ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชีวิตคนในป่าถูกกฎหมาย "ขับไล่" Last Karen (Life) ร้องขอ หลบหนี

ชีวิตคนในป่าถูกกฎหมาย "ขับไล่" Last Karen (Life) ร้องขอ หลบหนี

พุทธศักราช 2500 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ...ชายชาวกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอคนหนึ่ง ตั้งความหวังว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในผืนป่าของครอบครัวเขาน่าจะมีความมั่นคงมากขึ้น จะไม่ต้องคอยกังวลกับการถูกขับไล่อีกต่อไป ถ้าได้รับเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินทำกินอย่างถูกต้องจากทางราชการ

"สค.1" หรือ แบบการแจ้งครอบครองที่ดิน คือ เอกสารที่ชายชาวปกาเกอะญอต้องการ เพื่อยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ครอบครัวและชุมชนชาวกะเหรี่ยงของพวกเขาอาศัยอยู่และทำกินในบริเวณนี้มานานแล้ว เพราะถ้าได้เอกสาร สค.1 ก็จะได้รับรองจากหน่วยงานรัฐว่า อยู่มาก่อนปี พ.ศ.2497 เป็นอย่างน้อย

แต่การขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดินมารังวัดเพื่อออก สค.1 มันมีราคาที่ต้องจ่าย

"ในช่วงปี พ.ศ. 2500 ชาวบ้านที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่มาวัดที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิจะต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ด้วย ... ปู่ของผมในเวลานั้น ก็ไปขอให้เจ้าหน้าที่มารังวัดที่ดินในแปลงไร่หมุนเวียนของเรา และถูกเรียกเก็บค่ารังวัดเป็นเงิน 7 บาท ... แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวของปู่ผม มีเงินอยู่แค่ 2 บาท"

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 68 ปีก่อนเรื่องนี้ ถูกระบุว่า เกิดขึ้นในป่าที่เป็นรอยต่อระหว่าง อ.แม่วาง กับ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน โดย “พฤ โอโดเชา” นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวปกาเกอะญอ เล่าเรื่องที่เขาได้รับฟังมาจาก "จอนิ โอโดเชา" ผู้เป็นพ่อของเขา ซึ่งในเวลานั้นมีอายุ 22 ปี มาอีกทอด

เรื่องเล่าของ พฤ มีเป้าหมายเพื่อที่จะบอกว่า จริง ๆ แล้ว คนกะเหรี่ยงในอดีตก็มีความพยายามที่จะทำให้ที่ทำกินของพวกเขาได้รับการรับรองจากทางราชการมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้ว แต่กลับมีน้อยคนมากที่ทำได้สำเร็จ

เจ้าหน้าที่จะรังวัดที่ดินให้ ปู่ของผมจะต้องจ่ายเงิน 7 บาท แต่ทั้งตัวมีเงินอยู่แค่ 2 บาท ปู่ของผมก็พยายามไปหาหยิบยืมเงินมาเพิ่มจากคนทั้งหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้

"พ่อเล่าให้ฟังต่อว่า ถึงจะมีเงินไม่พอ แต่ปู่ก็ยังไม่ละความพยายาม ท่านติดตามเจ้าหน้าที่ไปช่วยยกของระหว่างที่ออกไปรังวัดในหมู่บ้านอื่นๆด้วย เพื่อหวังว่าเจ้าหน้าที่จะให้ค่าแรงเป็นการลดหย่อนค่ารังวัดที่ดินให้ แต่จนท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ลดราคาให้ บ้านเราก็เลยไม่มี สค.1 มาจนถึงปัจจุบัน เพราะปู่ของผมหาเงินเพิ่มอีก 5 บาทไม่ได้ในวันนั้น"

แน่นอนว่า เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นกับปู่ของ พฤ โอโดเชา อาจเป็นเรื่องเดียวกันที่เกิดขึ้นกับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อีกเป็นจำนวนมากที่มีถิ่นอาศัยดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ป่า และในปัจจุบันพวกเขาก็ถูกเปลี่ยนสถานะไปแล้ว จากชุมชนที่อยู่อาศัยในป่าและมีสิทธิยื่นขอรังวัดออกเอกสารสิทธิ์ กลายมาเป็น "ผู้บุกรุก" และหากต้องการจะอยู่ต่อไป ก็ต้องขอ "ความอนุเคราะห์" จากหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตามกฎหมายซึ่งประกาศใช้ตามมาในภายหลัง

