วันนี้ (8 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วรายงานเข้าสู่ระบบทั่วโลกจะมีอัตราการเพิ่มขึ้น ตั้งแต่มีผู้ป่วยได้ 1 ล้านคน อัตราการเพิ่มขึ้นจะเป็น 1 ล้านคนทุก 12 วัน
เพิ่มเป็น 2 ล้านคน 3 ล้านคนและจะเป็น 4 ล้านคนภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของทั่วโลกที่เป็นแบบนี้เปรียบเสมือนลดน้อยลง ไม่ได้เพิ่มแบบก้าวกระโดด
ในอนาคตถ้าควบคุมได้แบบนี้ก็จะมีแนวโน้มลดลง สิ่งที่เป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ การระบาดเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาในอเมริกาใต้และแอฟริการวมทั้งอินเดียที่จะทำให้เกิดการก้าวกระโดดและจะมีตัวเลขที่ไม่ได้รายงานอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ตัวเลขที่เห็น ขอยกตัวอย่างเช่น มหานครนิวยอร์ก มีการศึกษาทาง Serology มีผู้ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 20% แสดงว่ามีผู้ป่วยที่รายงานเป็น 1 ใน 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อเท่านั้น เช่นเดียวกันกับอีกหลายที่โดยเฉพาะในยุโรป ตัวเลขที่รายงานจำนวนผู้ป่วยจะต่ำกว่าจำนวนที่ติดเชื้อจริงอย่างมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะให้อยู่ที่บ้าน นอกจากมีอาการมากจึงจะรับมารักษาที่โรงพยาบาล มีผู้ป่วยจำนวนมากถึงมีอาการ ก็ไม่ได้รับการวินิจฉัย เพราะนอนอยู่ที่บ้าน
ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในไทย รักษา รพ.ลดอัตราเสียชีวิต
ประชากรไทยค่อนข้างโชคดีเพราะผู้ติดเชื้อทุกคน ได้รับการดูแลอย่างดีในโรงพยาบาลไม่ใช่ให้นอนที่บ้าน ภาพรวมของผู้เสียชีวิตในประเทศไทย จึงค่อนข้างต่ำกว่าประเทศทางตะวันตก ในความเป็นจริงอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ ถ้าถูกนับรวมทั้งหมด รวมผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านของประเทศทางตะวันตกแล้ว น่าจะต่ำกว่าตัวเลขที่ทางตะวันตกรายงานเป็นทางการ
นอกจากนี้ จะเห็นว่าทางตะวันตกไม่ว่ายุโรปหรืออเมริกา อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างสูงมากเช่นใน อังกฤษ อิตาลีและสเปน อยู่ที่ประมาณ 10% ในอเมริกาเองตัวเลขอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 6% มากกว่าการเสียชีวิตในสงครามเวียดนามที่รบกันนานกว่า 10 ปี
หมอยงแนะคุมเข้มลดผู้ป่วย คาด 1 ปี กลับมาใช้ชีวิตปกติ
ประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตขณะนี้อยู่ที่ 1.8% นับว่าต่ำกว่าประเทศทางตะวันตกทั้งที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีมากเพราะเกิดจากที่ทุกคนช่วยกัน สิ่งที่สำคัญนับแต่นี้ไปไทยต้องปรับตัวให้สมดุลในการดำรงชีวิต
ถ้ามีการแบ่งปันและประคับประคองไม่ให้มีผู้ป่วยเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ รอเวลาให้วิกฤตผ่านพ้นไปน่าจะใช้เวลา 1 ปี เราก็จะมียารักษาที่ดีขึ้นมีวัคซีนในการป้องกัน ก็จะกลับคืนมาสู่ชีวิตที่ปกติเหมือนเดิม
