พายุโซนร้อนกำลังแรง "วิภา" มีศูนย์กลางอยู่บริเวณชายฝั่งเมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนตัวตามแนวชายฝั่งประเทศจีน เข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยและขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามเวียดตอนบน ช่วงวันที่ 21-22 ก.ค.2568 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณ ประเทศลาว ตามลำดับ
แม้จะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แต่จะส่งผลกระทบ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ต้องระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในพื้นที่ดังกล่าว
"วิภา" ชื่อนี้มาจากอะไร ?
พายุ "วิภา" เป็นชื่อที่ประเทศไทยตั้งขึ้น โดยเป็นชื่อผู้หญิงที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต วิภา หมายถึง แสงสว่าง ความงาม หรือ ความรุ่งเรือง มีการนำชื่อนี้มาใช้กับพายุ 5 ครั้งแล้ว พายุวิภาครั้งล่าสุดนี้เป็นลูกที่ 6 ของฤดูพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก
พายุวิภาเป็นประเภทพายุโซนร้อนกำลังแรง
ระดับความแรงพายุ
พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างกันแล้วแต่ท้องถิ่นที่เกิด
- พายุไต้ฝุ่น – Typhoon เกิดบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และในทะเลจีนใต้
- พายุเฮอร์ริเคน – Hurricane เกิดบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือทะเลคาริบเบียน และในอ่าวเม็กซิโก
- พายุไซโคลน – Cyclone เกิดในอ่าวเบงกอลและทะเลอาราเบียนในมหาสมุทรอินเดีย
หรือมีชื่อเรียกไปต่าง ๆ กันถ้าเกิดในบริเวณอื่น
จัดแบ่งชั้นของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงได้เป็น 3 ชั้น
- ดีเปรสชันเขตร้อน (Tropical Depression) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางน้อยกว่า 34 นอต หรือ 63 กม./ชม.
- พายุโซนร้อน (Tropical Storm) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 34-64 นอต หรือ 63-117 กม./ชม.
- พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอร์ริเคน (Typhoon or Hurricane) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 นอต หรือมากกว่า หรือ ตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป
สถานการณ์พายุ "วิภา"
วันที่ 21 ก.ค.2568 กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า เวลา 04.00 น. พายุโซนร้อนกำลังแรง "วิภา" มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจ้านเจียง ประเทศจีน มีความเร็วลมสูงสุด 90 กม./ชม. และกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและขึ้นฝั่งบริเวณเวียดนามตอนบนระหว่างวันที่ 21-22 ก.ค. ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและเคลื่อนตัวผ่านลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
ผลกระทบและความเสียหายจากพายุ "วิภา"
มณฑลทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้ง ทางการจีนต้องระงับการให้บริการของท่าเรือเซินเจิ้น ขณะที่หน่วยดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยของเมืองเซินเจิ้น จัดเตรียมกำลังพลและอุปกรณ์ที่จำเป็น เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ฮ่องกง ยกระดับเตือนภัยสูงสุดระดับ 10 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เที่ยวบินกว่า 500 เที่ยวถูกยกเลิก เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2568
เวียดนาม คาดการณ์ว่าพายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเวียดนามตอนบน นายกรัฐมนตรีสั่งด่วนจังหวัดชายฝั่งเตรียมพร้อมฉุกเฉินเรียกเรือกลับเข้าจอดเทียบฝั่ง อพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมเสบียงและอุปกรณ์กู้ภัย และรักษาความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร
ลาวและไทย พายุจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ
ผลกระทบในประเทศไทย ในช่วงวันที่ 20-24 ก.ค. ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
มาตรการรับมือของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประชุมด่วนกับ 22 จังหวัดเสี่ยง เพื่อเตรียมรับมือพายุ "วิภา"
แจ้งเตือนล่วงหน้า กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยต่อเนื่อง ขณะที่ ปภ. ประสานค่ายมือถือ เพื่อส่ง SMS/Cell Broadcast แจ้งเตือนประชาชนใน 22 จังหวัดเสี่ยง ได้แก่ น่าน พะเยา เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี จันทบุรี และตราด
เตรียมพร้อมปฏิบัติการ ปภ. จัดตั้ง War Room ติดตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ และเตรียมกำลังพล อุปกรณ์ช่วยเหลือล่วงหน้า รวมถึงประสานเฮลิคอปเตอร์ KA-32 และทีม "The Guardian Team" จากกองทัพบก ประจำการที่เชียงใหม่ เพื่อภารกิจค้นหาและช่วยเหลือในพื้นที่เข้าถึงยาก นอกจากนี้ยังสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง จัดทีมเผชิญเหตุ เตรียมพื้นที่อพยพ ศูนย์พักพิง และเร่งช่วยเหลือ ฟื้นฟูหลังภัยคลี่คลาย
คำแนะนำประชาชน เน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำหรือเชิงเขา เตรียมอพยพ ย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง เคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางหากจำเป็น และติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด
สถานการณ์ภัยพิบัติในภูมิภาคอื่น ๆ
ในขณะนี้เดียวกันหลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน
เกาหลีใต้: กำลังเผชิญกับอุทกภัยรุนแรงกว่า 5 วันแล้ว โดยเฉพาะใน จ.คยองกี และเขตคาพยอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย ที่ได้รับผลกระทบหนักจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ ประชาชนกว่า 13,400 คน ต้องอพยพ และเที่ยวบิน 62 เที่ยวถูกยกเลิก
สหรัฐอเมริกา รัฐเท็กซัส: เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ยานพาหนะ และทรัพย์สินจำนวนมาก โดยเฉพาะในเคอร์ เคาน์ตี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
เรียบเรียง : ศศิมาภรณ์ สุขประสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แหล่งข้อมูล :
กรมอุตุนิยมวิทยา , กรมประชาสัมพันธ์
อ่านข่าว :
อัปเดต "พายุวิภา" ไทยฝนตกหนักหลายพื้นที่ อุตุฯ เปิดวอร์รูม 24 ชม.
"เขื่อนเจ้าพระยา" เร่งระบายน้ำ รับมวลน้ำเหนือจากพายุวิภา
เร่งกู้ภัยน้ำท่วมหนักเกาหลีใต้ เสียชีวิตเพิ่มเป็น 17 สูญหาย 11 คน