อยู่ได้ตาม "เงื่อนไข" ที่หน่วยงานรัฐ "อนุญาต"

"อนุญาต" ให้ประชาชนทำกินได้ ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ โดยมิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น

"อนุญาต" ให้ทำกินได้ คราวละไม่เกิน 20 ปี

"อนุญาต" แต่จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร

การอาศัยทำกินของคนไทยที่มีสถานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ป่ามาช้านานทั่วประเทศ ต้องกลายมาเป็น "การขออนุญาต" ไปที่หน่วยงานของรัฐ

สำหรับคนทั่วไป จึงอาจดูเหมือนว่า "หน่วยงานรัฐ" เป็นเจ้าของบ้านที่แสนใจดี ยินยอมผ่อนผันให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปทำกินในพื้นที่ป่าที่พวกเขานิยามว่า "ป่าอนุรักษ์" ได้ชั่วคราว 20 ปี

"มาเป็นระลอก รัฐทำเหมือนจะมาให้สิทธิอยู่ในป่า แต่จริงๆ แล้ว น่าจะเป็นวิธีการเอาพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ออกจากป่าอย่างถาวรไปเลยมากกว่า" ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง สนทนาต่อโดยวกกลับมาคุยถึงสถานการณ์ในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา

"อย่างบ้านผมที่สะเมิง มีความตึงเครียดจาก 2 ทางเลย ทางหนึ่งเขากำลังจะผลักดันประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนอีกทางหนึ่งคือพื้นที่เราเดิมก็อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็ถูกกดดันจากนโยบายที่ดินที่เรียกว่า คทช. (โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งก็มีเงื่อนไขต่างๆ เกือบจะเหมือน กับชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานเลยครับ คือ ให้สิทธิการทำกินชั่วคราวไม่เกิน 20 ปี ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ และต้องทำต่อเนื่องในแปลงเดิมทุกปี ... คือ ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้"

โครงการ คทช.ที่ พฤ อ้างถึง เป็นโครงการที่ดูเหมือนจะช่วยให้ชาวบ้านที่ยากไร้ ที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐมีที่ดินทำกิน โดยการอนุญาตจากรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ที่สาธารณะประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้

แต่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ามานับร้อยปี การที่จะต้องมาลงชื่อยอมเข้ารับสิทธิในลักษณะนี้ มีค่าเท่ากับ การยอมเสียสิทธิดั้งเดิมในฐานะผู้ที่อยู่มาก่อนจะมีกฎหมายด้วยซ้ำ

นอกจาก คทช.แล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐในการประกาศใช้กฎหมายเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ ที่เรียกกันสั้นๆรวมๆกันว่า "พระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ฯ" เพื่อใช้วิธีการเดียวกันนี้ดำเนินการกับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คือ

  • พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
  • พระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

ทั้งหมดนี้ มีสาระสำคัญคล้ายกันคือ ให้ชาวบ้านได้สิทธิทำกินชั่วคราวโดยมิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น

หมายความว่า ทันทีที่ลงชื่อเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ ... ชาวบ้านซึ่งเคยต่อสู้มาตลอดว่า อยู่อาศัยทำกินในป่ามาก่อนจะมีประกาศว่าเป็นที่ดินของรัฐ ... ก็จะต้องรับสภาพว่าเป็นผู้บุกรุกที่รัฐอนุญาตให้เข้ามาอยู่ชั่วคราวได้ไปในทันที

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา สื่อมวลชนอิสระ

อ่านข่าว : วันแห่งทางสายกลาง อาสาฬหบูชา 2568 ชวนฟังธรรม-ถือศีล

สภาพัฒน์รอถกกำแพงภาษี 36% เชื่อไทยยังมีสินค้าแข่งขันได้

หมายจับ "ก๊กอาน" คนสนิท "ฮุนเซน" โยงแก๊งคอลเซนเตอร์-ตร.บุกค้น 19 จุด