วันนี้ (2 พ.ย.2563) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ให้กับทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา
คาดว่า ทางสลค.เสนอ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ นี้ และเมื่อเข้าสภาแล้วจะใช้เวลาพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร 60 วัน และวุฒิสภาอีก 30 วัน
สำหรับร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ผ่านการตรวจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติ
โดยยังคงหลักการตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้เป็นกฎหมายธรรมดา
สาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ....คือ การออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ครม. ขอให้มีการออกเสียง ในเรื่องที่จะต้องตัดสินเพื่อให้มีข้อยุติ
เรื่องนั้นๆ ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใด และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตัดประเด็นเรื่องที่ครม.ขอคำปรึกษาหรือรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำประชามติ จากเดิมที่ครม.ให้ความเห็นชอบออกไป ทั้งนี้เพราะเห็นว่า การปรึกษาหารือสามารถทำได้ในช่องทางอื่น
นอกจากนี้ ยังให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญกำหนด ในราชกิจจานุเบกษา
การออกเสียงให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยตรงและลับ การออกเสียงจะถือว่ายุติก็ต่อเมื่อมีผู้ออกเสียง เป็นจำนวนเสียงข้างมาก และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
และให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ ในเรื่องจัดทำประชามติ ต้องดำเนินการให้ข้อมูลการจัดทำประชามติ แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันออกเสียง ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียง เช่น ต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
สำหรับบทลงโทษของหากผู้ฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีความผิดและบทกำหนดโทษ เช่น กำหนดโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ไม่เกิน 5 ปี และกรณีศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดตามฐานความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ และเป็นผู้กระทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริต ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการออกเสียงในหน่วยนั้นด้วย