขณะที่มาซูด เปเซซเคียน ประธานาธิบดีอิหร่าน ระบุว่า การโจมตีโครงการนิวเคลียร์อิหร่านของสหรัฐฯ นั้นแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ คือผู้อยู่เบื้องหลังในการโจมตีอิหร่านของอิราเอล และอิหร่านจะทำให้เห็นอีกครั้งว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องน้ำและผืนดินของประเทศ
ด้านอับบาส อาราคชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ประณามการโจมตีของสหรัฐฯ ที่ใช้กำลังทางทหารอันโหดร้ายโจมตีโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่าน โดยระบุว่า เป็นการละเมิดกฏบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งผู้ที่กระหายสงครามและรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องรับผิดชอบต่อผลอันเลวร้ายที่จะตามมา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านยังระบุว่า อิหร่านไม่เคยละทิ้งวิธีทางการทูตแต่เป็นอิสราเอลกับสหรัฐฯ ที่ทำลายการเจรจาเสียเอง และตั้งคำถามว่าอิหร่านจะกลับสู่การเจรจาได้อย่างไรในเมื่อไม่เคยละทิ้งการเจรจา
การโจมตีที่เกิดขึ้นทำให้อิหร่านได้ยื่นจดหมายเร่งด่วนต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแล้ว เพื่อประณามการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ โดยประณามและกล่าวโทษอย่างรุนแรงที่สุดต่อการกระทำอันก้าวร้าวที่ไม่มีการยั่วยุและไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าเหล่านี้ ตามหลังการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์เพื่อสันติครั้งใหญ่โดยอิสราเอล เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. พร้อมเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงเรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาการกระทำที่อันอุกอาจและขัดต่อกฎหมายครั้งนี้
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทางการอิหร่าน รายงานว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่พบการปนเปื้อน เช่นเดียวกับสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่ยืนยันว่าไม่มีรายงานการพบระดับรังสีนอกพื้นที่เพิ่มขึ้นหลังการโจมตีดังกล่าว ด้านเจ้าหน้าที่อิหร่าน เปิดเผยว่า ไม่พบการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี จึงยังไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อผู้ที่อาศัยโดยรอบโครงการนิวเคลียร์
ขณะที่ชาวอิหร่านบางส่วน เชื่อว่า อิหร่านจะตอบโต้การโจมตีนี้อย่างเหมาะสม และสหรัฐฯ ทำไปเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในวงเจรจา ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลของสหรัฐฯ เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์
นานาชาติกังวลสหรัฐฯ โจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน
ด้านอันโตนิโอ กูร์เตรเรส เลขาธิการองค์สหประชาชาติ แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า การที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในภูมิภาคที่กำลังสั่นคลอนอยู่แล้ว จึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและทันทีเพื่อยุติการสู้รบ และหันหน้ากลับไปสู่การเจรจาที่จริงจังและต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
เช่นเดียวกับเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่เรียกร้องให้มีการลดความตึงเครียดลงและให้กลับมาเจรจาทางการทูตอีกครั้ง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายที่ทุกคนมุ่งหวัง นั่นคืออิหร่านจะไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ต่างจากชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งเรียกร้องให้ลดความตึงเครียดลง แม้จะยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ออกหนังสือแสดงความกังวลอย่างยิ่ง พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกเร่งบรรลุทางออกทางการเมืองเพื่อยุติวิกฤตครั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบางอย่างยิ่ง
อ่านข่าว : ผู้นำโลกเรียกร้องเจรจาด่วน! สหรัฐฯ ถล่มนิวเคลียร์อิหร่าน
ทั่วโลกชุมนุมค้านสหรัฐฯ โจมตีฐานนิวเคลียร์อิหร่าน
ขณะที่การเคลื่อนไหวในส่วนของประชาชน ผู้คนหลายประเทศออกมาประท้วงแสดงความต่อต้านการโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯ โดยชาวอินเดียในรัฐเวสต์ เบงกอล รวมตัวเดินขบวนประท้วง พร้อมกับจุดไฟเผาหุ่นจำลองของผู้นำสหรัฐฯ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินใจครั้งนี้
เช่นเดียวกับผู้ประท้วงอีกหลายร้อยคนในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ทั้ง 3 แห่งของอิหร่าน รวมทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ และอิสราเอล
ชาวญี่ปุ่นหลายสิบคนรวมตัวประท้วงบริเวณด้านหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงโตเกียว พร้อมกับถือป้ายข้อความต่างๆ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างสันติระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
นักบินเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 เดินทางกลับสหรัฐฯ อย่างปลอดภัย
ขณะที่ล่าสุด ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาเคลื่อนไหวผ่านทรูธ โซเชียลอีกครั้ง โดยระบุถึงความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในอิหร่าน โดยระบุว่า การใช้คำว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้องทางการเมือง แต่หากระบอบการปกครองอิหร่านในปัจจุบันไม่สามารถทำให้อิหร่านยิ่งใหญ่ขึ้นได้อีกครั้ง เหตุใดจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

พร้อมลงท้ายโพสต์ด้วย MIGA ซึ่งย่อมาจาก MAKE IRAN GREAT AGAIN หรือทำให้อิหร่านยิ่งใหญ่อีกครั้ง ส่วนอีกโพสต์หนึ่งผู้นำสหรัฐฯ เผยว่า นักบินเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 ที่บินไปปฏิบัติภารกิจในอิหร่านได้เดินทางกลับสหรัฐฯ อย่างปลอดภัยแล้ว พร้อมกับขอบคุณที่ปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ได้อย่างดีเยี่ยม
อ่านข่าว : เทลอาวีฟระส่ำ! ขีปนาวุธอิหร่านถล่ม เจ็บ 86 คน