เส้นทางสู่เวทีโลกของนักบัลเลต์ไทย

Logo Thai PBS
เส้นทางสู่เวทีโลกของนักบัลเลต์ไทย

ท่าทางการเต้นที่สง่างามอาจทำให้หลายคนฝันอยากเป็นนักบัลเลต์ แต่ใช่ว่าทุกคนจะเดินตามฝันได้สำเร็จ แต่ก็มีผู้หญิงไทยคนหนึ่งค่ะที่รักการเต้น และมุ่งมั่นฝึกซ้อมวันละ 8 ชั่วโมงมานานกว่า 10 ปี จนสานฝันสำเร็จ และได้เข้าร่วมคณะบัลเลต์ระดับโลก

โศกนาฏกรรมความรักเรื่อง “โรมิโอแอนด์จูเลียต” นำกลับมาแสดงอีกครั้งผ่านการเต้นบัลเลต์ร่วมสมัย โดยคณะแกรนด์ บัลเลต์ เด เจนีฟ์ ในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 15 ท่วงท่าที่บอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของจูเลียตถ่ายทอดโดย “ศรวณีย์ ธนะธนิต” นักบัลเลต์สายเลือดไทยคนแรกที่ได้รับบทนำในคณะบัลเลต์ชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์ และถูกเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งใน 25 นักเต้นที่น่าจับตามองที่สุดของโลกในปี 2551 เส้นทางสู่ฝันของศรวณีย์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อจากการทุ่มเทฝึกซ้อมกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละวัน ติดต่อกันมาถึง 12 ปี แต่การได้ชื่อว่าเป็นนักบัลเลต์มืออาชีพ และการได้โลดแล่นอยู่บนเวที ก็ทำให้ศรวณีย์ มีกำลังใจในการฟันฝ่าอุปสรรค

ศรวณีย์เริ่มเต้นบัลเลต์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ก่อนผันตัวไปเป็นนักกีฬายิมนาสติกลีลา แต่สุดท้ายเธอก็เลือกสานฝันในการเป็นนักบัลเลต์ตอนอายุ 18 ปี และคว้ารางวัลจากการประกวดหลายเวทีทั่วโลก รวมถึงรายการ ปรี เดอ โลซานน์ ในปี 2546 ที่ทำให้ศรวณีย์ได้เข้าร่วมคณะอเมริกัน บัลเลต์ สตูดิโอ นิวยอร์ค ก่อนจะย้ายมาคณะแกรนด์ บัลเลต์ เด เจนีฟ์ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเธอได้รับบทนำเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว จากบท Giselle กว่าครึ่งชีวิตที่ทุ่มเทให้กับการเต้นในต่างแดน ศรวณีย์เห็นว่านักบัลเลต์ไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก ขาดแต่เพียงโอกาสและการสนับสนุนอย่างจริงจัง

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้ไปวาดลวดลายบนเวทีโลกในฐานะนักบัลเลต์มืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น “ณัฐนรี พิพิธสุขสันต์” ที่เข้าร่วมคณะซาน โฮเซ่ บัลเลต์ ในอเมริกา หรือ “พรพิมพ์ กาไชย” จากคณะซูริค บัลเล่ต์ สวิตเซอร์แลนด์ การรู้จักปรับตัว และมีวินัยในการฝึกซ้อม คือเคล็ดลับที่ศรวณีย์ยึดปฎิบัติมาตลอดระยะเวลาที่ทำงานกับคณะต่างชาติ โดยเธอตั้งใจจะเป็นนักเต้นบัลเลต์ไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว และจะกลับมาพัฒนาวงการบัลเลต์ไทยต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง