ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปรับแผนระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่รับฝนก่อน 5 ส.ค.นี้

ภัยพิบัติ
3 ส.ค. 61
10:41
3,062
Logo Thai PBS
ปรับแผนระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่รับฝนก่อน 5 ส.ค.นี้
สทนช.สั่งปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง "วชิราลงกรณ -น้ำอูน-แก่งกระจาน" หลังปริมาณน้ำเข้าระดับวิกฤต 90-100% เร่งรับมือฝนระลอกใหม่ก่อน 5 ส.ค.นี้ ขณะที่น้ำโขง คาดอีก 2 วัน 4 จังหวัดน้ำล้นตลิ่ง

วันนี้ (3 ส.ค.2561) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.เปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ร่วมกับ 9 หน่วยงานอย่างเป็นทางการวันแรกที่กรม ชล ประทาน โดยระบุว่าสถานการณ์น้ำตอนนี้ได้มีการปรับแผนการระบายในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปัญหาน้ำเกิน 90-100% โดยการเตรียมพร่องน้ำออกให้อยู่ในระดับสมดุล และบางเขื่อนการระบายอาจจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมน้ำต้องมีการแจ้งเตือน ซึ่งทั้งหมดตัวเลขการปรับแผนต้องส่งภายในวันที่ 6 ส.ค.นี้ เพื่อกำหนดแผนปลายน้ำ และถ้าปรับแผนแล้วจะกระทบใคร

ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมชลประทาน และกฟผ.กลับไปปรับปรุงแผนการระบายน้ำใน 3 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปัญหาน้ำเกินร้อยละ 90-100 หลังที่เกิดปริมาณน้ำล้นสปิลเวย์ คือเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ที่เกินระ ดับเก็บกักไว้บริหารจัดการน้ำ โดยมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 525 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) จากปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 520 ล้านลบ.ม. มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินประมาณ 6 เซนติเมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำล้น 1.22 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ได้เร่งระบายน้ำผ่านทางระบบชลประทาน พร้อมติดตั้งกาลักน้ำช่วยในการระบายน้ำ จำนวน 10 ชุด สามารถระบายน้ำได้รวมกันทั้งสิ้น 3.60 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนให้ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม

ขณะที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี น้ำไหลเข้าประมาณ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้ระดับอยู่ที่ร้อยละ 98 ของความจุอ่าง ที่มีขีดความสามารถการระบายน้ำอยู่ที่ 9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงต้องใช้กาลักน้ำเข้ามาช่วยระบายน้ำ

 

เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี การระบายน้ำอาจกระทบริมน้ำและท้ายเขื่อน ที่มีข้อจำกัดของการระบายน้ำ เพราะท้ายเขื่อนมีข้อจำกัดของศักยภาพการรับน้ำได้เพียง 770 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่การปรับแผนใหม่ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนถึง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยให้เร่งระบายน้ำหรือพร่องน้ำออกจากเขื่อนภายใน 10 วัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ที่จะเข้ามาเติม จึงให้ทุกหน่วยงานเร่งทำแผนการระบายน้ำ กำหนดปริมาณที่ไหลออกและพื้นที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจน เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ต้องแล้วเสร็จภายวันที่ 6 ส.ค.นี้

เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยยา ระบุว่า ช่วงวันที่ 3-4 ส.ค.นี้ ฝนจะตกบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีมากขึ้น แต่ศักยภาพการกักเก็บของเขื่อนแก่งกระจาน เต็มอาจเกิดปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน และอาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เพชรบุรี

ดังนั้นจึงต้องทำให้ระดับน้ำเข้ามาสู่การควบคุมให้ได้ และหากการพร่องน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมาก ถ้าน้ำไม่ลง ต้องมีมาตรการเสริม ซึ่งได้พูดคุยกับทาง กฟผ. แล้วตอนนี้ยังมีเวลาอย่างน้อย 4-5 วันในการวางแผนระบายน้ำให้จบ

 

 

ส่วนพื้นที่แถวริมโขง จ.เลย นครพนม อุบลราชธานี คาดว่าอีก 2 วันระดับน้ำโขงจะสูงขึ้น เพราะระดับน้ำไหลเข้าสู่น้ำโขงมากขึ้น ส่วนน้ำจากลาว และจีน ยังไม่ปล่อยน้ำลงมาเพิ่ม แต่ก็ประสานจีนลาวว่ามีการปรับแผนอย่างไรให้ส่งข้อมูลให้กับไทยด้วย เพื่อให้พื้นที่ชุมชนริมโขงทั้งหมดเตรียมรับมือ

นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แถว จ.น่าน และภาคเหนือหลายจังหวัดมีการฝนตกลงมาเพิ่มตอนนี้ดินอุ้มน้ำไว้มากอาจมีปัญหาดินไสลด์มากขึ้นต้องทำระบบเตือนภัยในชุมชนเสี่ยงที่อยู่ใกล้ที่ลาดเชิงเขา

 

 

นายทองเปลว  กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ต้องเตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนเก็บน้ำ กำชับให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำสงครามอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานจังหวัด เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

เปิด "วอร์รูมน้ำ" เฝ้าระวัง 24 ชม.หลังน้ำท่วมไทยแตะสีเหลือง

เช็กเส้นทาง “เสี่ยง” ระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง