ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คาดการณ์ทูลเกล้าฯ รายชื่อ ส.ว. วันนี้

การเมือง
10 พ.ค. 62
07:21
3,307
Logo Thai PBS
คาดการณ์ทูลเกล้าฯ รายชื่อ ส.ว. วันนี้
สนช.ยื่นหนังสือลาออก ถึงสำนักเลขาธิการวุฒิสภา รวม 80 คนแล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรี ตอบรับว่า ได้นำรายชื่อ ส.ว. 250 คนขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อแต่งตั้งตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.62) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. พยักหน้าตอบรับ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้นำรายชื่อ ส.ว. 250 คน ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อแต่งตั้งแล้วหรือไม่ และกล่าวว่า ทุกคนต่างมีหน้าที่ ก่อนขึ้นรถเดินทางกลับ หลังเสร็จสิ้นภารกิจร่วมงานพระราชพิธี วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เปิดเผยว่า ได้ลงนามรับรองหนังสือลาออกของสมาชิก สนช. แล้ว จำนวน 10 คน ทำให้การลาออกมีผลโดยสมบูรณ์ พร้อมระบุว่า มีสมาชิก สนช.บางคน ยื่นหนังสือลาออกโดยตรงต่อประธาน สนช. ด้วย ซึ่งตามขั้นตอนก็ถือเป็นการลาออกโดยสมบูรณ์เช่นกัน มีรายงานว่า สมาชิก สนช.ที่ยื่นหนังสือลาออก ขณะนี้มีจำนวน 80 คนแล้ว โดยก่อนหน้านี้มีกระแสว่า จะมีสมาชิก สนช.ไปเป็น ส.ว. ประมาณ 90 คน

การลาออกจากตำแหน่งของ คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรวมกันเกือบ 100 คน เพื่อไปรับตำแหน่งวุฒิสมาชิก ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเชื่อมโยงระหว่าง คสช.กับวุฒิสภา เพื่อสืบทอดอำนาจ ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ก็คือ สายสัมพันธ์ของ ส.ว. กลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับ "พี่น้อง 3 ป." คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์

รายชื่อ ส.ว. 250 คน นายกรัฐมนตรี ตอบรับที่จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อแต่งตั้ง ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อประกาศภายใน 3 วันนับแต่การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ "8 พฤษภาคม 2562" วุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือกลไกหลักที่ คสช.วางให้เป็นดุลอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องทำงานคู่ขนานกันไปด้วย เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ

ด้วยเหตุผลนี้ คสช.จึงเลือกบุคคลคนใกล้ชิด เครือญาติ หรือผู้ที่เคยร่วมงาน เป็น ส.ว.โดยเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดี กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถูกตั้งข้อสังเกตถึงคุณสมบัติพิเศษและภารกิจเฉพาะ ซึ่งภารกิจแรก คือการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทันทีที่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายร่วมสายเลือดของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาชี้แจงเหตุผลการลาออกจาก สนช. เพื่อไปเป็น ส.ว. ก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เหตุเพราะขาดประชุม สนช.แบบนับครั้งไม่ถ้วน สวนทางกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ย้ำถึงการแต่งตั้งว่า เน้นประสบการณ์ เพื่อสานงานต่อ

 

 

สำหรับ ส.ว.ที่ต้องเป็นโดยตำแหน่ง 6 คนแล้ว สมาชิก คสช.ที่ร่วมกันยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ต่างก็ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. นอกจากรัฐมนตรี 15 คน ที่ลาออกก่อนหน้านั้น ก็มีบุคคลใกล้ชิดที่ร่วมงานกับ คสช. มาตลอด 5 ปีได้รับเลือกเช่นกัน โดยเฉพาะศาสตราจารย์พรเพชร วิชิตชลชัย ที่เคยเป็นประธาน สนช. ก็ถูกวางตัวเป็นประธาน ส.ว. หรือ แม้แต่เพื่อนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ที่เป็นทั้งอดีต สปท. และ สนช. ส่วนหนึ่งก็ปรับบทบาทเป็น ส.ว.ด้วย

ไม่ต่างจากเครือญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเข้ามานั่งในสภาสูงนี้ ทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร 2 พี่น้องตระกูล"วงษ์สุวรรณ" ขณะที่คนใกล้ชิด หรือเพื่อนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 ของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่เคยเป็น สนช. ก็รับหน้าที่ใหม่ เป็น ส.ว.เช่นกัน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง