กสทช.เตรียมเปลี่ยนผ่านทีวีระบบอนาล็อค เข้าสู่ระบบดิจิตอล

เศรษฐกิจ
11 พ.ย. 55
14:22
76
Logo Thai PBS
 กสทช.เตรียมเปลี่ยนผ่านทีวีระบบอนาล็อค เข้าสู่ระบบดิจิตอล

ปีหน้า กสทช.เตรียมเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลช่องรายการทีวีดิจิตอลกว่า 20 ช่อง ซึ่ง กสทช.คาดว่า ราคาประมูลจะไม่สูงมากเหมือนการประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี แต่จะทำให้ประชาชนได้รับชมรายการที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งสัญญาณภาพคมชัดมากกว่าปัจจุบัน

กสทช.กำหนดให้ปี 2558 เริ่มแผนเปลี่ยนผ่านการยุติสัญญาณการแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบอนาล็อค ที่ใช้เสาก้างปลา หรือ หนวดกุ้ง ก้าวไปสู่ระบบดิจิตอล เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่พัฒนา และเพิ่มประสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ แต่กว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านเต็มรูปแบบก็คาดจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 8 ปี

แต่ระหว่างนี้ กสทช.ได้แบ่งประเภท ทีวีดิจิตอลที่เป็นช่องฟรีทีวีได้ 48 ช่อง จากปัจจุบันที่มีเพียง 6 ช่อง แยกโครงสร้างในการประกอบกิจการ ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ บริการชุมชน, สาธารณะ และธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขัน ลดการผูกขาดผู้ประกอบการรายใหญ่ และเพิ่มพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยช่องบริการสาธารณะ กสทช.กำหนดให้มี 12 ช่อง แต่จะสรุปหลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะเริ่มจัดสรรได้ในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า

ส่วนช่องธุรกิจ มีมากที่สุด 20 ช่อง และกำหนดให้แข่งประมูลเท่านั้น ซึ่งรูปแบบ และราคาตั้งต้นการประมูล จะสรุปในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และจะเริ่มประมูลในเดือนถัดไป โดยสาเหตุที่ต้องประมูลช่องทีวีดิจิตอล ก็เพื่อนำรายได้ไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์

ขณะที่หลายประเทศก้าวเข้าสู่ระบบทีวีดิจิตอลแล้ว แต่ไทยเพิ่งเริ่มดำเนินการ โดยจ้าง 2 หน่วยงาน ศึกษา คือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เพื่อดูภาพรวมการเปลี่ยนผ่าน และกติกาสากล โดยมี ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้นแบบ เพราะมีระบบการให้สัมปทานมาก่อนเปลียนไปสู่การประมูล

อีกหน่วย คือ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กสทช.ว่าจ้างในงบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศมาร่วมด้วย ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับที่ศึกษามูลค่าคลื่นความถี่ และราคาตั้งต้นการประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี พร้อมเห็นว่าราคาประมูลไม่ควรสูงมากเกินไป

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ทีวีดิจิตอล 48 ช่อง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และแข่งขันในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก โดยมิติของการลงทุน จะเอื้อประโยชนต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ จากฝั่งฟรีทีวีกลุ่มเดิม ที่ต้องการรักษาตลาด รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ขนาดใหญ่ เช่น True, แกรมมี่ และ อาร์เอส ที่ต้องการขยายฐานลูกค้า ขณะเดียวกันยังเห็นว่า จะมีครัวเรือนที่รับชมช่องดิจิตอล ตามเมืองใหญ่มากถึงร้อยละ 80% และทำให้ มียอดขายกล่องรับสัญญาณ หรือ Set-top box หรือการซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ ที่รองรับระบบนี้ เพิ่มขึ้นรวมกัน กว่า 7 ล้านเครื่อง

แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบภาคพื้นดิน ไปสู่ดิจิตอลทีวี เนื่องจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ แจ้งเตือนว่า จะยกเลิกการผลิตอุปกรณ์การแพร่ภาพและรับชมโทรทัศน์ในระบบอนาล็อค ซึ่งหากไทยไม่เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ก็จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับอุปกรณ์การใช้งานภายในเวลา 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ หากการเปลี่ยนผ่านล่าช้า ยังส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาปีละ 60,000 ล้านบาท กระจุกตัวอยู่แค่ช่องฟรีทีวีเหมือนเดิม


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง