5 พื้นที่เสี่ยงสัตว์ป่าถูกรถชนอยู่ที่ไหนบ้าง?

สิ่งแวดล้อม
23 ธ.ค. 60
08:14
2,117
Logo Thai PBS
5 พื้นที่เสี่ยงสัตว์ป่าถูกรถชนอยู่ที่ไหนบ้าง?
เตือน 5 พื้นที่เสี่ยงสัตว์ป่าถูกรถชน เขาใหญ่,เขาแผงม้า ,เขาอ่างฤาไน ,กุยบุรี และแก่งกระจาน กรมอุทยานฯ กำชับเจ้าหน้าเพิ่มความเข้มงวด คุมเข้มขับรถเร็ว ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่

จากกรณี แมวดาว สัตว์ป่าหายากถูกรถชนตายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็น และเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวขับรถอย่างระมัดระวัง ไม่ใช้ความเร็วในพื้นที่อุทยาน

 

 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้สั่งการให้หัวหน้าอุทยานฯ ทุกแห่ง เพิ่มมาตรการดูแลพื้นที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อลดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์ป่า เช่น ติดป้ายเตือน ห้ามขับรถเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตั้งด่านตรวจบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับและดำเนินคดี

สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้แก่

1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และเดินทางสะดวก อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ ซึ่งสัตว์ป่า เช่น ลิง เก้ง กวาง แมวดาว เสี่ยงถูกรถชน

2.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าจำนวนมาก

3.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขีนธ์ พบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่

4.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ที่พบช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่ของชาวบ้าน

และ 5.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาแผงม้า พบกระทิงออกมาหากินผลผลิตทางการเกษตร

 

 

ชี้มาตรการ “4 ม. บวก 1” สัตว์ตายลดลง 20%

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า ทางอุทยานฯ ได้รณรงค์ลดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการ “4 ม. บวก 1” ได้แก่ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดังเกินควร และไม่นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยในพื้นที่ เนื่องจากเกิดผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อตัวสัตว์ การรณรงค์ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่าถึงแม้จะยังมีสัตว์ป่าตายอยู่แต่จำนวนจะลดลงร้อยละ 20 ต่อปี จากปีแรกๆ ที่ตาย 20 ตัวต่อปี ลดเหลือ 2-3 ตัวต่อปี สิ่งสำคัญคือประชาชนมีจิตสำนึกเพิ่มขึ้น รับผิดชอบและช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกรถชน หรือสัตว์วิ่งตัดหน้ารถ

“ในอดีตเราเห็นซากสัตว์ป่าตายจำนวนมาก แต่ขณะนี้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ นักท่องเที่ยวจะจอดรถ อุ้มสัตว์ หรือโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ”

 

ภาพ : change.org

ภาพ : change.org

ภาพ : change.org

 

change.org ล่ารายชื่อปิดถนนเขาใหญ่กลางคืน

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มองว่า สื่อสังคมออนไลน์มีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มความตระหนักในการอนุรักษ์ เช่น การแชร์ภาพสัตว์ป่าได้รับบาดเจ็บ อย่างกรณีลูกลิงดูดนมแม่ โดยไม่รู้ว่าแม่ถูกรถชนตายแล้ว สร้างความสะเทือนใจกับผู้พบเห็น และร่วมรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวขับขี่อย่างระมัดระวัง แต่ตนก็ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

“สถิติสัตว์ตายลดลง จิตสำนึกของคนเพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญต่อจากนี้ คือ อุบัติเหตุ แต่ต้องดูว่าเกิดจากอะไร เช่น เสียงดังและทำให้สัตว์ตกใจ วิ่งออกไปยังพื้นที่โล่ง หรือถนน ก็ต้องไปแก้ไขในจุดนี้ เราไม่ได้มองว่าสัตว์ป่าหายไปตัวหนึ่ง แล้วยังมีอีกหลายตัว แต่สัตว์ป่าที่ตายไป คือการหายไปของหนึ่งพันธุกรรมที่สำคัญมาก เป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้”

ขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จัดแคมเปญรณรงค์หัวข้อ ปิดถนนขึ้นเขาใหญ่ช่วงกลางคืน เพื่อลดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่า ผ่าน www.change.org เพื่อร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ล่าสุด วันนี้ (23 ธ.ค.2560) เวลา 09.40 น. มีผู้ร่วมสนับสนุนแคมเปญ 9,750 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอมรับหาคนผิดขับรถชน "แมวดาว" ตายบนเขาใหญ่ยาก

อุทยานฯ เขาใหญ่วอนนักท่องเที่ยวทำตามกฎ หลังรถชนแม่ลิงตาย-ลูกร้องกอดซากไม่ห่าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง