สภาอุตฯ เผยผลสำรวจค่าแรง 300 ดันค่าจ้าง ปวช.ปวส.เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจ
24 มี.ค. 56
14:06
119
Logo Thai PBS
สภาอุตฯ เผยผลสำรวจค่าแรง 300 ดันค่าจ้าง ปวช.ปวส.เพิ่มขึ้น

จากการสำรวจพบว่าการปรับจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับค่าจ้างระดับ ปวช.-ปวส.สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะที่ค่าแรงในประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มสูงขึ้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่าเป็นสัณญาณให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการประจำปี 2555/2556 จากการรวบรวมข้อมูลกว่า 343 บริษัท พบว่า ค่าจ้างต่อเดือนระดับวุฒิการศึกษา ปวช.ที่ไม่มีประสบการณ์อยู่ที่ 8,934 บาท ปวส. 9,718 บาทปริญญาตรี 12,863 บาท

โดยสาขาวิชาที่ได้รับค่าจ้างที่สุดสำหรับวุฒิ ปวช.และ ปวส. ได้แก่ สาขาวิชาชีพ คหกรรมศาสตร์ ส่วนระดับปริญญาตรี ยังคงเป็นสาขาวิศวกรรม และพื้นที่กรุงเทพ จ่ายค่าจ้างระดับ ปวช.และ ปวส.มากที่สุด แต่ระดับปริญญาตรี เป็นพื้นที่ภาคตะวันออก

ซึ่งมีข้อสังเกตคือ หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำให้สัดส่วนค่าจ้างระดับปริญญาตรี ได้รับการปรับขึ้นเพียงร้อยละ 4.55 ต่ำกว่าระดับ ปวส. และ ปวช.ที่ปรับขึ้นกว่า ร้อยละ 20

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของไทย พบว่าเทียบเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำของอินโดนีเซีย 2 คน ลาว 3 คน เวียดนาม 4 คน กัมพูชา 5 คน และพม่า 6 คน ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะต้องปรับตัวอย่างหนัก และอาจต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียจะปรับขึ้นค่าจ้างสูงกว่าไทย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนการจ่ายโบนัสในปี 2555 ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจ่ายเฉลี่ย 2.28 เดือน กลุ่มที่จ่ายสูงสุดคือ ชิ้นส่วนและอะไหล่จ่าย 8 เดือน รองลงมาได้แก่กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์, พลังงาน, เคมี, เซรามิค และกลุ่มการค้าบริการ จ่ายโบนัสที่ 6 เดือนเท่ากัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง