ความรุนแรงกับเนื้อหาทางเพศในหนังบอลลีวูด

Logo Thai PBS
ความรุนแรงกับเนื้อหาทางเพศในหนังบอลลีวูด

นอกจากผลิตผลงานมาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ภาพยนตร์อินเดียยังมีอิทธิิพลไม่น้อยต่อหนุ่มสาวที่นิยมเลียนแบบเรื่องราวในหนัง จนวิจารณ์กันว่าเเนื้อหาที่รุนแรงในภาพยนตร์มีผลต่อการก่ออาชญากรรมในอินเดียที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น

เดอะ ไดร์ทีย์ พิกเจอร์ (The Dirty Picture) หนังบอลลีวูดถ่ายทอดชีวประวัติของ ซิลค์ สมิธา อดีตเด็กสาวฐานะยากจนจากแคว้นทางตอนใต้ในอินเดีย ผู้กลายมาเป็นดาวเด่นในวงการภาพยนตร์ จากลีลาเต้นรำที่แสนเย้ายวนในบทดาวยั่วแห่งยุค ก่อนจบชีวิตอย่างน่าเศร้าด้วยการฆ่าตัวตายในวัยเพียง 35 ปี ซึ่งผลงานย้อนรอยชีวิตของเธอเรื่องนี้ประสบความสำเร็จทางรายได้ และคว้ารางวัลมากมายตลอดปี 2012 แต่สิ่งที่ตามมาคือเสียงวิจารณ์ที่ใช้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศในหนัง หลังสังคมอินเดียกำลังตกอยู่ในความโกรธแค้นกับเหตุการณ์ขืนใจนักศึกษาสาวบนรถเมล์ โดยโจมตีว่าฉากวาบหวิวในหนังมีส่วนกระตุ้นความรุนแรงทางเพศในอินเดีย

ผลผลิตจากบอลลีวูดจำนวนมากในแต่ละปี ส่งให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่นี่ติดอันดับ 1 ของโลก และยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของหนุ่มสาวที่มักเลียนแบบจากภาพยนตร์ ทั้งการแต่งตัว บทสนทนา หรือ การเกี้ยวพาราสี แต่หนังกว่าพันเรื่องส่วนใหญ่เป็นหนังรักประโลมโลก ที่จำกัดบทบาทผู้หญิงไว้เพียง 2 แบบ คือ ใสซื่อบริสุทธิ์ กับสาวนักเต้นนุ่งน้อยห่มน้อย มักถูกใจแฟนหนังหนุ่มๆ บ่อยครั้งที่หนังเพิ่มบทเต้นเย้ายวนทั้งที่ไม่จำเป็น และแฟนหนังไม่น้อยที่นำภาพจำจากภาพยนตร์ที่พระเอกที่ชนะใจหญิงสาวด้วยวิธีการหยาบโลนมาใช้ในชีวิตจริง

อนูปามา โชปรา นักวิจารณ์ภาพยนตร์หญิงชื่อดังของอินเดีย ยอมรับว่าแต่เดิมภาพลักษณ์ของสตรีอินเดียถูกยกเอาไว้สูงส่ง ทั้งภาพลักษณ์ของแม่พระใจบุญในเรื่อง มาเธอร์ อินเดีย (Mother India) หรือ ธรณีกรรแสง เรื่องราวของแม่ผู้ต่อสู้กับเจ้าหนี้หน้าเลือดเพื่อปกป้องลูกชาย หรือบทของวีรสตรีที่รักษาพรหมจรรย์จนถึงวันแต่งงาน แต่วันนี้บทบาทของสตรีมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งเธอยอมรับว่าสำหรับชาวอินเดียแล้วภาพยนตร์ไม่ต่างจากศาสนา แต่ภาพยนตร์ไม่ใช่เหตุผลหลักที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมกับผู้หญิง

เหตุผลของเธอได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรในบอลลีวูด ทั้ง ปริยังกา โชปรา นางเอกแนวหน้าของอินเดีย ที่บอกว่าหนังเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่เครื่องมือตัดสินความดี-เลวของคน ไม่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวตามหนังอย่างไร ผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์ไปล่วงเกิน ส่วน คาบี คาห์น ผู้กำกับภาพยนตร์ดัง กล่าวว่าความรุนแรง เช่นการฆ่าทารก และสตรีไม่เคยถูกถ่ายทอดในหนัง แต่กลับพบอย่างแพร่หลายในอินเดีย จึงเห็นว่าการให้คุณค่าของสตรีในสังคมอินเดียคือการแก้ปัญหาที่สำคัญกว่า

ขณะที่ความเห็นของแฟนหนังมองว่านักแสดงหญิงในวงการภาพยนตร์ได้รับโอกาสที่ผู้หญิงอินเดียทั่วไปไม่ได้รับ ในการสร้างภาพสตรีอินเดียให้ดูมีศักดิ์ศรีไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของเพศชาย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของสื่อเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกทางหนึ่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง